ห่างหายจากสื่อไปเกือบปี หลังอำลาตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 วันนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปรากฏตัวให้มุมมองเศรษฐกิจและการปรับตัวของธุรกิจอีกครั้ง ในฐานะ ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผ่านงานแถลงข่าว “สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 25”
เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้วกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ธุรกิจแทบหยุดชะงัก ผู้คนตกงานได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะที่วัคซีนต้องเร่งพัฒนาให้ทันกับไวรัสกลายพันธุ์ และเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ถือเป็นหนทางเดียวที่จะนำเศรษฐกิจกลับสู่ปกติได้อีกครั้ง
แต่ช่วงระยะเวลา 2 ปี โควิดได้เปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง โดยเฉพาะพฤติกรรมและวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน ที่ต้องอยู่บ้านหยุดการแพร่ระบาด รูปแบบ Work From Home เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากขึ้น การติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ทำให้คนกลัว วิตกกังวล และหลีกเลี่ยงอยู่กับคนหมู่มาก สถานที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความหวาดระแวง การหลีกเลี่ยงคนหมู่มาก ก่อให้เกิดทัศนคติใหม่ที่ว่า “ความปลอดภัยมาก่อน” สาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญ ความสะอาด ความต้องการส่วนบุคคลมาก่อน เป็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นและขยายวงมากขึ้น และขัดกับวิถีทางการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม
เมื่อคนหลีกเลี่ยงเดินทาง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก “ธุรกิจย่อมลำบาก” ผู้ประกอบการขาดรายได้ และเสี่ยงล้มละลาย ทัศนคติของผู้คนในยุคโควิด เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและธุรกิจให้ตอบสนองพฤติกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ให้ได้
ธุรกิจจำนวนมากคิดว่าอีกไม่นานทุกอย่างจะคลี่คลายและกลับไปเหมือนเดิม แต่ความเป็นจริงที่เจ็บปวด คือ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ เป็น New Normal ที่คนเริ่มคุ้นเคย ลักษณะเช่นนี้ ธุรกิจที่สามารถปรับตัว เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมใหม่ ย่อมหาโอกาสใหม่ๆ ได้ แต่ธุรกิจที่ยังอยู่กับการทำงานแบบเดิม ในที่สุดจะถดถอยลงและยืนอยู่ไม่ได้
“เป็นเรื่องปกติที่ว่า อะไรก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากยังใช้วิถีทางเดิมๆ ในที่สุดจะถูก Disrupt แต่ใครก็ตามที่สามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ ใช้สติและปัญญาหาโอกาส พัฒนา Business Model ใหม่ๆ ก็จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้”
การเปลี่ยนแปลงที่จะได้เห็นจากโควิด คือ ธุรกิจท่องเที่ยว จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาปีละ 30 ล้านคน แต่สถานการณ์โควิด ทำให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม และยากที่ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนเดิม เพราะว่าคนอีกครึ่งโลกยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนช้า และหากโควิดกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ผู้คนก็ยังกลัวและกังวลที่จะเดินทางท่องเที่ยว
ดังนั้นธุรกิจท่องเที่ยวหลังจากนี้ต้องปรับตัว ไม่เน้นเชิงปริมาณ แต่เป็นเชิงคุณภาพ ต้องยกระดับการท่องเที่ยว ทำให้ปลอดภัย มีระบบสาธารณสุขที่ดี และบริการที่สร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยจากเชื้อโรคให้นักท่องเที่ยวได้เห็น นับเป็นสิ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยทุกส่วนต้องปรับตัว
อุตสาหกรรมภัตตาคาร ร้านอาหาร เดิมผู้บริโภคมักไปใช้บริการในห้าง แต่โควิดทำให้คนเดินห้างลดลง ขณะที่ร้านอาหารเล็กๆ นอกห้างใช้ระบบเดลิเวอรี่ให้บริการคนที่ไม่ออกจากบ้าน Work From Home โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในร้าน หรือจำนวนโต๊ะที่นั่ง จึงหันมาพัฒนาคุณภาพการทำอาหาร แพ็คเกจจิ้งแทน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ๆนี้ เพื่อโอกาสในการอยู่รอด
ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ผลกระทบ ในสถานการณ์โควิดที่ยากลำบากนี้ โอกาสก็มีเช่นกัน อย่าง “ธุรกิจออนไลน์” ที่มียอดขายเพิ่มหลัก 100% หุ้นในตลาดโลกที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้จึงอยู่ที่ “เราเรียนรู้และอยู่กับมัน”
ไม่ว่าในสถานการณ์ใด หากต้องการอยู่ให้ได้ เติบโต และชนะคู่แข่ง สิ่งที่ต้องมี คือ ความสามารถในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ด้วยต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ สิ่งที่จะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้ คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จาก “ข้อมูล” (Data) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทำให้เข้าถึงลูกค้า จากการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการและขายผ่านออนไลน์
“การรู้จักผู้บริโภค รู้พฤติกรรมทุกอย่าง ใช้ข้อมูลมาสร้างเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ ตอบสนองความต้องการ ทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น และเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน วันนี้ธุรกิจต้องตื่นตัวใช้เทคโนโลยีสื่อสารติดต่อกับลูกค้าโดยตรง ใช้ Big Data คาดการณ์ความต้องการในอนาคต เพื่อเสนอสินค้าอย่างแม่นยำ”
เดิมฝั่งรีเทล มีอำนาจต่อรองสูงสุด เพราะเป็นช่องทางหลักลูกค้าซื้อสินค้า แต่ในยุคดิจิทัลผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้จากทุกที่ผ่านออนไลน์ เมื่อมาเจอกับสถานการณ์โควิด คนก็วิตกกับการอยู่นอกบ้าน และหันมาช้อปออนไลน์แทน พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ รีเทลต้องสร้างแพลตฟอร์มที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ถือเป็นหัวใจทำธุรกิจในยุคนี้ และไม่สามารถพึ่งพาอีคอมเมิร์ซ หรือ มาร์เก็ตเพลส รายใหญ่ได้เพียงอย่างเดียว
ในยุคนี้เจ้าของ “แบรนด์” ก็ต้องปรับตัว ใช้ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ของรีเทลและมาร์เก็ตเพลส ที่สำคัญต้องสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาด้วย เพราะในอนาคต ผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้า เจ้าของแบรนด์ ต้องมีช่องทางเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง มีทีมงานวิคราะห์ข้อมูลเชิงลึก สร้างกลยุทธ์การตลาดเพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยตรง พร้อมบริหารซัพพลายเชนต้นน้ำถึงปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ เพื่อเป็นผู้นำในตลาด
“โควิดทำให้เกิดวิกฤติ แต่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้คนที่คิดเป็นและปรับตัวเร็วยังอยู่ต่อได้ ไม่เช่นนั้นจะถูก Disrupt และหายไปจากตลาด เราต้องไม่ยอมแพ้ ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผลักดันเศรษฐกิจขับเคลื่อน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูล”
จากการเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยีและสถานการณ์โควิด งานสหกรุ๊ปแฟร์ที่จัดต่อเนื่องมาถึงปีที่ 25 จึงตอกย้ำความสำคัญของระบบออนไลน์ ด้วยการจัดงานรูปแบบออนไลน์เป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2564 ผ่านมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่และ sahagroupfair.com
“สหกรุ๊ปแฟร์ ไม่ได้จัดงานเพียงเพื่อขายสินค้า แต่ต้องการชี้นำสังคมถึงแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตที่ต้องก้าวสู่โลกดิจิทัล”