สำนักข่าว Bloomberg ผู้รวบรวมข้อมูล ได้เก็บข้อมูลและทำตารางเปรียบเทียบ Covid Resilience Ranking หรือความสามารถในการฟื้นตัวจาก Covid-19 ของประเทศต่าง ๆ โดยมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 10 อันดับแรกของตาราง เป็นประเทศจากภูมิภาคเอเชียถึง 7 อันดับ รวมถึงประเทศไทยที่อยู่ในอันดับ 9 ของตารางด้วย (อันดับ 1 – 10 ในเวลานั้น ประกอบด้วย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน อิสราเอล เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ไทย และนอร์เวย์)
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาพิจารณาจากชาร์ตดังกล่าวในปัจจุบัน กลับพบว่า โฉมหน้าของประเทศที่ฟื้นตัวจาก Covid-19 นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว โดย ประเทศไทยตกไปอยู่อันดับที่ 39 ของตารางเป็นที่เรียบร้อย ส่วนอันดับ 1 – 10 ในปัจจุบัน (11 กรกฎาคม 2021) ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อิสราเอล ฝรั่งเศส สเปน ออสเตรเลีย จีนแผ่นดินใหญ่ อังกฤษ และเกาหลีใต้
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ Bloomberg ให้ความสำคัญในการจัดอันดับดังกล่าว จะพบว่าตัวเลขที่มาเป็นอันดับต้น ๆ คือ สถิติการฉีดวัคซีน ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปย่อมสะท้อนภาพที่ดีกว่า โดยสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศอันดับหนึ่งของตารางในปัจจุบัน ฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ไปแล้ว 50.3% ของจำนวนประชากร ส่วนสวิสเซอร์แลนด์ (อันดับ 3 ของตาราง) ฉีดไปแล้ว 41% ของจำนวนประชากร
นิวซีแลนด์ฉีดวัคซีนแค่ 10.3% แต่ทำไมยังอยู่ในอันดับ 2 ของตาราง
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการฉีดวัคซีนที่น้อยกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าอันดับจะตกเสมอไป เพราะประเทศนิวซีแลนด์ก็ยังครองตำแหน่งอันดับ 2 ของตารางได้อย่างเหนียวแน่น ทั้ง ๆ ที่ฉีดวัคซีนไปได้แค่ 10.3% ของจำนวนประชากรเท่านั้น รัฐบาลนิวซีแลนด์ทำได้อย่างไร นี่จึงอาจเป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบ
Tracing รู้ตัวผู้ป่วย ก็ป้องกันโรคได้มากขึ้น
จากการพูดคุยกับคนไทยที่อาศัยในนิวซีแลนด์ของทีมงาน BrandBuffet เราพบว่า ปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ทำให้นิวซีแลนด์ยังแข็งแกร่งอยู่ในทุกวันนี้ มาจากการจัดการของภาครัฐ และการให้ความร่วมมือของประชาชน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี หนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลนิวซีแลนด์เลือกนำมาใช้ก็คือ การพัฒนาระบบ Contact Tracing หรือระบบอัตโนมัติเพื่อใช้ในการติดตามผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงจากโรคติดต่อ
ความสามารถของแอปพลิเคชัน Contact Tracing ที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ใช้ คือการติดตามสถานะการเดินทางของผู้คน ทั้งจากสัญญาณบลูทูธที่สมาร์ทโฟนส่งออกมา และการสแกน QR Code เพื่อเข้าใช้สถานที่ต่าง ๆ และสามารถแจ้งเตือน “ได้จริง” ในวันที่มีพบว่า ประชาชนได้เดินทางไปพบปะบุคคลที่มีความเสี่ยงหรือมีโอกาสติดเชื้อจากการเดินทาง ซึ่งรูปแบบการแจ้งของรัฐบาลนิวซีแลนด์คือการโทรศัพท์มาหาผู้ที่มีความเสี่ยงเลยโดยตรง
ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือดังกล่าวมีขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วที่เริ่มมีการระบาดของ Covid-19 โดยเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่ประเทศสิงคโปร์พัฒนาระบบ TraceTogether ขึ้นมาใช้งาน รวมถึงประเทศไทยที่พัฒนาระบบหมอชนะ (เวอร์ชันเริ่มแรกที่พัฒนาโดยกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ Code for Public ไม่ใช่เวอร์ชันปัจจุบันที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง)
ข้อดีของการใช้ระบบอัตโนมัติในการแจ้งเตือนก็คือ ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ในระดับเกือบปกติ โดยอาจมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นบ้างเมื่อต้องเช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูล (ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาด้วย แอป Contact Tracing บางตัวก็อาจใช้สัญญาณ GPS – บลูทูธในการระบุพิกัดแทน ซึ่งอาจลดภาระในการสแกน QR Code ลงได้)
