หนึ่งในยุทธศาสตร์สร้าง New Business ของ “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” หรือ CRG ที่วางไว้ในปีนี้ คือการเปิดโมเดลแฟรนไชส์แบรนด์ดังในกลุ่ม กลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine ประเดิมด้วย “มิสเตอร์ โดนัท-อานตี้ แอนส์” กับการลงทุน “ต่ำล้าน”
เครือข่ายธุรกิจอาหารของ CRG ปัจจุบันมี 16 แบรนด์ รวมกว่า 1,100 สาขา ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ ไก่ทอด KFC, Bakery & Beverage Cuisine, ร้านอาหารญี่ปุ่น และร้านอาหารไทย-จีน
หากโฟกัสในกลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine ซึ่งมีจำนวนสาขาและสร้างรายได้เป็น 1 ใน 4 ของธุรกิจ CRG มี 4 แบรนด์หลัก คือ มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery) และร้านกาแฟ “อาริกาโตะ” (Arigato)
ตลาดเบเกอรี่ 3 หมื่นล้านยังโต
ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาพรวมมูลค่าลดลงราว 10% จากปี 2562 อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท คาดการณ์ปี 2564 แม้ยังมีความไม่แน่นอนจากการระบาดระลอกใหม่ แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการทยอยฉีดวัคซีน ปีนี้มูลค่าธุรกิจอาหารอาจกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 ได้อีกครั้ง
เจาะย่อยลงมาที่เซ็กเมนต์ “เบเกอรี่” นับตั้งแต่ปี 2560-2563 เติบโตมาต่อเนื่องในอัตรา 5-6%
– ปี 2560 มูลค่า 27,400 ล้านบาท
– ปี 2561 มูลค่า 28,120 ล้านบาท
– ปี 2562 มูลค่า 28,964 ล้านบาท
– ปี 2563 มูลค่า 29,978 ล้านบาท
แม้ในปี 2563 ที่ต้องเจอกับโควิด ตลาดรวมเบเกอรี่มีมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ขนมปัง 53% ขนมเค้ก 22% และ ขนมอบ (เช่น พาย ครัวซองต์ คุ้กกี้) 25% ในกลุ่มนี้มีพระเอก “ครัวซองต์” มาช่วยผลักดันสัดส่วนขนมอบให้มีมูลค่ามากขึ้น
ส่วนตลาดกาแฟ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ตลาดรวมกาแฟในไทยคงที่ ไม่ได้เติบโต โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท ที่ได้อานิสงส์จากโควิดคนอยู่บ้าน Work From Home จึงเติบโตราว 10% และตลาดกาแฟนอกบ้าน 27,000 ล้านบาท ลดลง 30-40%
“มิสเตอร์ โดนัท-อานตี้ แอนส์” ขายแฟรนไชส์ “ต่ำล้าน”
จากแนวโน้มตลาดเบเกอรี่ยังเติบโตได้ คุณสุชีพ ธรรมาชีพเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด จึงได้เปิดตัวโมเดล New Business ด้วยการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์
นำร่อง 2 แบรนด์ดัง “มิสเตอร์ โดนัท และ อานตี้ แอนส์” เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มยอดขายให้ CRG และเห็นโอกาสจากผู้สนใจลงทุน ซึ่งในช่วงโควิด หลายอาชีพเริ่มมีปัญหาในการทำงาน มีรายได้ลดลง เช่น สายการบิน ทั้งกัปตัน สจ๊วต แอร์โฮสเตส เป็นกลุ่มที่มีเงินออมอยู่แล้ว ก็เริ่มมองหาอาชีพเสริม หรืออาชีพใหม่
“การเปิดขายแฟรนไชส์ มิสเตอร์ โดนัท จะเริ่มในไตรมาส 3 ส่วน อานตี้ แอนส์ เริ่มในไตรมาส 4 การลงทุนเรียกว่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท น่าจะเป็นราคาที่จูงใจ ดึงคนเข้ามาซื้อแฟรนไซส์ได้ หลังเปิดตัวคาดว่าจะมีผู้สนใจลงทุนกว่า 100 ราย เบื้องต้นอาจเปิดได้ราว 20 รายในปีนี้”
