ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของ Covid-19 ในประเทศไทยขณะนี้ เชื่อว่าภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการชะงักงันของภาคการผลิตจำนวนมาก เนื่องจากขาดแคลนกำลังคน ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามของผู้ให้บริการ 5G ของไทยอย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และเอไอเอส กับการนำเครือข่าย 5G มาสร้างโซลูชัน Smart Factory หรือโรงงานอัจฉริยะ ทั้งเพื่อตอบโจทย์นโยบาย Industry 4.0 ของรัฐบาล และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวข้ามความท้าทายครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน
สำหรับความพยายามที่เกิดขึ้น ในฝั่งของ ทรู คอร์ปอเรชั่น คือการจับมือกับ Mitsubishi Electric เจ้าของแพลตฟอร์ม e-F@ctory และบริษัทเลิศวิลัยแอนด์ซันส์ มาร่วมพัฒนาเป็นโซลูชันสำหรับสายการผลิตอัจฉริยะเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไทย
ดึงจุดแข็ง e-F@ctory มาใช้ในไทย
จุดเด่นของระบบ e-F@ctory นั้น คุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า มาจากแพลตฟอร์มชื่อ iQ platform ที่สามารถเชื่อมการทำงานของเครื่องจักรเข้ากับระบบ IT ได้โดยตรง จึงสามารถรายงานผลได้แบบเรียลไทม์จากหน้างาน ที่สำคัญ ระบบดังกล่าวมีการพัฒนาและใช้งานจริงมาแล้วกว่า 10 ปีในประเทศญี่ปุ่น และมีการปรับใช้แล้วกับโรงงานทั่วโลกกว่า 10,000 แห่ง
คุณวิเชียรยังได้ยกตัวอย่างโรงงานที่ติดตั้งระบบ e-F@ctory ในจังหวัดนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่นว่า สามารถสร้างได้แม้ในพื้นที่ขนาดเล็กมาก เนื่องจากเป็นโรงงานแบบ Automation ไม่มีมนุษย์ในโรงงาน จึงสามารถวางสายการผลิตได้ติด ๆ กัน โดยไม่ต้องเว้นทางเดินสำหรับพนักงานมนุษย์อีกต่อไป
“ส่วนในประเทศไทย ทางมิตซูบิชิได้สร้างโรงงานต้นแบบของ e-F@ctory ไว้ใน EEC โดยมีการร่วมมือกับทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงงานในการวางแผนการผลิต การปรับปรุงคุณภาพ การลดต้นทุนการผลิต การควบคุมค่าใช้จ่าย และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย”
สร้างบุคลากรเพิ่มปีละ 6,000 คน
ส่วนในด้านบุคลากรที่จะมาควบคุมโรงงานอัจฉริยะนั้น ทาง Mitsubishi Electric มองว่าประเทศไทยยังมีความขาดแคลน ที่ผ่านมา จึงได้จัดทำหลักสูตรด้าน Automation & Robotic เพื่อฝึกอบรมนักศึกษาไทยในสถาบันต่าง ๆ ให้มีความเชี่ยวชาญ จะได้เข้ามาดูแลภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตได้ด้วย โดยทางบริษัทเผยว่า สามารถฝึกอบรมบุคลากรได้ถึงปีละ 6,000 คนเลยทีเดียว
ด้าน ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด หนึ่งในพันธมิตรของ Mitsubishi Electric ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Automation และ Industrial Robot ได้กล่าวเสริมถึงเทคโนโลยีของบริษัทที่สามารถนำมาช่วยสร้าง Industry 4.0 ให้ประเทศไทย นั่นคือหุ่นยนต์ AMR (Autonomous Mobile Robot) ซึ่งหาก 5G พร้อม และ AMR พร้อม การสร้าง Smart Factory ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงกลุ่มเป้าหมายที่ทางมิตซูบิชิ – ทรู – เลิศวิลัย มองเห็น พบว่ามีทั้งกลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และกลุ่มโรงงาน SME ที่ถึงเวลาปรับปรุงเป็นโรงงานอัตโนมัติ โดยประเทศไทยมีโรงงานในลักษณะดังกล่าวประมาณ 300,000 แห่ง และคาดว่าในแต่ละปีจะมีโรงงานที่พร้อมลงทุนประมาณ 10,000 – 20,000 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท
เอไอเอส x Omron สร้างโรงงานที่ผลิตได้แบบยืดหยุ่น
