กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Orgainzation for Migration : IOM) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการการสรรหาและจ้างงานอย่างมีจริยธรรมของภาคธุรกิจในประเทศไทย บนพื้นฐานของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ( Progress of the Adoption of Ethical Recruitment and Employment Practices by Businesses in Thailand Based on the National Action Plan on Business and Human Rights )
ผ่านการประชุมออนไลน์ระบบ Application Zoom โดย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ ร่วมกับ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงแรงงาน Ms. Gita Sabharwal ,UN Resident Coordinator ประจำประเทศไทย Ms. Géraldine Ansart หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย และ Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
นอกจากนี้ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบหมายให้ นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “แนวโน้ม การหารือ และความก้าวหน้าของประเทศไทยในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฯ ด้านแรงงาน” (National Trends, Dialogue and Progress on the Implementation of the NAP’ s Action Plan on Labour) โดยได้กล่าวถึงพัฒนาการเด่นในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ในประเด็นด้านแรงงาน ทั้งในส่วนการดำเนินงานของของภาครัฐ และภาคธุรกิจ รวมถึงข้อท้าทายในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ในช่วงโควิด-19 และแผนการดำเนินงานในอนาคต
ทั้งนี้ การประชุมฯ ดังกล่าวจะเป็นเวทีให้ภาคธุรกิจหารือเรื่องการส่งเสริมธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสรรหาแรงงานและการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างมีจริยธรรม รับทราบถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการสรรหาและจัดจ้างแรงงานอย่างมีจริยธรรมของหน่วยงานอื่น หารือเกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้นในตลาด ตลอดจนพิจารณาให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและการสนับสนุนที่ภาคธุรกิจต้องการจากผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้ธุรกิจมีความยึดมั่นและปฏิบัติตามมาตรฐานการสรรหา และจัดจ้างแรงงานได้ดียิ่งขึ้นตามที่ระบุไว้ในเสาหลักที่ 2 ของแผนปฏิบัติการฯ ด้านแรงงาน ต่อไป