HomeBrand Move !!ร้านสะดวกซื้อ-ฟาสต์ฟู้ดในญี่ปุ่น เตรียมงดให้ “ช้อน-ส้อม-หลอดพลาสติก” ฝ่าฝืนปรับ 1.4 แสนบาท

ร้านสะดวกซื้อ-ฟาสต์ฟู้ดในญี่ปุ่น เตรียมงดให้ “ช้อน-ส้อม-หลอดพลาสติก” ฝ่าฝืนปรับ 1.4 แสนบาท

แชร์ :

7-Eleven Japan Convenience Store

ในปี 2020 รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มบังคับใช้คำสั่งให้ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารงดให้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) แก่ลูกค้า แต่นั่นยังไม่เพียงพอในการลดขยะพลาสติก และเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ Circular Economy ตามยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมบังคับใช้กฎหมายห้ามร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ให้ช้อน ส้อม หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงภาชนะพลาสติกแก่ลูกค้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 500,000 เยน หรือกว่า 1.4 แสนบาท!

 

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติก

ที่ผ่านมาทั่วโลกมีจำนวนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง กว่า 5.4 แสนล้านใบ ในจำนวนนี้มาจากญี่ปุ่น 3 หมื่นล้านใบ ในขณะที่มีประชากรกว่า 120 ล้านคน น้อยกว่าสหรัฐอเมริกา แต่กลับใช้ถุงพลาสติดกว่าสหรัฐฯ ถึง 17 เท่า

นอกจากนี้ข้อมูลสถาบันการบริหารจัดการขยะพลาสติก ระบุว่า ในปี 2019 ญี่ปุ่นใช้พลาสติกเกือบ 10 ล้านตัน ซึ่งสร้างขยะมากถึง 8.5 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สามารถรีไซเคิลได้ แทนการเผา หรือฝังกลบ

จากปัญหาขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลนี่เอง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเอาจริงกับการเร่งแก้ปัญหา

ชินจิโร โคอิซูมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้านคือ เป็นสังคมปราศจากคาร์บอน (Decarbonized Society) ผลักดันสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และกระจายอำนาจสังคมไปสู่ระบบเศรษฐกิจเชิงสังคม (Socioeconomic System) เป็นความเชื่อมโยง ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยทางสังคม

หนึ่งใน Action Plan ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งดำเนินการคือ ลดการใช้พลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ

เห็นได้จากการออกคำสั่งในปี 2020 ให้ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารงดให้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) แก่ลูกค้า และหากลูกค้าจะเอาถุงพลาสติก ต้องเสียเงินค่าถุงราว 3 – 5 เยนต่อใบ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก และรณรงค์ให้คนญี่ปุ่นลดการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

จากนั้นเมื่อช่วงต้นปี 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายห้ามร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ให้ช้อน ส้อม หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งแก่ลูกค้า

ล่าสุดได้ออกเป็นกฎหมายเตรียมบังคับใช้แล้ว ซึ่งกำหนดให้ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด งดให้ช้อน ส้อม หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแก่ลูกค้า โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้เดือนเมษายน 2022 แต่ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวยกเว้นการบังคับใช้กับร้านขนาดเล็ก

Bento Ready to Eat Japan

โดยกลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวนี้ ต้องสอบถามลูกค้าว่าจะรับช้อน – ส้อม – หลอดพลาสติกหรือไม่ หากลูกค้ายืนยันจะรับ ก็ต้องจ่ายเงินค่าอุปกรณ์การรับประทาน/ดื่มดังกล่าว

หรือไม่อย่างนั้น กลุ่มธุรกิจต้องจัดหาอุปกรณ์การรับประทานอาหาร และภาชนะใส่อาหารที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) มาทดแทนวัสดุทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

หากผู้ประกอบการธุรกิจไม่ปฏิบัติตามกฎ และมีการละเมิดซ้ำ ต้องเสียค่าปรับ 500,000 เยน หรือประมาณ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 140,000 บาท

Beverage

วัตถุประสงค์หลักของการออกกฎหมายใหม่คือ

1. ลดปริมาณขยะพลาสติก

2. กระตุ้นภาคธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์การรับประทาน – ภาชนะใส่อาหารที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เห็นได้จากคำสั่งให้ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารงดให้ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ผลปรากฏว่าอัตราการใช้ถุงพลาสติกที่ร้านสะดวกซื้อ ลดลงไปถึง 70% และซูเปอร์มาร์เก็ต ลดลงถึง 80%

Mcdonald's Japan

 

“ร้านสะดวกซื้อ – ร้านกาแฟ – สายการบิน” ลดการใช้ช้อน ส้อม – หลอด – ภาชนะพลาสติกแก่ลูกค้า

ขณะที่ภาคธุรกิจเวลานี้ได้ปรับตัวเช่นกัน อย่างบรรดาเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในญี่ปุ่น เช่น 7-Eleven (เซเว่น อีเลฟเว่น) จากเดิมที่ให้ช้อน – ส้อมพลาสติกฟรีแก่ลูกค้าที่ซื้ออาหารพร้อมรับประทานต่างๆ กำลังพิจารณาว่าต่อไปจะเรียกเก็บเงินกับลูกค้า ในกรณีที่ลูกค้าต้องการช้อน – ส้อมพลาสติก

ส่วนทางด้าน FamilyMart (แฟมิลี่มาร์ท) ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดนโยบายเฉพาะ แต่บอกว่าจะลดขยะพลาสติกอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ สายการบิน All Nippon Airways (ออล นิปปอน แอร์เวย์ส) ได้เปลี่ยนภาชนะใส่อาหารที่ให้บริการบนเที่ยวบินชั้นประหยัด (Economy Class) ทำจากชานอ้อย โดยคาดว่าจะช่วยลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 317 ตันต่อปี หรือลดไปประมาณ 30%

รวมถึงเชนร้านอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกอย่าง Starbucks (สตาร์บัคส์) ตั้งเป้าหมายเลิกใช้หลอดพลาสติกทุกสาขาทั่วโลก รวมทั้งในญี่ปุ่น ภายในปี 2020 และเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษแทน รวมทั้งหลอดซิลิโคน ที่ลูกค้าสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้

Starbucks Japan

ถึงแม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้ตะเกียบเป็นหลัก แต่ก็มีอาหารบางประเภท บางเมนูที่ต้องให้ช้อน ส้อมในการรับประทาน เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายใหม่ครั้งนี้ จึงส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม รวมทั้งผู้บริโภคต้องปรับตัวไม่น้อย รวมถึงนักท่องเที่ยวเช่นกัน เพราะเมื่อถึงวันที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นฟื้นกลับมา 100% ใครที่เดินทางไปญี่ปุ่น ควรลืมพกช้อน – ส้อม หลอดของตัวเองติดตัวไปด้วย เพื่อความสะดวกในการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม

 

 

Source

Source

Source

Source

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like