การแก้ปัญหา และปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรม CSR ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เก็บขยะ แต่ต้องอยู่ในกระบวนการธุรกิจ ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ จัดหาวัตถุดิบ ผลิต ไปจนถึงปลายน้ำ และขั้นตอนหลังการบริโภค ที่ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว
ทิศทางธุรกิจวันนี้ และในอนาคต แบรนด์/องค์กรจึงขยับสู่โมเดล “Circular Economy” หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ โดยบางองค์กรมีเป้าหมายลดขยะให้เป็นศูนย์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เช่นกรณีศึกษาธุรกิจค้าปลีกแบรนด์แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรสูง และสร้างปริมาณขยะมหาศาล เวลานี้เริ่มเห็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลกหลายราย ขยับสู่โมเดล Circular Economy โดยหนึ่งในวิธีการคือ การเปิดช่องทาง หรือแพลตฟอร์มรับซื้อสินค้าคืน (Buy Back) และ ขายต่อ (Resale) เป็นสินค้ามือสอง
ธุรกิจแฟชั่นปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากกว่าปริมาณคาร์บอนฯ ในฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักรรวมกัน
งานวิจัยของ McKinsey ระบุว่า ในปี 2018 ผลิตก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse-gas :GHG) 2.1 พันล้านเมตริกตัน คิดเป็น 4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกใบนี้ ซึ่งมากกว่าปริมาณคาร์บอนในฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักรรวมกัน
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังเป็นความท้าทายใหญ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลก ยิ่งในอนาคตจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้น และรูปแบบการบริโภคจะเปลี่ยนไป ดังนั้น หากไม่มีการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จะทำให้การผลิตก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.7 พันล้านเมตริกตันภายในปี 2030
แต่ถ้ามีการลดการปล่อยคาร์บอนฯ จะอยู่ที่ 2.1 พันล้านเมตริกตันภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม หากอุตสาหกรรมแฟชั่นเพิ่มความจริงจัง คาดว่าจะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมนี้ ลงไปอยู่ที่ 1.1 พันล้านเมตริกตัน
McKinsey รายงานเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ต้องมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันตลอดทั้ง Value Chain ทั้งภาคการผลิต แบรนด์สินค้า และผู้บริโภค
– ภาคการผลิต และการแปรรูป ซึ่งอยู่ในส่วนต้นน้ำของกระบวนการธุรกิจ มีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้มาก หากดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น ลดการผลิต ลดการแปรรูปวัตถุดิบ ลดของเสียจากการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการเปลี่ยนจากใช้พลังงาน Fossil เป็นพลังงานหมุนเวียน
หากภาคการผลิต มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ และดำเนินการอย่างเข้มข้น ก็จะช่วยลดปริมาณการปล่อยมลพิษได้ถึง 60% หรือคิดเป็น 1 พันล้านเมตริกตันภายในปี 2030
– แบรนด์ สามารถลงมือทำได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงวัสดุที่นำมาใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เช่น ใช้เส้นใยจากวัสดุรีไซเคิล ลดการผลิตที่มากเกินไป พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล และมีน้ำหนักเบา ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ในช่องทางค้าปลีก
หากแบรนด์เดินหน้าปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ 20% หรือประมาณ 308 ล้านเมตริกตันในปี 2030
