กว่า 1 ปี ของเส้นทางฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่ง “เห็นชอบ” แผนฟื้นฟูให้ดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี และขยายได้ครั้งละ 1 ปี 2 ครั้ง รวมไม่เกิน 7 ปี ถือเป็นสัญญาณของสายการบินแห่งชาติ อายุ 61 ปี เตรียม Take Off อีกครั้ง
การบินไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในปี 2562 ช่วยสร้างเศรษฐกิจประเทศรวม 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของจีดีพีประเทศ สร้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 1.3 ล้านคน
ในปี 2563 อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 รวมทั้งการบินไทย ที่ยังขาดสภาพคล่องและกระแสเงินสด อีกทั้งมีปัญหาขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องมาหลายปี วันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ
ข้อมูลจากแผนฟื้นฟู “การบินไทย”
– การประชุมเจ้าหนี้ 36 กลุ่มมีมูลหนี้รวม 410,141 ล้านบาท (ตัวเลขยังอยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าน้อยกว่านี้)
– การฟื้นฟูกิจการขอรับสินเชื่อใหม่ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท (จากการสนับสนุนของรัฐ รูปแบบเงินกู้ หรือค้ำประกัน)
- สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท (จากภาคเอกชน)
วิสัยทัศน์ใหม่กับภารกิจ 4 ด้าน
หลังศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟู “การบินไทย” พร้อมกลับมาบินอีกครั้ง ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลกและกลับมาสร้างผลกำไร ด้วยภารกิจ 4 ด้าน
- สายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นลำดับแรก ปรับเปลี่ยนและออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ มีเป้าหมายหารายได้มากขึ้น เสนอบริการเสริมที่เป็นตัวเลือกเต็มรูปแบบ เสนอช่องทางการขายและการตลาดหลากหลายช่องทาง (Omni-channel) เพื่อความแข็งแกร่งด้านการพาณิชย์ด้วยการลงทุนด้านดิจิทัล
- การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้
– การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบิน
– การบริหารค่าใช้จ่าย
– การปรับลดความซับซ้อนโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับธุรกิจ และคล่องตัวมากขึ้น
– ปรับลดจำนวนพนักงานให้สามารถแข่งขันในธุรกิจการบินได้ ปี 2562 มีพนักงานรวม 27,944 คน ปี 2563 ลดเหลือ 19,537 คน และปี 2564-2568 จะลดลงเหลือ 13,000-15,000 คน
4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงในด้านการปฏิบัติการและความปลอดภัย และเชื่อมโยงกับภูมิภาค
กลยุทธ์เพิ่มรายได้-ลดต้นทุน
นอกจากนี้ การบินไทยได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กร Chief of Transformation Office เพื่อนำโครงการริเริ่มจากพนักงานทุกระดับทุกสายงานกว่า 600 โครงการ มาทำการศึกษาและวิเคราะห์ธุรกิจและหาโอกาสพัฒนาธุรกิจใหม่ ตามเป้าหมายคือเพิ่มรายได้ 15% และลดค่าใช้จ่ายลงอีก 15%
กลยุทธ์เพิ่มรายได้ เช่น หน่วยธุรกิจการบินที่ดูแลครัวการบิน บริการภาคพื้น และคลังสินค้า ตามแผน 5 ปี ได้ ศึกษาการตั้งบริษัทใหม่ ตามเทรนด์ธุรกิจที่มีศักยภาพและตลาดขนาดใหญ่ เพื่อสร้างกำไรกลับมาให้การบินไทย
หลังเปิดครัวการบินไทยที่สำนักงานถนนวิภาวดีเพื่อให้บริการธุรกิจร้านอาหารในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาได้เปิดภัตตาคาร ที่สำนักงานขายตั๋ว จังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมรับการท่องเที่ยว “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ในเดือนกรกฎาคมนี้
พร้อมศึกษาโอกาสการขยายธุรกิจบริการเลาจน์และสปา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมองหาผู้ร่วมทุนเพื่อขยายธุรกิจดังกล่าว กลุ่มคาร์โก มองโอกาสพัฒนาเป็นโลจิสติกส์ครบวงจร รับตลาดอีคอมเมิร์ซโต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ฝั่งลดค่าใช้จ่ายการบินไทยทำได้แล้วกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ดังนี้
- การเจรจาต่อรองปรับลดค่าเช่าเครื่องบิน จากผู้ให้เช่า (Lessor) ให้เป็นแบบยืดหยุ่น ตามชั่วโมงการใช้งานจริง (Power by the hour) หรือปรับลดค่าเช่าซื้อเครื่องตลอดอายุสัญญา
