นอกจากงานสัมมนา “AIS Business Digital Future 2021” จะทำให้หลายคนเห็นภาพของภาคธุรกิจไทยในยุค Covid-19 กันไปแล้ว ภายในงานดังกล่าวก็ยังมีอีกหนึ่งคำแนะนำดี ๆ จาก “คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประเทศไทยด้วย โดยคุณธนวัฒน์มองว่าโลกแห่งอนาคต จะเป็นยุค “New Way, New Me” ที่เต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ รออยู่มากมาย
แต่ภายใต้โอกาสนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กันก็คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทรนด์การ Work From Home ที่ทำให้คนยังทำงานต่อได้ แม้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ การจับจ่ายใช้สอยที่เกิดขึ้นอย่างสะดวกสบายแม้ไม่ต้องไปเดินห้างด้วยตัวเอง ฯลฯ ซึ่งในมุมของไมโครซอฟท์ จึงมีคำแนะนำในการปรับตัวสำหรับภาคธุรกิจ เพื่อรับมือยุค “New Way, New Me” เอาไว้ 8 ด้านด้วยกัน นั่นคือ
1. ออฟฟิศอยู่ได้ทุกหนแห่ง
คำแนะนำประการแรกคือการวางกลยุทธ์ให้กิจกรรมของออฟฟิศสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม (ทั้งในฝั่งของการบริหารงาน และฝั่งของการบริการลูกค้า) โดยคุณธนวัฒน์ได้ยกตัวอย่างการทำงานแบบ Work From Home ที่กลายเป็นความสามารถพื้นฐานของบริษัทในปัจจุบัน บริษัทใดที่ยังไม่มีความสามารถนี้ก็ต้องสร้างขึ้นมาแล้ว เพื่อให้องค์กรยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นอกจากนั้น ความสามารถนี้ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในมุมของพนักงานอย่างเดียว เพราะหากมองในมุมลูกค้า ก็อาจพบว่า ลูกค้าก็อาจอยากติดต่อกับแบรนด์ผ่านช่องทางดิจิทัลเช่นกัน
“ถ้าเราเป็น Physical Store ลูกค้าอาจต้องมาหาเราที่หน้าร้านเท่านั้น แต่ถ้าเข้าใจโลกยุค New Way New Me จะพบว่า ลูกค้าสามารถมาจากที่ไหนก็ได้ เช่นกันกับเซอร์วิส เราจะเซอร์วิสลูกค้าจากที่ไหนก็ได้เช่นกัน ดังนั้น นี่คือความสามารถใหม่ที่องค์กรของเราต้องสร้างให้เกิดขึ้น” คุณธนวัฒน์กล่าว
2. ให้ความสำคัญกับโลกที่มีดิจิทัลเป็นตัวนำ
คำแนะนำประการที่สองคือการพัฒนากลยุทธ์ “สำหรับโลกดิจิทัล” เตรียมเอาไว้เสมอ เนื่องจากทุกวันนี้ ไม่ว่าจะลูกค้า ซัพพลายเออร์ หรือแม้แต่พนักงานเอง ก็มีดิจิทัลอยู่ในมือ หรือก็คือเป็นยุค Digital First กันเรียบร้อย องค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสินค้า และบริการให้ตอบโจทย์โลกที่มีดิจิทัลเป็นตัวนำนั่นเอง
3. ใช้คลาวด์ให้เกิดประโยชน์
ข้อต่อไปคือการให้ความสำคัญกับคลาวด์ โดยถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อสองสามปี คุณธนวัฒน์เผยว่า คลาวด์คงเหมือนบัซเวิร์ดทั่วไป แต่วันนี้ คลาวด์กลายเป็นสถานที่ที่มีบริการต่าง ๆ มากมาย และหลายอย่างก็จำเป็นไม่ต่างกับน้ำไฟที่เราใช้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งความสามารถเหล่านี้จำเป็นไม่น้อยสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ
4. ให้ความสำคัญกับ AI
ข้อ 4 ที่ไมโครซอฟท์ต้องการสื่อก็คือเรื่องของ AI ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ใครจะพัฒนาแอปขึ้นมาในโลกดิจิทัล ถ้าไม่มี AI ฝังลงอยู่จะะเสียโอกาสมหาศาล พร้อมยกตัวอย่าง AI ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน และเราอาจใช้กันจนเคยชิน เช่น กล้องมือถือที่สามารถถ่ายรูปหน้าชัดหลังเบลอได้ แชทบอท ตัวช่วยแปลภาษาต่าง ๆ ฯลฯ
