มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ประกาศความสำเร็จผลงานการวิจัยของทีมมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ( University of California San Francisco : UCSF) ซึ่งเป็นทีมวิจัยด้านการทำงานของคอมพิวเตอร์และสมองที่ Facebook ให้การสนับสนุน หลังมีผลการทดลองที่สามารถทำให้ผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถด้านการพูดไปแล้วอย่างสิ้นเชิงสามารถกลับมาสื่อสารได้อีกครั้งในรอบ 16 ปี
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กอธิบายถึงความสำเร็จนี้ว่า ทางทีมวิจัยสามารถ “ถอดรหัส” สิ่งที่คน ๆ นั้นคิดว่าจะพูด จากคลื่นสมองส่งออกมาจากสมองส่วนสั่งการไปยังระบบที่ควบคุมการออกเสียงได้ และเป็นการถอดรหัสในแบบที่แทบจะเรียลไทม์ (เกือบจะเร็วเท่ากับเวลาที่เราคิดและพูดออกไป) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และผลการศึกษาครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านการแพทย์ The new england journal o f medicine ด้วย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Tech.fb.com ระบุว่า สิ่งที่ผู้พิการ (เป็นอัมพาต) สื่อสารออกมาเป็นประโยคแรกให้นักวิจัยได้ทราบ เกิดขึ้นหลังจากที่เขามองจอมอนิเตอร์ที่ทักเขาไปว่า “Hello, How are you today?” ก็คือการตอบว่า “I am very good.” โดยคำตอบของผู้พิการปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอมอนิเตอร์
เว็บไซต์ของ Facebook ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปีที่ผู้ป่วยรายนี้สามารถกลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง โดยที่ไม่ต้องมีอุปกรณ์สวมศีรษะใด ๆ เพื่อพิมพ์สิ่งที่เขาอยากจะพูด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของวงการประสาทวิทยา
สำหรับเบื้องหลังของความสำเร็จ ทีมวิจัยเผยว่า มีการผ่าตัดสมองเพื่อใส่แผ่นอุปกรณ์อิเล็กโตรดลงบนพื้นผิวสมองของคนไข้ และทีมวิจัยได้พยายามสื่อสารกับผู้พิการรายนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อเก็บข้อมูลคลื่นสมองที่ส่งออกมา จากนั้น ทีมวิจัยได้นำข้อมูลดังกล่าวไปสร้างเป็นโมเดล Machine Learning เพื่อวิเคราะห์คำ หรือสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร ซึ่ง ดร. Edward Chang แห่ง Chang Lab นักประสาทวิทยาแห่ง UCSF ได้ออกมาขอบคุณ Facebook สำหรับการสนับสนุนทุนวิจัย และคำแนะนำด้านการใช้ Machine Learning ด้วย
ส่วนการนำไปใช้นั้น Facebook อาจนำไปพัฒนาวิธีควบคุมอุปกรณ์สวมศีรษะ AR หรือริสต์แบนด์ของบริษัทให้คล่องตัว และตรงกับสิ่งที่ใจคิดได้มากขึ้นก็เป็นได้