หลายคนอาจรู้สึกว่า 10 ปี เป็นเวลาที่นานพอควร แต่ถ้าบอกว่าแอปพลิเคชัน LINE อยู่กับเรามา 10 ปีแล้ว บางคนอาจรู้สึกว่าทำไมเวลาช่างผ่านไปเร็ว โดยในการฉลองครบรอบ 10 ปีของ LINE ในปีนี้ ทางแพลตฟอร์มบอกว่า พร้อมยกระดับประสบการณ์ไปสู่ Chat Commerce โดยใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ใน Ecosystem ของ LINE มาช่วยเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดการเดินทาง 10 ปีของ LINE เราได้เติบโตอย่างรวดเร็วจากแอปพลิเคชันสื่อสาร สู่การเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถยกระดับชีวิตคนไทยในยุคดิจิทัลด้วยฟีเจอร์และบริการต่าง ๆ บนแอปที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นทั้งแชท – ประชุมงาน – ช้อปปิ้ง – สั่งอาหาร – จ่ายเงิน – ดูซีรีส์ – อ่านข่าว ฯลฯ เราจึงก้าวเข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งชีวิตของผู้ใช้ และมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการใช้บริการของแพลตฟอร์มเรา”
“มากไปกว่านั้น เรายังเป็นแพลตฟอร์มเพื่อธุรกิจที่สามารถขับเคลื่อนแบรนด์ องค์กรและผู้ประกอบการไทยทุกระดับบนเส้นทาง Digital Transformation สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้ธุรกิจ โดยเบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากความตั้งใจของ LINE ที่พัฒนาบริการทุกอย่างมาเพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสนับสนุนและความไว้วางใจของทุกคนที่มีให้กับเราตลอดมา”
ทั้งนี้ มีการเปิดเผยถึงการเติบโตของ LINE เทียบระหว่างปี 2562 – 2563 พบว่า
- การใช้งานฟังก์ชันการสื่อสารต่าง ๆ ของ LINE เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น LINE Group Audio Call ที่มีการใช้งานเพิ่มสูงกว่า 72% LINE Group VDO Call เพิ่มขึ้น 162 % เช่นเดียวกันกับ LINE Meeting ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2563 ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 371%
- LINE Official Account มีผู้ใช้บัญชีทางการเพิ่มขึ้นถึง 25% เป็น 4 ล้านบัญชี (เปรียบเทียบ ไตรมาสที่ 3 2562 และ ไตรมาสที่ 3 2563)
- ช่วงปีที่ผ่านมา มีการใช้เครื่องมือ MyShop โซลูชันส์ที่ช่วยบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นถึง 257% ขณะที่การจับจ่ายออนไลน์บน LINE SHOPPING คึกคัก สร้างยอดขาย (GMV) โตกว่า 200% ทั้งสินค้าจิปาถะไปจนถึงแฟชั่นและ Gadget
กลยุทธ์ Humanization & Localization
ผู้บริหาร LINE เผยด้วยว่า เบื้องหลังความสำเร็จและการเติบโตดังกล่าวคือกลยุทธ์ Humanization & Localization ที่ LINE ใช้พัฒนาแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนา LINE MAN ที่มาปฏิวัติไลฟ์สไตล์การกินของคนไทยจนเติบโต และควบรวมธุรกิจกับ Wongnai จนเกิดแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง การพัฒนา MyShop โซลูชันส์ที่มาเสริมแกร่ง Chat Commerce ให้ LINE Official Account รองรับการเปิดร้านค้าออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมมือกับภาครัฐพัฒนา LINE Official Account เพื่อตอบโจทย์บริการที่หลากหลายเพื่อประชาชนด้วย
ปลดล็อกข้อจำกัดด้านอาชีพ
อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงตลอดทศวรรษที่ผ่านมาของ LINE คือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการประกอบอาชีพ ทั้งการเป็น Social Seller ขายของออนไลน์ แอดมินบริหารจัดการหน้าร้านออนไลน์ LINE STICKERS CREATOR ที่เปิดโอกาสสร้างรายได้ผ่านการออกแบบ LINE STICKERS โดยปัจจุบันมีครีเอเตอร์มากกว่า 700,000 คน และมีสติกเกอร์วางจำหน่ายทั้งหมดรวมแล้วกว่า 3.6 ล้านชุด รวมถึงการขับเคลื่อนสร้างคนพันธุ์เทคฯ หน้าใหม่ของเมืองไทยผ่านกิจกรรม Developer ที่จัดอย่างต่อเนื่อง ทั้ง LINE Developer Conference และ LINE HACK
เดินหน้าพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐาน”
สำหรับการพัฒนาในอนาคต LINE บอกว่าจะเพิ่มศักยภาพ “โครงสร้างพื้นฐาน” ของแพลตฟอร์มต่อไป เพื่อให้สามารถยกระดับชีวิตผู้ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวทางการพัฒนาฟีเจอร์ และบริการต่าง ๆ ใน 3 แกนธุรกิจหลัก ได้แก่
- OMO (Online Merges Offline) – สร้างความแข็งแกร่งให้กับประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ทั่วประเทศ เชื่อมต่อโลกออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียว
- Fintech – ยกระดับ Financial Experience ของผู้ใช้งาน LINE อย่างไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น ให้สามารถ “แชท – โอน – ยืม – จ่าย” ได้บนแอป LINE จบครบในที่เดียว โดยไม่ต้องออกข้ามไปแอปพลิเคชันอื่น
- e-Commerce – มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน Social commerce ที่อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่แตกต่างด้วย ด้วย Chat Commerce ช่วยให้ร้านค้าดำเนินธุรกิจได้อย่างไร้รอยต่อด้วยอีโคซิสเต็มของ LINE ที่แข็งแกร่ง
“แม้องค์กรจะเติบโตขึ้นตามกาลเวลา LINE เองก็จะยังคงไว้ซึ่งการเป็น Tech Company with Startup Mindset แนวคิดที่ยังทำพวกเราชาว LINE ยังคงสนุกสนาน ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ ๆ ไม่กลัวที่จะผิดพลาดล้มเหลว แต่ก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งต่างเป็นดีเอ็นเอของเราให้สามารถพัฒนาบริการและฟีเจอร์ต่าง ๆ บนอีโคซิสเต็ม LINE เพื่อยกระดับชีวิตของผู้ใช้ในทุกมิติอยู่เสมอ” ดร.พิเชษฐ กล่าวสรุป