ความสำเร็จของ “Starbucks” ที่ทำให้แจ้งเกิดเมื่อ 50 ปีที่แล้วในสหรัฐฯ และ 23 ปีที่แล้วในไทย คือ การนิยามตัวเองว่าเป็น “People Business Serving Coffee” และสร้างร้านให้เป็น “Third Place” ที่ผู้คนมาพักผ่อน พบปะ พูดคุย เพื่อส่งมอบประสบการณ์ Starbucks (Starbucks Experience)
ทำให้ไม่ว่าจะเจอกับการแข่งขันมากขึ้นจากเชนร้านกาแฟยุคใหม่ที่เน้นขยายสาขา ก็ยังคงทำให้ Starbucks แตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไป และสามารถรักษาฐานลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น
แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น และออกจากบ้านน้อยลง พร้อมทั้งย้ายไลฟ์สไตล์ไปอยู่กับออนไลน์มากขึ้น ทั้งอาหารการกิน การซื้อของเข้าบ้าน การดูคอนเทนต์ต่างๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็น “Third Place” ของ Starbucks จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การมาที่ “ร้านสาขา” เท่านั้น แต่ต้องขยายไปอยู่บนแพตฟอร์มดิจิทัลด้วย เพื่อเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนในทุกที่ให้ได้มากที่สุด
“แผน Starbucks ประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ปรับธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ ความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยเฉพาะ COVID-19 ทำให้นิยามบ้านหลังที่ 3 ของ Starbucks เปลี่ยนไป จากเดิมลูกค้ามาที่ร้าน และใช้เวลาพักผ่อนกับเพื่อน
แต่การเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้ความเป็น Third Place ของ Starbucks ต้องปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองความสะดวก รวดเร็ว เว้นระยะห่าง ลดการสัมผัส” คุณเนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด เล่าถึงการปรับตัว
Third Place ไม่จำกัดแค่ “สาขา”
จากจุดเริ่มต้น “Third Place” ของ Starbucks สร้างขึ้นในรูปแบบ Sit-and-stay ให้คนได้นั่งพักผ่อน พูดคุยกัน แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ได้ขยายรูปแบบร้านหลากหลาย เพื่อปรับเข้ากับโลเกชั่น และไลฟ์สไตล์ – ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
คำจำกัดความ “Third Place” ในวันนี้ของ Starbucks จึงไม่จำกัดอยู่แค่รูปแบบ “สาขา” ที่เข้ามาซื้อ และใช้เวลาอยู่ภายในร้านเท่านั้น แต่เป็นการสร้างฟอร์แมต “ช่องทางการให้บริการ” ที่หลากหลาย โดยในปัจจุบัน Starbucks ประเทศไทยมี 422 สาขา โดยเฉลี่ยเปิดสาขาใหม่ปีละ 25 สาขา
ความเป็น Third Place ส่งมอบประสบการณ์ Starbucks ในประเทศไทย ปัจจุบันประกอบด้วยช่องทางการให้บรากรหลักดังนี้
– Sit-and-stay รูปแบบร้านดั้งเดิมที่ลูกค้ามานั่งดื่มกาแฟที่ร้าน และใช้เวลาภายในร้าน ไม่ว่ารื่นรมย์ไปกับเครื่องดื่มแก้วโปรด หรือนั่งดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มประเภทอื่นไปด้วย ทำงานไปด้วย หรือเป็นสถานที่พบปะพูดคุยกัน
– On-the-go รูปแบบที่ตอบโจทย์การซื้อที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น แวะซื้อก่อนไปทำงาน หรือก่อนกลับบ้าน หรือเป็นจุดนับพบเพื่อน
– Drive-thru ปัจจุบันมี 36 สาขาทั่วประเทศ ตอบโจทย์ความสะดวก และปลอดภัย แวะซื้อโดยไม่ต้องลงจากรถ และระหว่างการเดินทางในชีวิตประจำวัน
– Cashless Stores ในจำนวนร้านสาขาทั้งหมดของ Starbucks ในไทย มีร้านไร้เงินสดในปัจจุบัน 50 สาขา และเตรียมขยายโมเดลนี้เพิ่มอีก 30 สาขา ทำให้จะมีทั้งหมด 80 สาขา โดยเน้นเปิดตามอาคารสำนักงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์ดิจิทัล และตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการเน้นลดการสัมผัส และมีแนวโน้มใช้เงินสดน้อยลง
– Mobile Order & Pick Up บริการสั่งเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชัน Starbucks Thailand ล่วงหน้า และเข้ามารับที่ร้านแบบไม่ต้องรอคิว ช่วยลดการสัมผัส และตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ปัจจุบันครอบคลุมกว่า 300 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