– ผู้บริโภค ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นซื้อสินค้าแฟชั่นอย่างมีสติ และตระหนักรู้ เปลี่ยนพฤติกรรมนำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีอยู่ กลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนแบรนด์แนะนำโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 308 ล้านเมตริกตัน หรือเกือบ 20%
เช่น ให้เช่า ขายสินค้ามือสอง รับซ่อมแซม ขายเป็นสินค้า Refurbish ซึ่งจะช่วยลดการซัก และอบแห้งในกระบวนการผลิตสินค้า รวมทั้งเพิ่มการรีไซเคิล และลดการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบ
เปิด Insights ตลาดสินค้ามือสอง “Gen Z คือลูกค้าหลัก – คาดต่อไปจะใหญ่กว่า Fast Fashion”
ในขณะที่ทั่วโลกธุรกิจค้าปลีก ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ แต่สำหรับ “ตลาดขายต่อ” (Resale) หรือ “ตลาดมือสอง” (Secondhand Market) กลับเติบโต โดยเฉพาะแพลตฟอร์มขายสินค้ามือสอง และรับฝากขายสินค้ามือสอง กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
รายงานของ “ThreadUP” ฉายภาพว่ามูลค่าตลาดมือสองทั่วโลก
- ปี 2019 มีมูลค่ากว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปี 2024 คาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปี 2029 คาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าที่มากกว่าตลาด Fast Fashion ที่ในเวลานั้นจะมูลค่ากว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ช่องทางการขายสินค้ามือสองที่เติบโตมากสุด คือ “ช่องทางออนไลน์” โดยระหว่างปี 2019 – 2021 ช่องทางนี้เติบโตเฉลี่ย 69% ในขณะที่ภาคธุรกิจค้าปลีกหดตัว 15%
ขณะที่ฐานลูกค้าใหญ่ของตลาดสินค้ามือสอง คือ กลุ่มผู้หญิง โดย 70% ของผู้หญิงครอบครองสินค้ามือสอง หรือเคยช้อปปิ้งสินค้ามือสอง
กลุ่มที่มีบทบาทสร้างการเติบโตของตลาดสินค้ามือสอง คือ Gen Z (40%) ซึ่งเป็นนักช้อปรุ่นใหม่ที่หันมาใช้สินค้ามือสองเร็วกว่ากลุ่มอื่น
ตามมาด้วยกลุ่ม Millennials (30%), Gen X (20%) และ Baby Boomers (10%)
ปัจจัยหลักที่ Gen Z เลือกซื้อสินค้ามือสองคือ 1. เหตุผลด้านความยั่งยืน โดยมองว่าการช้อปปิ้งต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อโลก และ 2. ความคุ้มค่าคุ้มราคา
จาก Market Insights ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าตลาดสินค้ามือสอง มี Demand สูง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ แบรนด์ที่กำหนดวิสัยทัศน์ “Sustainability” ตั้งแต่แบรนด์แฟชั่นหรู ถึงแบรนด์ Mass ทั่วไป ได้แตก Sub-brand สำหรับทำตลาดมือสองโดยเฉพาะ หรือเปิดช่องทางการขายสินค้ามือสองของตัวเอง
“H&M” ลุยขายสินค้าแฟชั่นมือสองบนแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 20 ประเทศ
“H&M” แบรนด์ Fast Fashion Retail รายใหญ่ของโลกจากสวีเดน กำหนดนโยบายการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของแผนความยั่งยืนขององค์กร ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้เสื้อผ้าหมุนเวียนได้นานที่สุด จึงลงทุนในโมเดลธุรกิจใหม่ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเช่า บริการซ่อมแซม และการขายสินค้ามือสอง
ด้วยเหตุนี้เองในปี 2015 “H&M Group” ลงทุนมากกว่า 20 ล้านยูโรในแพลตฟอร์ม “Sellpy” เป็นสตาร์ทอัพสวีเดน พัฒนาแพลตฟอร์มขายสินค้ามือสองแบรนด์ต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยปัจจุบัน H&M Group เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Sellpy แล้วในสัดส่วน 70%
ขณะที่ขั้นตอนการขาย ทาง Sellpy จะไปรับเสื้อผ้าจากบ้านของผู้ขาย (Seller) จากนั้นนำมาถ่ายรูป ขาย และจัดการส่งถึงมือลูกค้าที่สั่งซื้อ
