จากผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนภายใต้แบรนด์ “เชนไดร้ท์” วิสัยทัศน์ใหม่ของ “เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น” หรือ SWC ธุรกิจในเครือ TOA มองโอกาสการเติบโตในน่านน้ำใหม่ใหญ่ระดับมหาสมุทรกับกลุ่ม FMCG ด้วยการ Diversify สู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ขยาย Brand Portfolio “มารูโจ้-ฮอกไกโด-ซุปเปอร์ไฟต์” กับเป้าหมายรายได้ 10,000 ล้าน ใน 5 ปี
ตามดูธุรกิจ “เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น” องค์กร 25 ปี กับการปรับโครงสร้างก้าวออกจาก Comfort Zone ธุรกิจที่เป็นเบอร์หนึ่ง สู่การหาโอกาสใหม่ว่ามีที่มาและกลยุทธ์อย่างไร
1. จุดเริ่มต้นธุรกิจเคมีภัณฑ์ในเครือ TOA
บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SWC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน โดยในปี 2538 กลุ่มทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ของตระกูลตั้งคารวคุณ ได้เข้าซื้อกิจการธุรกิจเคมีภัณฑ์ในครัวเรือนจาก บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ประกอบด้วยธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก
-ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดปลวก หนู แมลงสาบ แบรนด์ “เชนไดร้ท์” (Chaindrite) ครองอันดับ 1 ในประเทศไทย ส่งออกในเอเชียและออสเตรเลีย
-ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเอนกประสงค์แบรนด์ “ทีโพล์” (Teepol)
-ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงแบรนด์ “เชนการ์ด” (Chaingard)
2. จัดทัพ 3 ธุรกิจใหม่ ไม่ใช่แค่เคมีภัณฑ์
ปี 2561 ได้เปลี่ยนชื่อ บริษัท เชอร์วู้ด เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท เชอร์วูด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ชัดเจนว่าต่อไปนี้ ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ วางโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็น 3 กลุ่ม
1.ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม “เชนไดร้ท์”
2.กลุ่มสินค้าอุปโภค (Consumer Non-food) แบรนด์ “ทีโพล์”
3.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Consumer Food) เป็น New S-curve ธุรกิจใหม่ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต
คุณชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SWC กล่าวว่ากว่า 20 ปีของการทำตลาดในกลุ่มเคมีภัณฑ์ เราเป็นอันดับ 1 ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ น่านน้ำเดิมได้ยึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว เมื่อต้องการเติบโตก้าวกระโดดก็ต้องหาน่านน้ำใหม่ จึงมองโอกาสธุรกิจสู่ FMCG ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ผลักดันการเติบโต (Growth Engine) ในช่วง 5 ปีจากนี้
3. ซื้อแบรนด์ “ฮอกไกโด-มารูโจ้” เข้าสู่ตลาด FMCG
เมื่อวางยุทธศาสตร์ก้าวเข้าสู่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ในปี 2563 SWC ได้ตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท ฮอกไกโด ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยซื้อสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับการผลิตถั่วลิสงอบกรอบ ภายใต้แบรนด์ “มารูโจ้” และเข้าลงทุนในกิจการนมพาสเจอร์ไรซ์แบรนด์ “ฮอกไกโด” ด้วยการซื้อหุ้นสามัญบริษัท ทีทีดี โฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มบริษัทฮอกไกโด) เพื่อขยายธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)
หลังจากซื้อสินทรัพย์แบรนด์ “มารูโจ้” และผลิตภัณฑ์นมแบรนด์ “ฮอกไกโด” มาแล้ว ก็ออกสินค้าใหม่นมถั่วเหลือง “ไวต้าบีน” มาทำตลาดเพิ่มเติม
4. ปั้นแบรนด์ “ซุปเปอร์ไฟต์” เครื่องดื่มสมุนไพร
การขยายธุรกิจใหม่ในกลุ่มเครื่องดื่ม เพราะเห็นโอกาสจากตลาดเครื่องดื่มในปี 2563 มีมูลค่า 155,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มน้ำอัดลม (Carbonated) 48,050 ล้านบาท น้ำเปล่า 34,100 ล้านบาท เครื่องดื่มชูกำลัง 20,150 ล้านบาท และอื่นๆ 52,700 ล้านบาท กลุ่มที่เติบโต คือ เครื่องดื่มวิตามินซี น้ำดื่มผสมวิตามิน และเครื่องดื่มสมุนไพร
เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้เปิดตัวแบรนด์แรก “ซุปเปอร์ไฟต์” (SuperFight) เป็นกลุ่มเครื่องดื่มสมุนไพรสกัด 8 ชนิด วางงบการตลาดและสื่อสารไว้ 100 ล้านบาท โดยมี “โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” เป็นพรีเซนเตอร์ วางจำหน่ายในช่องทางร้านค้าทั่วไป (traditional trade) 1 แสนร้านค้า หรือราว 25% ของร้านค้าทั่วประเทศราว 4 แสนร้านค้า รวมทั้งช่องทางโมเดิร์นเทรด และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
