ดูเหมือนว่า “Sustainability” หรือ “ความยั่งยืน” จะไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่เป็นคำสำคัญสำหรับธุรกิจยุคนี้ไปแล้ว โดยหลายแบรนด์มีการหยิบความยั่งยืนมาเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้สังคมและสิ่งแวดล้อม “ยูนิโคล่” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่หันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยมีการแต่งตั้ง “โดราเอมอน” เป็น Brand Ambassador เพื่อสื่อถึงความยั่งยืน ทั้งยังมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือ 0% ภายในปี 2593 และลดปริมาณการใช้พลาสติกให้ได้ 85% หรือประมาณ 7,800 ตัน
ดังนั้น เพื่อให้เป้าหมายนี้เป็นจริงขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่ยูนิโคล่ทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือ การพัฒนากระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั้งการลดปริมาณการใช้น้ำลง การรีไซเคิลนำเสื้อผ้าตัวเก่ามาแปลงโฉมให้กลายเป็นเสื้อใหม่ รวมทั้งยังลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ทั้งยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกที่ร้านค้า และเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์มาเป็นถุงกระดาษที่ทำจากรีไซเคิลแทน มาปีนี้ ยูนิโคล่ ได้ร่วมกับ มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF) เพื่อนำเงินจากการจำหน่ายถุงกระดาษ มาต่อยอดงานวิจัยด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
ความยั่งยืน เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
แม้ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตจากพลาสติกจะเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิตของเรามากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลาสติกเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล เพราะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนาน และหากกำจัดผิดวิธีก็จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและโลกตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน และคร่าชีวิตสัตว์ทะเล
คุณเขมจิรา เทศประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) บอกว่า ปัจจุบันปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเลยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดการณ์ว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร ทำให้เพิ่มปริมาณขยะในทะเลที่มีอยู่แล้วราว 150 ตัน และประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งขยะที่พบมากที่สุดในทะเลไทยคือ พลาสติก คิดเป็นสัดส่วนถึง 24% ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการคร่าชีวิตเหล่าสิ่งมีชีวิตในทะเลไปไม่น้อย หากไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง ปริมาณขยะในทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ยูนิโคล่ตระหนักและเริ่มเอาจริงเอาจังต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เริ่มจากการรณรงค์ให้ลูกค้าหันมาใช้ถุงผ้า Eco Bag แทนถุงพลาสติกตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 เพื่อลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในร้าน และในปี 2563 ได้งดให้บริการถุงพลาสติกสำหรับใส่สินค้า โดยเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษที่มาจากกระดาษรีไซเคิล และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำหน่ายราคาใบละ 2 บาท เพื่อนำเงินจากการจำหน่ายส่วนหนึ่งไปบริจาคให้แก่มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF) ซึ่งผ่านมากว่า 1 ปี คุณเขมจิรา บอกว่า สามารถรวบรวมเงินจากการจำหน่ายถุงกระดาษได้เป็นจำนวน 1 ล้านบาท
Uniqlo x WARF เป็นมากกว่าการบริจาค
คุณธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์ เลขาธิการ มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย บอกว่า สมัยก่อนคนมักคิดว่าปัญหาสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมมาจากการล่าของนายพราน และการส่งออกไปต่างประเทศ แต่จากการทำวิจัยและทำงานตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ค้นพบว่า จริงๆ แล้วประชาชนทุกคนคือ หนึ่งในนักล่าเช่นกัน
“เวลาเราออกไปช่วยเหลือสัตว์ป่าทั้งสัตว์ทะเลและสัตว์บก เราจะเจอกับพลาสติกเป็นจำนวนมาก ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ไม่ได้มาจากนักล่าที่ไหนเลย แต่มาจากคนทุกคน ทำให้เราเริ่มมองการช่วยเหลือและหยุดยั้งการล่าสัตว์ป่าในอีกแบบหนึ่ง เพราะการจะแก้ปัญหาการอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากการลงมือทำจากส่วนเล็กๆ ก่อน”
สำหรับส่วนเล็กๆ ที่ว่านี้คือ การลดการใช้ถุงพลาสติกเมื่อซื้อของในร้านยูนิโคล่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญและเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย แต่ได้ผลลัพธ์มหึมาในการร่วมรักษาโลก เพราะนอกจากทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะพลาสติกแล้ว ลด CO2 แล้ว ยังเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับโลกอีกด้วย เพราะงานวิจัยล่าสุด สัตว์ป่ามีความสามารถในการปลูกต้นไม้ ปลูกพืชอาหารที่เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้กับโลกอีกด้วย
ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างยูนิโคล่ และ WARF ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่การบริจาคเพื่อใช้ในภารกิจช่วยชีวิตสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการคืนสัตว์สู่ธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งคืนสัตว์สู่ธรรมชาติ คุณธนพัฒน์ บอกว่า ไม่ใช่แค่การปล่อย แต่ต้องมีการฟื้นฟูสภาพและสัญชาตญาณต่างๆ ของสัตว์ด้วย ยกตัวอย่าง โครงการคืนชะนีสู่ป่า ซึ่งใช้เวลาในการค้นคว้าวิจัยนานถึง 5 ปีกว่าจะพบเทคนิคในการปล่อยสัตว์ที่เคยอยู่กับคนสู่ป่า และยังพบว่าชะนีมีส่วนช่วยในการสร้างออกซิเจนให้กับโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินบริจาคตรงนี้จะนำไปสนับสนุนงานวิจัยเหล่านี้ในระยะยาวต่อไป