ทุกวันนี้สินค้า H&M มีขายอยู่ในแพลตฟอร์มนี้แล้วเช่นกัน และเมื่อไม่นานนี้ H&M Group ได้ประกาศขยายบริการแพลตฟอร์ม Sellpy เพิ่มอีก 20 ประเทศแถบยุโรป ส่งผลให้โดยรวมเปิดให้บริการแล้ว 24 ประเทศ
“เซ็กเมนต์สินค้ามือสอง เป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมแฟชั่น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงการผลิต และความยั่งยืนของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ขณะเดียวกันในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่น กำลังตระหนักถึงสิ่งที่เคยทำมา อันมีผลต่อการสร้างวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง”
Gustav Wessman หัวหน้าฝ่ายขยายธุรกิจของ Sellpy ฉายภาพการเพิ่มขึ้นของตลาดสินค้ามือสอง จากทั้งในฝั่งผู้บริโภค และฝั่งแบรนด์
“Nike” แตกแบรนด์ “Nike Refurbished” ขายรองเท้ามือสอง ราคาถูกลง
หลังจาก “Nike” เปิดตัววิสัยทัศน์ “MOVE TO ZERO” ลดปริมาณคาร์บอน และของเสียให้เหลือศูนย์ ตอบโจทย์ “Circular Economy” เพื่อไม่ให้เกิดของเสีย หรือขยะในกระบวนการผลิต และการบริโภค/การใช้งาน
ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว “Nike” ได้เปิดตัวกลุ่มสินค้า “Nike Refurbished” เป็นรองเท้าที่ผู้บริโภคซื้อไป แล้วส่งคืนกลับมาที่ Nike ภายในช่วงเวลาทดลองสินค้า 60 วันนับจากวันซื้อสินค้า จากนั้น Nike จะตรวจสอบสภาพ ทำความสะอาด และตกแต่งให้มีสภาพดี – ใหม่ เพื่อนำกลับไปจำหน่ายอีกครั้งในราคาถูกลง
รองเท้า Nike ที่ถูกส่งคืนภายใน 60 วันนับจากวันซื้อ จะถูกนำไปทำเป็นสินค้า Refurbished เพื่อจำหน่ายต่อไปได้นั้น Nike ได้
Nike วางหลักเกณฑ์มาตรฐานควบคุมคุณภาพสินค้าไว้ 3 ข้อคือ
- มีสภาพเหมือนใหม่ คือ เป็นรองเท้าที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หรือเกือบสมบูรณ์ โดยไม่ผ่านการสวมใส่
- ผ่านการสวมใส่แล้วเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในสภาพดี
- สินค้ามีรอยตำหนิ เช่น ลูกค้ายังไม่ได้สวมใส่ แต่ปรากฏเห็นตำหนิบนตัวสินค้า อาทิ เกิดคราบ มีตำหนิที่โลโก้ สีรองเท้าซีดลง ฯลฯ
เมื่อทางร้านตรวจสอบสภาพสินค้าแล้ว จะทำความสะอาด และตกแต่งรองเท้าให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงรองเท้าใหม่มากที่สุด จากนั้นบรรจุลงกล่อง ที่ระบุชัดเจนว่าเป็น Nike Refurbished โดยราคาจำหน่าย แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรุ่น ประเภท และการแบ่งระดับรองเท้าตามหลักเกณฑ์ 3 ข้อดังกล่าว
สำหรับช่องทางการจำหน่ายรองเท้า “Nike Refurbished” ในช่วงเริ่มต้นจะขายผ่านร้าน Nike Store ในสหรัฐอเมริกา 15 สาขาก่อน จากนั้นจะขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น รวมทั้งในอนาคตเตรียมขยาย Nike Refurbished นอกตลาดสหรัฐฯ
“Mulberry” เปิดตัว “The Mulberry Exchange” รับซื้อกระเป๋าเก่า เพื่อส่งต่อให้เจ้าของใหม่
“Mulberry” แบรนด์กระเป๋าคลาสสิกของอังกฤษ มีแนวคิดแบรนด์ “Made to Last” นั่นคือ การทำให้กระเป๋าสามารถใช้ได้ยาวนาน คงทน เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบของแบรนด์ทั้งอดีต – ปัจจุบัน – อนาคต
ขอบข่ายของ “ความรับผิดชอบ” สำหรับ Mulberry ไม่ได้สิ้นสุดแค่เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าเสร็จ แล้วออกจากร้านเท่านั้น แต่ต้องผลิตกระเป๋าให้มีความแข็งแรง คงทน ซ่อมแซมได้ โดยมีทีมช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนาน และกระเป๋าใบนั้นยังสามารถส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป แลกเปลี่ยน หรือไปอยู่กับเจ้าของใหม่
นี่จึงเป็นที่มาของการทำ “The Mulberry Exchange” แพลตฟอร์มดิจิทัลจำหน่ายกระเป๋ามือสอง หรือที่เรียกว่า Pre-loved จากการรับซื้อคืนจากลูกค้า
โดยลูกค้าที่ต้องการนำกระเป๋า Mulberry มาขายที่ร้าน หรือส่งแบบฟอร์มขอประเมินทางออนไลน์ จากนั้นกระเป๋าของลูกค้าจะถูกส่งมาที่ศูนย์ซ่อม Somerset เพื่อตรวจสอบสภาพ ตรวจสอบความถูกต้อง และประเมินราคา
แล้วทางแบรนด์จะติดต่อลูกค้ากลับไป พร้อมใบเสนอราคา หากลูกค้าตัดสินใจดำเนินการขายต่อ ทางแบรนด์จะส่งบัตรของขวัญ เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไป Redeem ทางออนไลน์ หรือมาที่สาขาเพื่อเลือกดูกระเป๋าใหม่ที่ร้าน
โดยกระเป๋า Mulberry ที่ซื้อคืนจากลูกค้านั้น จะถูกส่งไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญของแบรนด์ ซ่อมแซมอย่างพิถีพิถัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของใหม่ได้ว่า กระเป๋าที่ได้มาจาก The Mulberry Exchange ยังอยู่ในสภาพดี ทั้งดีไซน์ รูปทรง และวัสดุ เพื่อสามารถใช้ได้นาน
“IKEA” เปิดบริการรับซื้อเฟอร์นิเจอร์ใช้แล้ว
“IKEA” วางเป้าหมายจะทราสฟอร์มโมเดลธุรกิจไปสู่ “Circular Business” ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจ IKEA ในทุกด้าน ทั้งลูกค้า การจัดหาและพัฒนาวัสดุในระบบซัพพลายเชน ยืดอายุสินค้า และวัสดุให้สามารถใช้งานได้ยาวนาน ด้วยระบบหมุนเวียน 4 วิธีคือ
- นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse)
- ซ่อมแซม-ตกแต่งใหม่ (Refurbishment)
- สินค้าที่ใช้งานแล้ว นำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เพื่อปรับปรุง/แปรสภาพ ให้มีรูปลักษณ์ และคุณสมบัติเหมือนของใหม่ (Remanufacturing)
- รีไซเคิล (Recycling)
เชนร้านค้าปลีกและแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ – ของตกแต่งบ้านจากสวีเดน วางเป้าหมายภายในปี 2030 โมเดลธุรกิจทั้งหมด IKEA ต้องเป็น Circular Business ตั้งแต่การใช้พลังงานหมุนเวียน วัสดุที่นำมาใช้ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งชนิดต่างๆ ต้องเป็นวัสดุหมุนเวียน หรือรีไซเคิล และพัฒนา Solution สำหรับลูกค้าในการซื้อ ดูแล และส่งต่อสินค้านั้นๆ เพื่อให้การผลิต และการใช้อยู่บนวิถีระบบหมุนเวียน (Circular Ways)
เพื่อสร้างการรับรู้ถึงการทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ Circular Business และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อช่วงปลายปี 2020 IKEA เปิดตัว Pop-up Store มือสองครั้งแรกใน “ReTuna Återbruksgalleria” ห้างฯ แห่งแรกของสวีเดน และของโลกที่ขายเฉพาะสินค้า Recycle และ Upcycle เท่านั้น
- อ่านเพิ่มเติม: “ReTuna Återbruksgalleria” ห้างขายสินค้ารีไซเคิลแรกของโลก ปฏิวัติชอปปิ้งสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน
IKEA Pop-up Store ที่นี่ เปิดให้บริการ 6 เดือน เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ระบบ Circular Business และต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคในการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน
ไม่เพียงแต่เปิด Pop-up Store เท่านั้น IKEA ยังได้เปิดบริการ “รับซื้อคืนเฟอร์นิเจอร์ใช้แล้ว” และ “ขายต่อ” เป็นสินค้ามือสอง (Buy back & Resell) เพื่อลดปริมาณขยะเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องนำไปฝังกลบ โดยปัจจุบันบริการนี้มีใน 26 ประเทศที่ IKEA ดำเนินธุรกิจอยู่
ขั้นตอนการนำเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้แล้ว มาคืนให้กับ IKEA เพียงแค่ลูกค้ากรอกแบบฟอร์มบนเว็บไซต์ IKEA โดยจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน จากนั้นนำเฟอร์นิเจอร์ไปที่ร้านสาขาใกล้บ้าน และพนักงานจะประเมินสภาพ