รูปแบบร้านแฟรนไชส์จะมีทุกฟอร์แมท ที่ทั้ง 2 แบรนด์เปิดร้านอยู่ในขณะนี้ ทำเลการเปิดแฟรนไชส์จะมีทั้งที่บริษัทแนะนำให้เปิด และทำเลที่ผู้ลงทุนเสนอมา เช่น ในศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ นอกกลุ่มเซ็นทรัล ร้านสแตนด์อะโลน
ข้อดีของการเปิดแฟรนไชส์ คือเป็นอีกธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ CRG ขยายสาขาแบรนด์ร้านอาหารให้เข้าไปใกล้ลูกค้า รวมทั้งการเข้าถึงทำเลใหม่ๆ ที่ผู้ลงทุนมีอยู่แล้วและบริษัทเข้าไม่ถึงโลเคชั่นนั้นๆ
แผนการเปิดสาขาแฟรนไชส์ ระยะสั้น 2-3 ปี วางสัดส่วนสาขาไว้ที่ 20% และระยะยาว 5-6 ปี สัดส่วน 40% ของจำนวนสาขา “มิสเตอร์ โดนัท และ อานตี้ แอนส์”
เดลิเวอรี่พุ่ง 200% ลุยธุรกิจร้านกาแฟ
ในปี 2563 ธุรกิจร้านอาหารกลุ่ม Bakery& Beverage Cuisine มีรายได้ 2,430 ล้านบาท จำนวน 630 สาขา สรุปการดำเนินงานได้ดังนี้
– ธุรกิจเดลิเวอรี่มีรายได้ 270 ล้านบาท เติบโต 210% สูงเป็นประวัติการณ์ มาจากการขยายตลาดครอบคลุมทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับ Food Aggregators ทุกราย ไม่ว่าจะเป็น Grab Lineman
– การเปิดสโตร์ “ฟอร์แมท” ใหม่ รูปแบบ Delco ทั้งแบรนด์ มิสเตอร์ โดนัท และ อานตี้ แอนส์ มีการขยายนอกศูนย์การค้า เช่น สาขาแรกในปั๊มน้ำมัน ปตท. เกษตร-นวมินทร์ ทำยอดขายค่อนข้างดี สร้างการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่
– การออกสินค้าใหม่ Baked Donut ของ มิสเตอร์ โดนัท ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าดูแลสุขภาพ สินค้าที่นำไปทำเองที่บ้าน Pretzel Kit ของ อานตี้ แอนส์
– ปีที่ผ่านมาได้ เริ่มขยายธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ Arigato ซึ่งเป็นเคาท์เตอร์กาแฟในอยู่ในแฟมิลี่มาร์ท เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอของ CRG ที่ยังไม่มีแบรนด์ร้านกาแฟราคาจับต้องได้ โดย CRG จะรับผิดชอบขยายสาขานอกร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท
– ปัจจุบัน Arigato มีเกือบ 60 สาขา เปิดร้านรูปแบบ Shop in Shop ในร้าน มิสเตอร์ โดนัท เนื่องจากเป็นสินค้าที่ราคาใกล้เคียงกันและกลุ่มลูกค้าเดียวกัน
3 กลยุทธ์ดันรายได้ 4 แบรนด์ โต 20%
กลุ่ม Bakery& Beverage Cuisine 4 แบรนด์หลัก ในปี 2564 วางเป้าหมายรายได้ 2,900 ล้านบาท เติบโต 18-20% จำนวนสาขาจบที่ 720 สาขา ด้วย 3 กลยุทธ์ดังนี้
1.New Store Model
– ขยายรูปแบบ Delco เพิ่มอีก 50-70 สาขา ในแบรนด์ มิสเตอร์ โดนัท และ อานตี้ แอนส์ เน้นเปิดสาขาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นในปั๊มน้ำมัน ไทวัสดุ เป็นต้น
– ขยาย Mobile Tuk Tuk มิสเตอร์ โดนัท เพิ่มอีก 5 คัน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในตลาดใหม่ๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ในแต่ละพื้นที่ในระยะทาง 10-20 กิโลเมตร
– ร้านสแตนด์อะโลน ในทำเลที่โดดเด่น เป็นจุดศูนย์กลางของช่องทางการขายแบบเดลิเวอรี่อีกด้วย
