น่าตื่นเต้นทีเดียวกับนวัตกรรมด้านการรีไซเคิลพลาสติกที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสก็อตแลนด์ได้ออกมาเผยว่า สามารถใช้แบคทีเรียอีโคไลในการเปลี่ยนพลาสติกให้กลายเป็นสารวานิลลินสังเคราะห์ได้แล้ว
สำหรับสารวานิลลินสังเคราะห์นั้น Stephen Wallace อาจารย์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ และผู้ตรวจสอบหลักของการศึกษาชิ้นนี้กล่าวว่า มันคือส่วนประกอบหลักที่อยู่ในเม็ดวานิลลาที่พบได้ตามธรรมชาติ หรือในเคสนี้ก็คือสารสังเคราะห์นั่นเอง โดยในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้วานิลลินสังเคราะห์อย่างมากมายตั้งแต่การผลิตอาหาร, ยา ไปจนถึงเครื่องสำอาง ซึ่งการสังเคราะห์วานิลลินจากพลาสติกได้น่าจะช่วยให้ปัญหามลพิษจากพลาสติกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ข้อมูลจาก FastCompany ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน มีการสังเคราะห์วานิลลินขึ้นมาจากวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น ถ่านหิน เศษเยื่อไม้ ไปจนถึงมูลวัว นั่นจึงไม่แปลกหากจะเพิ่มพลาสติกเข้าไปด้วยอีกหนึ่งตัว
Stephen Wallace กล่าวด้วยว่า “นอกจากงานวิจัยนี้จะช่วยแก้ปัญหาพลาสติกได้ มันยังช่วยเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นสิ่งที่มีค่ามากขึ้นอีกด้วย โดยมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 79%”
สำหรับความต้องการวานิลลานั้น ข้อมูลในปี 2018 พบว่า ตลาดวานิลลาทั่วโลกมีมูลค่าอยู่ที่ 510 ล้านเหรียญสหรัฐ และภายในปี 2026 คาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็น 735 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนวัตถุดิบอย่างขยะพลาสติกนั้น แค่ทวีปอเมริกาเหนือเพียงทวีปเดียวก็ผลิตขวด PET มากถึง 3 ล้านตันต่อปี แต่หากเปลี่ยนขวดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์อาหารเหล่านั้นให้เป็นวานิลลินได้ก็จะช่วยลดการก่อขยะ และทำให้เกิด Circular Economy ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Stephen Wallace บอกว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อดูว่าวานิลลินสังเคราะห์ที่ได้มานั้นบริสุทธิ์เพียงพอสำหรับการบริโภคหรือไม่ ซึ่งหากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จ อนาคตอันใกล้ เราอาจมีน้ำหอมกลิ่นวานิลลาหรือไอศกรีมรสวานิลลารักษ์โลกได้เลยทีเดียว