– Delivery ทั้งจับมือกับพันธมิตรให้บริการ Food Delivery ทั้ง Grab, Foodpanda, LINE MAN และล่าสุดเปิดบริการ Delivery ของตัวเอง โดยใช้ “สาขา” ในแต่ละโลเกชั่นต่างๆ เป็น Network ทำเครื่องดื่มและอาหารตามออเดอร์ที่เข้ามาและ Riders ของแอปฯ สั่งอาหารเหล่านี้ จะจัดส่งจากสาขานั้นๆ ถึงปลายทาง
ลุยดิจิทัล เปิด Delivery ของตัวเอง – เตรียมขายแก้ว–ของสะสม บน e-Marketplace
หลังจากที่ Starbucks จับมือกับแพลตฟอร์ม Food Aggregator ให้บริการ Delivery ล่าสุดในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ แอปฯ Starbucks Thailand มีฟีเจอร์ใหม่คือ “Starbucks® Delivers” ลูกค้าสั่งเครื่องดื่ม และอาหารได้โดยตรงจากร้าน Starbucks ผ่านฟีเจอร์ดังกล่าว โดยลูกค้าที่สั่งครบ 300 บาท ฟรีค่าจัดส่ง ซึ่งในช่วงแรกให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน จากนั้นจะขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติม
เหตุผลที่ Starbucks ประเทศไทยลุยบริการ Delivery เอง ทั้งที่มีบริการอยู่บนแอปฯ Food Delivery อยู่แล้ว นั่นเพราะ
– รักษาฐาน Loyal Customer ที่เป็นสมาชิก Starbucks Reward ที่ปัจจุบันมี 1.7 ล้านสมาชิก เพื่อทำให้สมาชิกยังคงได้เบเนฟิตสะสม “ดาว” ซึ่งเป็น Loyalty Program สำคัญของ Starbucks ในการรักษาฐานลูกค้า
– สร้างฐาน Big Data บนแพลตฟอร์มของตัวเองได้มากขึ้น แม้ว่า Starbucks จะมีการเก็บ Data อยู่แล้ว ไม่ว่าจากฐานลูกค้าสมาชิก การใช้งานบนแอปฯ Starbucks Thailand จาก Social Listening ของช่องทาง Social Media การตอบรับของลูกค้าจากหน้าร้าน แต่การเปิดฟีเจอร์ให้สั่ง Delivery ได้โดยตรง ย่อมทำให้ Starbucks สามารถเก็บ First-party Data ของตัวเองได้โดยตรง ซึ่งย่อมดีกว่าผ่านจากแพลตฟอร์มอื่น
– เสริมความแข็งแกร่งของ Digital Ecosystem ของแอปฯ Starbucks Starbucks ให้มีบริการครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งการมีฟีเจอร์บริการ Delivery บนแอปฯ ของตัวเอง ช่วยเพิ่มความถี่ของลูกค้ามาใช้งานแอปฯ และทำให้บริการช่องทางดิจิทัลของ Starbucks เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
– เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานของเครื่องดื่ม – อาหาร เหมือนเช่นกลุ่มเชนร้านอาหาร ที่พัฒนาบริการ Delivery ของตัวเอง นอกจากเพื่อสร้าง Business Ecosystem ให้ครบวงจรแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ ทำให้บริหารจัดการและควบคุมคุณภาพมาตรฐานของอาหาร บรรจุภัณฑ์ และการจัดส่งได้ดีกว่า
“การเปิดตัวแอปฯ ฟีเจอร์ Starbucks® Delivers ในไทย เราไม่คิดว่าช้าไป เพราะอันที่จริงเรามีแผนมานานแล้ว แต่ช่วง COVID-19 เร่งรัดให้เร็วขึ้น คิดว่าไม่ช้าเกินรอ และมาในเวลาเหมาะสม เนื่องจากขณะนี้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ขณะเดียวกัน จุดสำคัญของการทำฟีเจอร์ Delivery เอง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้เบเนฟิตสะสมดาว เพราะถ้าเราไม่มีฟีเจอร์จัดส่งเอง ต้องให้บริการผ่านพาร์ทเนอร์ ลูกค้าจะเสียประโยชน์ตรงนี้ เราอยากให้เบเนฟิตนี้กลับไปสู่ลูกค้าของเราให้ได้มากที่สุด และทำให้ Starbucks เชื่อมต่อกับลูกค้า เข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น”
นอกจากนี้ Starbucks Thailand เตรียมลุยอีคอมเมิร์ซ โดยเร็วๆ นี้จะเปิด “ร้านค้าออนไลน์” อย่างเป็นทางการบนแพลตฟอร์ม “e-Marketplace” เพื่อจำหน่าย Merchandise ไม่ว่าจะเป็นแก้ว ของสะสม ขนมในบรรจุภัณฑ์บางประเภท เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าได้ซื้อได้ทุกที่ ทุกเวลา
โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับแพลตฟอร์ม e-Marketplace คาดว่าอีกไม่นาน จะได้เห็นว่า Starbucks ประเทศไทยจะเปิด Online Official Store กับแพลตฟอร์มใด
“เราเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โลกระบาดทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ร้าน Starbucks จะยังคงเป็นสถานที่ให้ผู้คนได้กลับมา reconnect กัน ผ่านกาแฟแก้วโปรด ด้วยมาตรการการดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อให้เราได้ส่งมอบประสบการณ์ Starbucks ให้กับลูกค้าได้อย่างเต็มรูปแบบ” คุณเนตรนภา กล่าวทิ้งท้าย