- การปรับลดแบบเครื่องบิน จาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ การปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ พร้อมเจรจากับผู้ซ่อมเครื่องยนต์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง
- จัดกลุ่มนักบินให้เหมาะสมกับแบบเครื่องบิน จาก 5 กลุ่ม เหลือ 3 กลุ่ม ปรับสัดส่วนโครงสร้างค่าตอบแทนนักบิน ให้มีสัดส่วนเงินเดือนประจำและค่าตอบแทนรายชั่วโมงลดลง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายช่วงอุปสงค์การบินยังไม่กลับคืนสู่ปกติก่อนวิกฤติโควิด
- ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ลดขั้นตอนการบังคับบัญชา จาก 8 ขั้นตอน เหลือ 5 ขั้นตอน ลดจำนวนผู้บริหารลงจาก 800 อัตราเหลือ 500 อัตรา
- ปรับลดพนักงานจาก 27,944 คนในปี 2562 ปัจจุบันเหลือ 16,500 คน และสิ้นปี 2564 จะเหลือ 15,000 คน เพื่อทำให้องค์กรคล่องตัวและแข่งขันได้ในอนาคต
การลดพนักงานได้ขอความร่วมมือผ่านโครงการลาระยะยาว รับเงินเดือน 20% โครงการลาหยุดไม่รับเงินเดือน โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (สมัครใจลาออก) ทำให้ค่าใช้จ่ายพนักงานลดลงจากเดือนละ 2,500 ล้านบาท ในปี 2563 เหลือเดือนละ 800 ล้านบาท ในปลายปีนี้ โดยรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ของการบินไทย ลดลงไปแล้ว 50%
ไตรมาส 3 เปิดบินเชิงพาณิชย์ 5 เส้นทางยุโรปลงภูเก็ต
คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเรื่องท้าทายของการบินไทยขณะนี้ คือ กระแสเงินสด (Cash flow) กำลังจะหมดลงแล้วในช่วงสิ้นปีนี้ จึงต้องเร่งหาวิธีในการนำทรัพย์สินรองมาหารายได้ รวมทั้งเจรจากับเจ้าหนี้ธนาคาร หรือเจ้าหนี้รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ เจ้าหนี้ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนแผนการฟื้นฟูการบินไทย
ตั้งแต่ไตรมาส 3 การบินไทยจะกลับมาเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร (Commercial Flight) เพื่อสนับสนุนนโยบาย “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) เชื่อว่าหลังการฉีดวัคซีนกระจายไปในเมืองหลักๆ จะทำให้สามารถเปิดเมืองท่องเที่ยวเพิ่มได้อีก และน่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในต้นปีหน้า
คุณนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ (DN) กล่าวว่าการกำหนดเส้นทางบินไตรมาส 3 และ 4 ที่จะเริ่มเข้าสู่ Commercial Flight เลือกจากเส้นทางที่การบินไทยทำกำไรได้ เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย หากเป็นในระยะบิน 3-4 ชั่วโมงและดีมานด์ยังไม่มาก จะให้ไทยสมายด์ ทำการบิน เช่น พนมเปญ ฮานอย ไซง่อน
โดยไตรมาส 3 จะเปิดเส้นทาง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ในยุโรป 5 เมือง คือ แฟรงเฟิร์ต ลอนดอน โคเปนเฮเกน ปารีส ซูริค บินตรงไปภูเก็ต
ไตรมาส 4 เพิ่มเมืองที่จะบินเข้าภูเก็ต เช่น นิวเดลี อินเดีย (หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น) เกาหลี และญี่ปุ่น ส่วนไทยสมายล์ เส้นทางบินจากฮ่องกงและสิงคโปร์ เข้าภูเก็ต
การเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 หากเทียบกับก่อนโควิด จำนวนไฟลท์มีสัดส่วนเพียง 35% ไตรมาส 4 เพิ่มเป็น 40% เป็นการทยอยเปิดบินตามดีมานด์ในแต่ละเส้นทาง ที่จะช่วยสร้างกระแสเงินสดเข้ามา และช่วงครึ่งปีหลังจะมีรายได้มากกว่าช่วงครึ่งปีแรก
ถือเป็นการเริ่มต้นกลับมาเทคออฟอีกครั้งของการบินไทย หลังจากต้องเจอกับสถานการณ์โควิด และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
“ชาญศิลป์” แจ้งลาออก”ดีดี” การบินไทย 1 ก.ค.นี้
ล่าสุดวันที่ 16 มิถุนาย 2564 การบินไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ได้อนุมัติการลาออกของคุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร จากตำแหน่ง “รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” (DD) โดยยังคงตำแหน่ง กรรมการบริษัท และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และแต่งตั้งรักษาการแทนเจ้าหน้าที่บริหาร
โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย และในวันเดียวกัน คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูได้มีประชุมและมีมติแต่งตั้งให้ คุณสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารอีกตำแหน่ง ให้มีผลตั้งแต่งวันที่ 16 มิถุนายน – 30 กันยายน 2564
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand