ต้องบอกว่าธุรกิจรถยนต์ให้เช่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 โดยในปีที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่ผลประกอบติดลบ หนึ่งในนั้นคือ Asap หรือ บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการรถยนต์ให้เช่
ถึงแม้จะเข้าสู่ปี 2021 พิษ Covid-19 ก็ยังส่งผลต่อเนื่องต่อธุรกิจดังกล่าว โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ Asap ทำรายได้ไปทั้งสิ้น 869.28 ล้านบาท (รายได้จากการขายรถมือสอง) เพิ่มขึ้น 25.14 ล้านบาท หรือ 3% จากที่เคยทำได้ 844.14 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปีก่อน แต่บริษัทก็ยังมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิถึง 32.29 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 313% จากที่เคยทำไว้เมื่อปีก่อนเช่นกัน (ปี 2020 ขาดทุนสุทธิ 7.81 ล้านบาท)
รายได้เพิ่ม แต่ทำไมยังขาดทุน
คุณทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Asap อธิบายว่า แหล่งที่มาของรายได้ของธุรกิจรถยนต์ให้เช่าของ Asap ปัจจุบันมาจาก 3 ช่องทาง ได้แก่
- การให้บริการรถเช่าระยะยาวแก่องค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ โดยคิดเป็นรายได้ 70% ของบริษัท
- บริการรถเช่าระยะสั้น ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ คิดเป็นรายได้ 10%
- การขายรถมือสอง คิดเป็นรายได้ 20%
ผลกระทบจาก Covid-19 ได้ทำให้แหล่งรายได้ทั้ง 3 ช่องทางต่างได้รับผลกระทบทั้งหมดในรูปแบบที่แตกต่างกัน นั่นคือ
- องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work From Home กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้จากบริการรถเช่าระยะยาวที่เคยได้รับลดลง
- ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่กลับคืนมา ส่งผลให้บริการรถเช่าระยะสั้นมีรายได้ลดลงเช่นกัน
- ผู้คนชะลอการซื้อรถใหม่ เศรษฐกิจเกิดความไม่มั่นคงจากพิษ Covid-19 ทำให้ผู้คนชะลอการซื้อรถใหม่ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับกลยุทธ์ โดยลดราคารถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถขายได้ ผลของกลยุทธ์เหล่านั้นได้กระทบต่อธุรกิจรถมือสองที่ถูกกดราคา ไม่สามารถทำกำไรได้อย่างที่เคยเป็น อีกทั้งสถาบันการเงินก็ลดการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่อยากซื้อรถมือสอง ทำให้ตลาดในส่วนนี้หดหายไป
ขณะที่ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น คุณทรงวิทย์ระบุว่ามีการพยายามลดค่าใช้จ่ายลง เช่น ต้นทุนทางการเงินในไตรมาส 1 ปี 2021 ที่ลดลงเหลือ 92.46 ล้านบาท เนื่องจากมีการขายรถออกไป ทำให้จำนวนรถยนต์ให้บริการลดลง นำไปสู่ภาระดอกเบี้ยเช่าซื้อที่น้อยตามไปด้วย
นอกจากนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายขายและบริการ ที่ลดลงเหลือ 30.33 ล้านบาทเช่นกัน
ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็คือ ต้นทุนขายและบริการ เพราะในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา Asap มีการขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ 791.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.78 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2020
ด้วยเหตุนี้ เมื่อสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของรายได้น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายและต้นทุนขายรถยนต์ จึงทำให้ผลประกอบการยังคงเป็นลบต่อไปนั่นเอง
คุณทรงวิทย์ ฐิติปุญญาประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน)
รุก B2C ด้วยดิจิทัล
จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ หากยังคงดำเนินธุรกิจในทิศทางเดิมอาจไม่เป็นผลดีต่อองค์กร ทาง Asap จึงมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ จากเดิมที่เคยเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) เป็นหลัก สู่การให้บริการกับลูกค้ารายย่อย (B2C) โดยนำแพลตฟอร์มดิจิทัลในชื่อ “Asap App” มาช่วยสนับสนุน พร้อมตั้งเป้าสร้างคอมมูนิตี้ Asap Club ที่มีผู้ใช้งาน 100,000 รายภายในสิ้นปีนี้
ส่วนแอปพลิเคชันของ Asap ในช่วงเริ่มแรก ได้พัฒนาบริการเอาไว้ 7 หมวด ประกอบด้วย
- บริการรถเช่ารายวัน
- บริการรถเช่าพร้อมคนขับ (Butler)
- บริการรับส่งผู้สูงอายุ
- บริการรับส่งในวันพิเศษด้วยรถหรู (ลีมูซีน)
- บริการขนเฟอร์นิเจอร์
- บริการรับส่งสัตว์เลี้ยง
- บริการขับรถให้คุณ
ตั้งเป้าเป็นซูเปอร์แอปของคนใช้รถ
ส่วนในอนาคต ทางบริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจไปสู่ตลาดประกันภัย และธุรกิจขายรถมือสองแบบ Peer-to-Peer (P2P) ร่วมด้วย โดยคุณทรงวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเริ่มมีบริการด้านประกันภัยในเดือนกรกฏาคมนี้ หรืออย่างช้าที่สุดก็ไม่เกินสิงหาคม
“เราต้องการให้ลูกค้าใน Asap Club ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ที่เราสร้างขึ้น ไม่เพียงกดเรียกใช้บริการได้ แต่ยังซื้อประกันภัยรถยนต์ได้อีกด้วย และอีกบริการหนึ่งที่จะเริ่มตามมาก็คือ Used Car P2P หรือบริการขายรถมือสอง เพราะเรามองว่า คนที่อยู่ในคอมมูนิตี้ Asap Club นอกจากต้องซื้อประกันแล้ว วันหน้าก็อาจต้องซื้อรถใหม่”
“Pain Point ของการซื้อรถขายรถมือสองก็คือความรีบร้อน ทำให้อาจถูกเต๊นท์รถกดราคาได้ ซึ่งในชีวิตจริง ราคาแบบโฮลเซลล์ กับราคาแบบรีเทล มีส่วนต่างประมาณ 20% รถคันหนึ่ง เต๊นท์อาจรับซื้อที่ 350,000 บาท และตั้งราคาขายที่ 450,000 บาท ส่วนขายจริงอาจจะเหลือ 420,000 – 430,000 บาท”
“เราเลยมองว่า ถ้าเราสร้างคอมมูนิตี้ที่เป็นเหมือนคนกลางขายรถ – ทำโปรไฟล์รถให้ คนขายก็อาจได้ราคาที่สูงกว่าไปขายเต๊นท์ คนซื้อก็ได้รับบริการเพิ่มเติม เช่น มีคนจัดไฟแนนซ์ให้ ทำประกันภัยให้ อีกสามปี เกิดอยากขายเปลี่ยนคันใหม่ ก็วนลูปกลับมาขายต่อในกลุ่ม”
ทั้งนี้ คุณทรงวิทย์ย้ำด้วยว่า นี่ไม่ใช่แผนระยะสั้น และอาจใช้ถึงเวลา 3 ปีในการ Turnaround ธุรกิจรถเช่าให้กลับมาฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งเลยทีเดียว