“ซุปเปอร์ไฟต์ ถือเป็นพิมพ์เขียวกลุ่มเครื่องดื่มตัวแรกของ SWC ในการก้าวสู่ตลาดเครื่องดื่ม”
ไม่เพียงแค่ทำตลาดในประเทศเท่านั้น แต่กลยุทธ์การเติบโตของกลุ่มเครื่องดื่มซุปเปอร์ไฟต์ มองโอกาสขยายตลาดต่างประเทศ ทั้งกลุ่ม CLMV ตะวันออกกลาง จีน ยุโรป สหรัฐฯ แอฟริกา “เราต้องการเป็น Global Brand ที่เล่นในมหาสมุทรไม่ใช่แม่น้ำ”
5. เป้าหมาย 5 ปีรายได้ 10,000 ล้าน กลุ่มเครื่องดื่ม 25%
หากย้อนหลังดูผลประกอบการของ SWC จะมีรายได้ปีละ 1,300-1,600 ล้านบาท ปี 2563 รายได้จากกลุ่มเคมีภัณฑ์กำจัดแมลง มีสัดส่วน 74% สินค้าทำความสะอาด 20% อาหารและเครื่องดื่ม 6%
ปี 2564 หลังเปิดตัวเครื่องดื่มซุปเปอร์ไฟต์ วางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 2,500 ล้านบาท เป็นปีแรกที่รายได้ทะลุ 2,000 ล้านบาท โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 15%
ภายใน 5 ปี SWC วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท กลุ่มเครื่องดื่มจะมีสัดส่วน 25% หรือ 2,500 ล้านบาท แน่นอนว่าต้องมีการขยายตลาดเครื่องดื่มใหม่ๆ ทั้งแบรนด์เดิม ซุปเปอร์ไฟต์ จะมีโปรดักส์ไลน์ใหม่ เริ่มจากบรรจุภัณฑ์ขวด เป็นกระป๋อง รวมทั้งขยายจากกลุ่มสมุนไพร เป็นกลุ่ม Carbonated
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสทำตลาดกลุ่มเครื่องดื่มที่กำลังเติบโตทุกเซ็กเมนต์ ในกลุ่มฟังก์ชันนอลดริงค์ เครื่องดื่มผสมวิตามินซี รวมทั้งกลุ่ม Plant-based Milk และการขยายธุรกิจในรูปแบบ M&A กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอเพื่อสร้างการเติบโต “เท่าตัว” ในช่วง 5 ปีนี้
ส่วนแบรนด์เครื่องดื่มเดิม “ฮอกไกโด” เริ่มจากนมพาสเจอไรซ์พร้อมดื่ม ปัจจุบันได้ขยายโปรดักส์หลากหลายมากขึ้น อาทิ โยเกิร์ต ไอศกรีม เมนูชงอะลาคาร์ต นมอัดเม็ด เป็นต้น รวมทั้งการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ ทั้งร้านและคีออส และมองโอกาสขยายสู่ตลาดนม UHT เจาะตลาดแมสเพิ่มเติม
6. “กัญชง-กัญชา” โอกาสทองกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ส่วนกระแสฮิตผลิตภัณฑ์ส่วนผสมกัญชง-กัญชา SWC มองโอกาสจากตลาดนี้เช่นกัน โดยมีความร่วมมือตั้งแต่ต้นน้ำแหล่งปลูก กลางน้ำโรงงานสกัดสาร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เมื่อ อย. ให้ใบอนุญาต
โดยได้เตรียมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชง-กัญชา ไว้แล้ว มีเป้าหมายทำตลาดในประเทศและตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่ม SuperFight ที่มีส่วนผสมของกัญชา (CBD) ผลิตภัณฑ์ถั่วแบรนด์มารูโจ้ และผลิตภัณฑ์นมและไอศกรีมแบรนด์ฮอกไกโด ก็มีแผนการออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเทอร์ปีน
ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผสมกัญชง-กัญชามีความต้องการสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ผู้บริโภครู้จักอยู่แล้ว เชื่อว่าตลาดนี้มีศักยภาพสร้างการเติบโตในอนาคต
7. รีแบรนด์ธุรกิจ Non-Food
สำหรับธุรกิจ Non-Food ผลิตภัณฑ์ป้องกันและจำกัดปลวกและแมลงแบรนด์ “เชนไดร้ท์” และผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานแบรนด์ “ทีโพล์” ซึ่งเป็น Core Business ของ SWC ปีนี้ได้ Re-Branding ปรับโฉมภาพลักษณ์สินค้าให้ทันสมัยด้วยการใช้พรีเซ็นเตอร์
แบรนด์เชนไดร้ท์ ที่อยู่มากว่า 30 ปี มี “หมาก ปริญ” เป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อให้สินค้าเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ปรับแพ็คเกจจิ้งให้ทันสมัย วางเป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ จาก 25% เป็น 35%
ส่วนแบรนด์ทีโพล์ มี “เบลล่า ราณี แคมเปน” เป็นพรีเซนเตอร์ ปีนี้ต้องการมาร์เก็ตแชร์ 5% จากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในกลุ่มคอนซูเมอร์มูลค่า 4,700 ล้านบาท และขยายส่วนตลาดอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ากว่า 9,500 ล้านบาท โดยพัฒนาแบรนด์ทีโพล์ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนทุกเซ็กเมนต์ในกลุ่มทำความสะอาด
วิสัยทัศน์ของ SWC องค์กรอายุ 25 ปี ที่เงียบมานาน วันนี้ได้ออกจาก Comfort Zone เพื่อหาโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ในตลาดอาหารและเครื่องดื่มมูลค่าแสนล้าน เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายทุกวันเมื่อเทียบกับเคมีภัณฑ์และสินค้าทำความสะอาดที่ซื้อแล้วใช้นานเป็นเดือน เพื่อก้าวสู่ Change to win กับเป้าหมายการเติบโต “เท่าตัว” ในช่วง 5 ปีจากนี้