“ธุรกิจยุคใหม่ต้องการ AI จำนวนมาก จะทำอะไรเกี่ยวกับลูกค้า พนักงาน จึงต้องเอา AI ไปผนวกเข้าด้วยเสมอ” คุณธนวัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับบางองค์กรที่ยังใช้สถิติ ตัวเลข ชุดข้อมูล หรือรายงานของไตรมาสที่แล้วในการตัดสินใจ ในมุมของไมโครซอฟท์มองว่าไม่เพียงพออีกต่อไป โดยคุณธนวัฒน์แนะนำว่า ควรเปลี่ยนมาเป็นแดชบอร์ดแบบเรียลไทม์ หรือแดชบอร์ดที่ฝัง AI ลงไป แล้วทำ Prediction เพื่อให้ข้อมูล ตัวเลข หรือสถิติไม่ใช่แค่ตอบคำถามของปัจจุบันอย่างเดียว แต่อาจคาดการณ์อนาคตได้ด้วยนั่นเอง
5. อย่าทำงานคนเดียว
สำหรับข้อ 5 ในมุมของไมโครซอฟท์คือการสะท้อนว่า วันนี้ไม่มีคำว่าทำคนเดียวอีกต่อไป แต่ต้องพาร์ทเนอร์กับคนอื่นให้มากขึ้น โดยมองว่าการจับมือกับพาร์ทเนอร์นั้นสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้ คุณธนวัฒน์ยังได้ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่หากทำคนเดียว ไม่จับมือกับใครเลย ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้นั่นเอง
6. นักพัฒนาไม่ต้องมาจากสายเทคอีกต่อไป
อนาคตของเทคโนโลยี จะไม่ได้จำกัดแค่คนที่เรียนมาเท่านั้น แต่เทคโนโลยีจะเป็นโอกาสของทุกคน ซึ่งในมุมของไมโครซอฟท์ คุณธนวัฒน์สะท้อนภาพนี้ออกมาว่า มีคอร์สสำหรับให้ Business user เข้ามาเรียนสักหนึ่งวัน ก็พอจะพัฒนาแอปพลิเคชันง่าย ๆ ได้แล้ว
“เราจะได้เห็นการเกิดขึ้นของนักพัฒนาที่ไม่ได้มาจากสายเทคมากขึ้น” คุณธนวัฒน์กล่าว
7. สร้างความไว้ใจให้ได้
ประเด็นต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของความเชื่อใจ โดยในมุมของไมโครซอฟท์มองว่า การจะทำธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต หรือแม้แต่การจะเลือกใช้เซอร์วิสจากใครก็ตาม ต้องมาจากความเชื่อถือในคน หรือแบรนด์นั้น ๆ ดังนั้น ในฐานะที่เป็นองค์กร การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น
8. อย่าลืมคิดถึงส่วนรวม
ปัจจัยข้อสุดท้ายที่ไมโครซอฟท์บอกว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ การคิดถึงส่วนรวมด้วย อย่าคิดเอาตัวรอดแต่องค์กรเราเพียงคนเดียว พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการลงทุนในดาต้าเซนเตอร์มากกว่า 200 แห่งทั่วโลก เพื่อให้เซอร์วิสของบริษัทเป็นเหมือนน้ำไฟที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ไม่แตกต่างกัน (เช่น สตาร์ทอัพรายเล็ก สามารถได้เข้าถึงด้วย ไม่ใช่ให้แค่องค์กรใหญ่เข้าถึงได้อย่างเดียว)
จะเห็นได้ว่า ในมุมของไมโครซอฟท์ การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จในยุคต่อไปอาศัยแต่กลยุทธ์อย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป หากต้องมี Culture of Innovation ร่วมด้วย ซึ่งการจะสร้าง Culture of Innovation ต้องมาจากความพร้อมของ 4 ปัจจัย ได้แก่ people, process, technology และ data
“ถ้าเราอยู่ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้ จะรู้สึกอยากทำสิ่งใหม่ ๆ หรือทำเรื่องสนุก ๆ ทุกวัน และนั่นคือตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตต่อไปในอนาคต” คุณธนวัฒน์กล่าว