- เฟอร์นิเจอร์ใช้แล้ว ที่ยังมีสภาพเหมือนใหม่ ไม่มีรอยขีดข่วนใดๆ จะถูกซื้อคืนในราคา 50% ของราคาเดิม (Original Price) ของสินค้าชิ้นนั้นๆ
- เฟอร์นิเจอร์มีรอยขีดข่วนเล็กน้อย จะถูกซื้อคืนในราคา 40% ของราคาเดิมของสินค้าชิ้นนั้นๆ
- ถ้ามีรอยขีดข่วนหลายจุด จะถูกซื้อคืนในราคา 30% ของราคาเดิมของสินค้านั้นๆ
สินค้าที่ IKEA รับซื้อคืน ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในสภาพดี สามารถขายต่อได้ มีการประกอบมาเรียบร้อยแล้ว สะอาด ไม่มีการดัดแปลงใดๆ เช่น ตู้หนังสือ ชั้นวางของ โต๊ะรับประทานอาหาร โต๊ะทำงาน เก้าอี้ และสตูลแบบไม่หุ้มเบาะ
ส่วนสินค้าที่ไม่รับซื้อคืน เช่น สินค้าที่ไม่ใช่ของ IKEA เฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง สินค้าที่ผ่านการดัดแปลงแล้ว ที่นอนและเครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าเกี่ยวกับเด็ก สินค้าที่ยังไม่ได้ประกอบชิ้นส่วน สินค้าเกี่ยวกับแก้ว สินค้าส่วนบุคคล เช่น ผ้าขนหนู
เมื่อพนักงานประเมินเสร็จแล้ว ลูกค้าจะได้รับบัตร Refund Card โดยมูลค่าในบัตรมีวงเงินเท่ากับราคาประเมินเฟอร์นิเจอร์มือสองของลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถนำบัตรนี้ ไปใช้ซื้อสินค้าใน IKEA ได้
ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์มือสอง จะวางจำหน่ายในโซนที่แยกออกมา ขายในราคาเดียวกับที่ IKEA จ่ายให้กับลูกค้าที่นำมาขายคืน พร้อมบวก VAT
นอกจากนี้ IKEA ยังได้จับมือกับพาร์ทเนอร์แพลตฟอร์ม e-Marketplace เพื่อนำสินค้ามือสองขึ้นไปจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกว้างขึ้น
“สินค้ามือสอง” กลยุทธ์สร้าง Brand Love – สร้างฐานลูกค้าใหม่
แน่นอนว่าวัตถุประสงค์หลักของแบรนด์ใหญ่ระดับโลกหลายแบรนด์ ลุยตลาดขายสินค้ามือสอง หรือสินค้าใช้แล้ว เพื่อทรานส์ฟอร์มโมเดลการทำธุรกิจไปสู่ “Circular Business” เพื่อตอบโจทย์ยุคระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และความยั่งยืน (Sustainability) อีกประโยชน์ที่แบรนด์ได้รับคือ สร้าง Brand Loyalty และ Brand Love ในแบรนด์ ทั้งในกลุ่มลูกค้าเก่า และลูกค้าใหม่
เนื่องจากการเลือกแบรนด์ หรือเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคทุกวันนี้ ปัจจัยด้านความยั่งยืน และด้านสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ
ขณะเดียวกันการขายสินค้ามือสอง ช่วยให้ขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น เพราะสินค้าที่ผ่านการตรวจเช็คสภาพ การบำรุงซ่อมแซม เพื่อให้มีสภาพเหมือนใหม่ หรือใกล้เคียงของใหม่มากที่สุด แต่ขายในราคาถูกลง ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณภาพ แบรนด์ และความคุ้มค่าคุ้มราคา จึงทำให้ผู้บริโภคที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าแบรนด์นั้นๆ หรือผู้บริโภคที่มองหาคุณภาพ และความคุ้มค่า สามารถตัดสินใจได้ง่ายในการซื้อมาทดลองใช้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของแบรนด์ใหญ่ระดับโลกที่กำลังทรานส์ฟอร์มธุรกิจในยุค Circular Economy ที่ครอบคลุมตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงกระบวนหลังจากผู้บริโภคซื้อไปใช้ หรือบริโภคแล้ว ต้องตอบโจทย์ระบบการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน
หนึ่งในกลยุทธ์คือ Buy Back และ Resale เพื่อลดการผลิตมากเกินไป ลดปริมาณขยะ – ลดของเสียทั้งจากภาคการผลิต และภาคการบริโภค ขณะเดียวกันแบรนด์ได้รักษาฐานลูกค้าเก่า พร้อมไปกับขยายฐานลูกค้าใหม่ให้กว้างขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคได้ช้อปสินค้าคุ้มค่าคุ้มราคา
- อ่านเพิ่มเติม: “Slow Retail” เทรนด์ค้าปลีกบนความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างพฤติกรรมช้อปอย่างมี “สติ” และ “พอดี”