อีกข้อคือการลดความตื่นกลัวของประชาชน เพราะหากข้อมูลที่ทางการดึงจากไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อแจ้งว่า ว่าพบผู้ติดเชื้อเดินทางไปตลาด ABC ประชาชนก็จะไม่กล้าไปที่ตลาดแห่งนั้น แต่ในความเป็นจริง คนที่ติดเชื้ออาจจะออกจากตลาดไปแล้วตั้งแต่เมื่อสามวันก่อน
รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประโยชน์อะไรจากแอป Contact Tracing
ในมุมของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ระบบอัตโนมัติสามารถช่วยลดปริมาณงานที่ต้องทำลงได้มหาศาล ไม่เพียงเท่านั้น การมีระบบอัตโนมัติยังทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ของสถานการณ์การติดเชื้อ Covid-19 ภายในประเทศมาอยู่ในมืออีกด้วย
จีน QR Code เปลี่ยนสี
ส่วนข้อดีของภาคธุรกิจหากมีการใช้แอป Contact Tracing อย่างเป็นรูปธรรมอาจดูตัวอย่างจากการใช้งานใน “จีน” ที่ต้องให้ประชาชนแสดง QR Code จากแอปก่อนเข้าห้างสรรพสินค้า – ร้านอาหาร โดย QR Code นี้จะเปลี่ยนสีไปตามระดับความเสี่ยงของคน ๆ นั้น ว่าไปพบปะใครมาบ้าง โดยมีสีแดง – เหลือง – เขียว (ความสามารถนี้แอปพลิเคชันหมอชนะเวอร์ชันแรกก็สามารถทำได้เช่นกัน) ประชากรแต่ละคนจะได้ QR Code ที่ generate ขึ้นมาเพื่อตัวเองเท่านั้นแบบเฉพาะบุคคลไปเลย
ทำให้ประชาชนไม่สามารถปิดบังได้ว่าตนเองมีความเสี่ยงระดับใด รวมทั้งควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อ QR Code ของตัวเองเปลี่ยนสีแล้ว กล่าวคือ ถ้าเป็นสีแดง คือ ห้ามเดินทางเลย สีเหลืองเดินทางได้เท่าที่จำเป็นในระยะจำกัด สีเขียวเดินทางได้
สิงคโปร์กับ TraceTogether
ประเทศที่รัฐบาลเข้าใจ และสามารถใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีได้ดีอีกหนึ่งประเทศก็คือ “สิงคโปร์” โดยในมุมเทคโนโลยี สิ่งที่พบในการบริหารจัดการ Covid-19 ของรัฐบาลสิงคโปร์นั้นไม่ต่างจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ นั่นก็คือการขอความร่วมมือประชาชนในการติดตั้งแอปพลิเคชัน Contact Tracing ชื่อ TraceTogether และพวกเขายังคิดเผื่อไปถึงเด็กนักเรียนระดับประถมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีสมาร์ทโฟน และพัฒนาออกมาเป็นอุปกรณ์ติดตามตัวเพื่อให้เด็ก ๆ ห้อยกระเป๋านักเรียนแทนเพื่อความปลอดภัยด้วย
การใช้เครื่องมือดิจิทัล ร่วมกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อ Covid-19 ของสิงคโปร์ลดลงในระดับไม่เกินวันละ 20 คนมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนแล้ว และรัฐบาลสิงคโปร์ก็สามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติแล้วเช่นกัน (ในวันแรกของการเปิดเทอม รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์มีการโพสต์ขอบคุณโรงเรียน คุณครู เด็ก ๆ และประชาชนด้วย)
ทีมงานผู้ดูแลแอปพลิเคชัน TraceTogether ยังได้เปิดเผยผ่านบทสัมภาษณ์โดย ChannelNewsAsia.com ด้วยว่า แอปดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากในการบริหารจัดการ เนื่องจากช่วยให้รัฐบาลสามารถระบุตัวตนของคนที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และแยกกักตัวบุคคลที่มีความเสี่ยง (แม้จะเป็นความเสี่ยงแค่เดินสวนกันในห้างสรรพสินค้า) ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้นยังสามารถระบุพื้นที่ที่อาจนำไปสู่การระบาดของ Covid-19 ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ “เวลา” โดยทีมงาน TraceTogether เผยว่า ด้วยระบบที่พวกเขามี ทำให้การปฏิบัติการดังกล่าวสั้นลง จากที่อาจใช้เวลาถึง 4 วันกว่าจะระบุตัวตนและติดตามคนที่มีความเสี่ยงทั้งหมดมากักตัว แต่ถ้ารู้จักใช้เทคโนโลยี – ระบบอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้สามารถจบได้ในเวลาเพียง 1.5 วันเท่านั้น
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดการเป็น Smart Nation ที่แท้จริงเป็นอย่างไร และคุณสมบัติใดบ้างที่รัฐบาลควรมี – ทำให้ได้จริงในทางปฏิบัติ หรืออย่างน้อย ๆ หากสามารถทำความเข้าใจใน “เทคโนโลยี” หรือระบบอัตโนมัติให้ถ่องแท้ และรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้อย่างไร ให้คุ้มค่าที่สุด แม้จะเข้าถึงวัคซีนได้ช้า แต่ประเทศไทยก็อาจไปอยู่ในจุดที่ดีกว่านี้ได้ไม่ต่างจากสิงคโปร์ – นิวซีแลนด์เช่นกัน