– ขยายโมเดลรถจักรยานยนต์สามล้อ ของร้านกาแฟ Arigato 2 คัน รวมทั้งเปิดเปิดร้าน Arigato ในมิสเตอร์ โดนัท อีก 100 สาขา
– ปัจจุบันสาขาร้านในกลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่ม ทั้ง 4 แบรนด์ อยู่ในศูนย์การค้า 90% การขยายสาขาในฟอร์แมทใหม่ๆ ดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงร้านได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะนอกศูนย์ฯ รวมทั้งลดระยะทางให้กับ Food Aggregators เข้ามาใช้บริการเดลิเวอรี่ได้เร็วขึ้น จากเครือข่ายร้านจำนวนมาก
2.New channel
– บริการเดลิเวอรี่ จากปีก่อนทำรายได้ 270 ล้านบาท ปีนี้จะเพิ่มเป็น 500 ล้านบาท
– โซเชียล คอมเมิร์ซ ผ่าน Line OA เพื่อเข้าถึงลูกค้าแบรนด์มิสเตอร์ โดนัท ที่มีสมาชิกกว่า 1.5 ล้านราย และ อานตี้ แอนส์
– เป็นปีแรกที่จะขยายไปในมาร์เก็ตเพลส Lazada Shopee JD Central และพัฒนาสินค้าใหม่ที่เหมาะกับช่องทางนี้ รวมทั้งการจัดแคมเปญ โปรโมชั่นร่วมกับมาร์เก็ตเพลส
– ช่องทางใหม่ C2C หรือ Customer to Customer เป็นโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แบบผู้บริโภคไปยังผู้บริโภคที่สามารถขยายและต่อยอดการขายในวงกว้างมากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์เปิดร้านขายบนแพลตฟอร์มของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับสิทธิ์จาก CRG ทั้งการขายปลีกและการขายส่ง
– ใช้กลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ผ่านช่องทาง ออมนิ แชนแนล ซื้อสินค้า ซื้อดีลต่างๆ สั่งอาหาร ได้ทั้งแบบเดลิเวอรี่ และ คลิก แอนด์ คอลเลค (click and collect) บน Line OA
3.New occasion
– พัฒนสินค้าใหม่ทำทานที่บ้าน อย่าง Pretzel Kit ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์ และหน้าร้าน อานตี้ แอนส์ ที่ปัจจุบันมีกว่า 200 สาขา เจาะลูกค้าอยู่บ้าน Work From Home
– เทรนด์โปรดักส์ Plants Based ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ดูแลสุขภาพ อานตี้ แอนส์ ก็จะออกสินค้ากลุ่มนี้มาทำตลาดเช่นกันในปีนี้
– พัฒนาเมนู Grab & Go ของทุกแบรนด์ ตอบไลฟ์ไสตล์ผู้บริโภคในยุคนี้ ที่มีวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแบบ New Normal
– ร้านกาแฟ Arigato จะออกโปรดักส์ใหม่ RTD มาทำตลาดเพิ่มเติม
จากภาพรวมของ CRG ในปี 2564 ตั้งเป้ายอดขายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไว้ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโต 20% โดยจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 200 สาขา ทำให้สาขารวมอยู่ที่ 1,300 สาขา
กลุ่ม Bakery& Beverage Cuisine ทั้ง 4 แบรนด์ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเติบโตของ CRG ในปีนี้ ที่ยังมองเห็นโอกาสขยายธุรกิจด้วย New Business เพื่อสร้างรายได้ใหม่ และโอกาส M&A แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ
อ่านเพิ่มเติม
- สำรวจตลาดร้านอาหารปี ‘64 “CRG” ชู 5 กลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ “สาขาโมเดลใหม่ – ทำ M&A – ขายแฟรนไชส์”
- 5 เหตุผลเบื้องหลังยักษ์ฟู้ดเชน “CRG – ZEN – Chester’s” เปิด “ร้านสตรีทฟู้ด” รุกขยายสาขาทั่วประเทศ