สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมทั้งทางด้านทรัพยากรการรักษาและขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคและออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดภาระเตียงเต็มที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) ที่จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ “Neutralizing Monoclonal Antibodies” (NmAbs) ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรายที่เหมาะสมตามการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งมีข้อมูลจากผลการทดลองทางคลินิกและข้อมูลการใช้จริงในสหรัฐอเมริกาที่ช่วยลดระยะเวลาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้
ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ อย่างเช่น แอนติบอดี ค็อกเทลว่า “ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล (monoclonal) สองชนิดที่ใช้ควบคู่กัน โดยวิธีหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในครั้งเดียว (single intravenous infusion) โดยยาดังกล่าวประกอบด้วย แอนติบอดีที่สกัดจากหนู VelocImmune® ซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ และแอนติบอดีที่สกัดจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งรักษาหายแล้ว โดยกลไกการทำงานของยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถตรงเข้าจับกับตัวรับบนโปรตีนรูปเดือยบนผิวของไวรัส SAR-CoV-2 ได้แน่นและเฉพาะเจาะจง ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลงและยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายมนุษย์ได้”
“ยาแตกต่างจากวัคซีน ตรงที่วัคซีนใช้สำหรับป้องกันบุคคลทั่วไปก่อนที่จะไปสัมผัสหรือรับเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) ในขณะที่กลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ซึ่งรวมถึงยาแอนติบอดี ค็อกเทล มีคำแนะนำการใช้ในกลุ่มที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อและมีอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ซึ่งไม่ต้องได้รับออกซิเจนเสริม รวมทั้งเป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง” ศ.นพ.มานพ กล่าวเสริม
จากผลการทดลองทางคลินิกระยะสาม เกี่ยวกับการใช้แอนติบอดี ค็อกเทลเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ศ.พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณากุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เข้าร่วมมากกว่า 4,000 คน โดยแต่ละคนแสดงอาการของโรคโควิด-19 มาไม่เกิน 7 วัน และอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะต้องไม่เคยได้รับยารักษาโควิด-19 มาก่อน ผลการศึกษาจากงานวิจัยดังกล่าวพบว่ายาแอนติบอดี ค็อกเทล 1,200 มก.สามารถช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดลงได้ ช่วยลดความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้ 70% และยังสามารถช่วยลดระยะเวลาความเจ็บป่วยจากโควิด-19 ลงได้ถึง 4 วัน ส่วนในแง่ความปลอดภัย พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาแอนติบอดี ค็อกเทล ยังมีโอกาสพบอาการข้างเคียงทั่วไปที่เจอได้ในยาฉีด เช่น ปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity)”
โดยผลการทดสอบจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health – NIH) [1]ระบุว่ายาแอนติบอดี ค็อกเทลมีความไวต่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น เบตา (Beta) อัลฟา (Alpha) แกมมา (Gamma) เดลตา (Delta) แต่ยังไม่มีผลการทดลองในมนุษย์ (in vivo)
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ได้กล่าวถึงการที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health – NIH) และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา (Infectious Diseases Society of America – IDSA) ต่างก็ประกาศข้อแนะนำการใช้กลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์อย่างมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization – EUA) เพื่อให้ใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการระดับน้อยถึงปานกลาง และผู้ป่วยโควิด-19ที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่ระดับรุนแรง
นอกจากนี้ ข้อมูลการใช้จริง (real world evidence) ซึ่งครอบคลุมประชากรในหลายมลรัฐของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ฟลอริดา จอร์เจีย เซาเทิร์นมินนิโซตา ไอโอวา วิสคอนซิล หรือแอริโซนา ความว่า “ภายใน 30 วันหลังผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงที่จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และ/หรือ เข้าห้องฉุกเฉินเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา อีกทั้ง กลุ่มยาดังกล่าวยังมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอีกด้วย” ดังนั้น ยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถเป็นตัวเลือกทางการรักษา เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด หากนำไปใช้ให้ตรงตามข้อบ่งใช้จะสามารถช่วยลดผลกระทบของอาการ และการติดเชื้อสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการของโรครุนแรง เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแพทย์และการดูแลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ว่าด้วยระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นลงสำหรับผู้ป่วย
“เมื่อเริ่มมีการใช้จริงในประเทศไทยในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการและปัจจัยเสี่ยงสอดคล้องกับคำแนะนำการใช้ยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและติดตามผลลัพธ์การักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความเหมาะสม และแนวทางการรักษาต่อไปในอนาคต” นพ.วีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
[1] https://www.covid19treatmentguidelines.nih.gov/therapies/anti-sars-cov-2-antibody-products/anti-sars-cov-2-monoclonal-antibodies/