รายงานล่าสุดจาก AppsFlyer เกี่ยวกับแอปการเงิน พบคนไทยติดตั้งแอปด้านฟินเทคสูงขึ้น 2 เท่า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มขึ้นเพียง 25% (นับตั้งแต่ไตรมาสแรกในปี 2020 ถึง ไตรมาสแรกปี 2021) โดยแอปหลักที่คนไทยติดตั้งเป็นแอปด้านการลงทุน และแอปกู้ยืมเงิน ซึ่งแอป 2 หมวดหมู่นี้นับเป็นยอดผู้ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ดาวน์โหลดทั้งหมด
สิ่งที่ AppsFlyer พบอีกข้อก็คือ ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยอดความต้องการแอปฟินเทคไม่ตกลงเลยในปี 2020 ที่ผ่านมา แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ Covid-19 ก็ตาม
รายงานดังกล่าวยังได้บอกเหตุผลว่าทำไมแอปการเงินจึงมีความต้องการสูงในไทย เพราะผู้บริโภคชาวไทยเข้าสู่วิถีชีวิตแห่งฟินเทค มีการใช้งานแอปการเงินบนมือถือหลากหลายประเภท โดยแอปด้านการลงทุนเป็นแอปที่ได้รับความนิยมสูงสุด (31%) แอปกู้ยืมเงิน และการบริการการเงิน ซึ่งรวมแอปการชำระเงินผ่านโมบายเพย์เม้นท์ และแอปเครดิตการ์ด ตามมาด้วยสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 25% และ 24% ตามลำดับ
นักการตลาดใช้เงินน้อยลง
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูงขึ้นจะผลักดันฐานผู้ใช้งานจากนอนออแกนิค แต่ก็ไม่ใช่กรณีนี้ในช่วงล็อกดาวน์ในไทย จากรายงานระบุว่าประเทศไทยมียอดผู้ใช้งานจากนอนออแกนิคเติบโตขึ้น 32% (จาก 13.9% เป็น 18.3%) ในช่วงระหว่างไตรมาสสอง – ไตรมาสสาม ในปี 2020 แม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านการตลาดจะลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ดี นักการตลาดในไทยก็ระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน และเลือกที่จะทำรีมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น และหาผู้ใช้ใหม่ ภายหลังปิดล็อกดาวน์ เพื่อให้ทันกับความต้องการแอปฟินเทคที่เพิ่มขึ้น นักการตลาดชาวไทยได้เพิ่มงบใช้จ่ายในการทำตลาดโดยรวมเป็น 94% โดยในภาพรวม นักการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 244 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือคิดเป็นเงินไทยราว 7,320 ล้านบาท) กับการลงทุนในแอปฟินเทคเพื่อให้ได้ลูกค้าใหม่ในปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นยอดการใช้จ่าย 8% เมื่อเทียบกับตลาดโลก
AppsFlyer บอกด้วยว่า ภาพรวมอัตราการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือลดลง 20% จากโซลูชั่นด้านการต่อต้านการฉ้อโกงทางไซเบอร์ (anti-fraud) ที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยแอปบริการทางการเงินลดลง 48% แอปการลงทุนลดลง 36% ในขณะที่แอปกู้เงินลดลง 33%
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand