ในช่วงที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจจะสร้างความปั่นป่วนให้บางอุตสาหกรรมของจีนต้องชะงักตัวไปบ้าง แต่ตลาดจีนยังคงเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องการเข้าไปเจาะตลาด รวมถึง SMEs ไทย ทั้งจากศักยภาพของจำนวนประชากรที่มีกว่า 1,400 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่การจะปลุกปั้นธุรกิจให้ชนะใจคนจีน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนมีความหลากหลายโดยเฉพาะคนจีนรุ่นใหม่ อีกทั้งการมาของโควิด-19 ก็ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเช่นกัน ดังนั้น SMEs ไทยต้องศึกษาพฤติกรรมชาวจีนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยล่าสุด สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ ศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน Thailand Smart Trade Center หรือ TSTC ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบการแบรนด์ไทยสู่ตลาดจีน (Over the Great Wall : Now Normal Era) เพื่อตีแผ่พฤติกรรมและกลยุทธ์ทุกแง่มุมที่ SMEs ไทยต้องรู้ก่อนบุกตลาดจีน โดยมี 9 เรื่องควรรู้ ดังนี้
1.เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล
แม้จีนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในปีที่ผ่านมา แต่มีพัฒนาการในการควบคุมการแพร่ระบาดค่อนข้างดี ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 จนเข้าสู่ปี 2564 ยังดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางที่ดีขึ้น ต่างจากประเทศอื่นๆ ในโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ด้วยการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) เน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ และวางเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด
2.“คนที่เติบโตยุคนโยบายลูกคนเดียว” กำลังซื้อหลักออนไลน์
แม้ว่าจีนจะยกเลิกการใช้นโยบายมีลูกคนเดียวมาตั้งแต่ปี 2015 แต่กลุ่มเป้าหมายที่ควรศึกษาคือ กลุ่มที่เติบโตมาจากนโยบายลูกคนเดียว เพราะคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์เป็นช่องทางหลัก และรองลงมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ค่อนข้างมีกำลังซื้อสูง
3.ต้องเข้าใจพฤติกรรมจีนยุคใหม่
พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนมีความหลากหลายทั้งภูมิภาค ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพศ อายุ ผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ดี
4.สกัดการก๊อปปี้ ด้วยการจด Trade Mark
การจดเครื่องหมายการค้า (Trade Mark) ก่อนไปบุกตลาดจีนเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อป้องกันการเสียเปรียบทางธุรกิจ เพราะหลายครั้งที่ SMEs ไทยเข้าไปทำตลาดในจีน แต่ส่วนใหญ่ไม่จด Trade Mark ให้เรียบร้อย เพราะคิดว่าสินค้ายังไม่ติดตลาด กระทั่งเมื่อไปจด Trade Mark จริงๆ กลับพบว่าสินค้าถูกจดเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว
5.โควิด ดัน E-Commerce จีนพุ่ง
ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาด E-Commerce ของจีนเรียกได้ว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่นับจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลาด E-Commerce จีนมีการเติบโตขึ้นมากถึง 37% เพราะการซื้อขายออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและสะดวกกว่าออฟไลน์ โดยในแอปพลิเคชัน Taobao ที่มีผู้ใช้ 874 ล้านคนนั้น 60% เป็นผู้ซื้ออายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเมื่อต้องทำ Target group
6.ชาวจีนฮิต “สินค้าสุขภาพความงาม”
ช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 6.18 ซึ่งเป็นเทศกาลออนไลน์กลางปีครั้งยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งของจีน ในปีนี้ได้สร้างสถิติสูงสุดมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ขายดีและมาแรง คือ สินค้าสุขภาพความงาม และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเรื่องสุขภาพ
7.เลือกเครื่องมือ “ทรงพลัง” มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ
ควรเลือกใช้เครื่องมือทางการตลาดที่ยังคงทรงพลังท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือ โซเชียล มีเดีย เพราะสามารถเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มได้
8.Social Platform กำลังเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น
โซเชียล แพลตฟอร์มที่กำลังเป็นที่นิยมในจีนคือ Douyin แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นที่รู้จักกันในชื่อ Tik Tok ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น หากเจ้าของแบรนด์สร้างสรรค์คอนเท้นต์ที่ทำให้เห็นถึง “ความคุ้มค่าที่จะซื้อ” ได้มากเท่าไร ย่อมได้เปรียบ เพราะจากข้อมูลพบว่า 64% ของผู้บริโภคจีนนั้นยินดีที่จะลองสินค้าใหม่
9.จะขายของให้คนจีน ต้องรู้จักใช้เครื่องมือของจีน
WeChat Official Account เป็นแอปพลิเคชันยอดนิยมของชาวจีน นอกจากจะเป็นช่องทางในการสื่อสารการตลาดออไลน์ ยังนำมาใช้ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ด้วย ดังนั้น SMEs ไทยที่คิดจะเข้าไปเจาะตลาดจีน ต้องรู้จัก We Chat และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจ โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในประเทศจีนแล้วสามารถสร้างบัญชีผู้ใช้เองได้ หรือจะให้บริษัทที่เชี่ยวชาญในด้านนี้มาดูแลให้ก็ได้ เพราะจะต้องหมั่นสร้างคอนเทนต์ และบริหารงานแอคเคาท์ให้มีการเติบโต เพิ่มจำนวนผู้ติดตามเพื่อสร้างยอดขายให้สูงเพิ่มขึ้นได้ต่อไป