ขณะที่ AIS Business 5G ก็มีการจับมือกับค่าย Omron ยักษ์ใหญ่ด้าน Smart Factory จากประเทศญี่ปุ่น พัฒนาโซลูชันออกมาตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไทยเช่นกัน โดยจุดที่ AIS Business 5G และ Omron มองว่าเป็นความท้าทายก็คือ ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเทคโนโลยี โรงงานต่าง ๆ กำลังเผชิญกับการผลิตที่ต้องการความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งหากโรงงานไม่สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้อย่างยืดหยุ่น (เช่น เปลี่ยนจาก Product A เป็น Product B ได้อย่างรวดเร็ว) จะกลายเป็นต้นทุนสำคัญของโรงงานในอนาคตได้
นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นความท้าทายของโรงงานยังมีเรื่องของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้วย
ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่โรงงานต้องแบกรับคือ โรงงานที่แม้จะเป็นการผลิตแบบ Local แต่ก็ต้องผลิตให้มีมาตรฐานสูงมากพอที่จะตอบโจทย์ตลาดโลกได้ด้วย ทั้งหมดนี้ AIS และ Omron จึงมองว่าการปรับตัวสู่ Smart Factory อาจเป็นทางออกสำหรับผู้ประกอบการในอนาคต
สำหรับเทคโนโลยีของ Omron นอกจากจะมีระบบอัจฉริยะชื่อ ILOS+S แล้ว บริษัทยังมีอุปกรณ์สำหรับโรงงานอัตโนมัติกว่า 200,000 รายการที่สามารถช่วยสร้างสายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น รวมถึงการตรวจจับด้วย Sensors หรือกล้องความละเอียดสูง เพื่อเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และนำไปประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้คาดการณ์ความผิดปกติ และนำไปสู่การแก้ไขก่อนเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้
คุณศิริวรรณ คูอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด เผยว่า ที่ผ่านมา พบการลงทุนในหุ่นยนต์ เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เฉพาะหุ่นยนต์พบการลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาท แม้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 และทาง Omron คาดการณ์ว่าในปีนี้ก็จะเติบโต 20 – 30% ด้วยเช่นกัน
ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ทาง AIS Business 5G และ Omron มองเห็นว่าจะขยับตัวมาสู่โรงงานอัจฉริยะนั้น หลัก ๆ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ดิจิทัล กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน–เซมิคอนดัคเตอร์ ตลอดจน อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องอุปโภค และยา
ด้านคุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร AIS Business กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ระหว่าง AIS และ Omron จะเปิดขีดความสามารถใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม บนโครงสร้างพื้นฐาน 5G และดิจิทัลเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต อาทิ
- ความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นต่อข้อกำหนด (Flexible Manufacturing)
- การลดต้นทุนการผลิตสินค้าจำนวนน้อย (Small Lot Size Production)
- การสอบย้อนกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม (Traceability)
- ระบบซ่อมบำรุงเชิงรุก (Predictive Maintenance)
“ด้วยโซลูชันบนโครงสร้างพื้นฐาน 5G Private Network ที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมต้นทุนได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มความแม่นยำ ลดเวลาสิ้นเปลืองการใช้แรงงานทำให้บุคลากรสามารถใช้เวลากับการทำงานด้านอื่นได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดคือภาพของการผลิตแบบอัจฉริยะ หรือ Smart Manufacturing นั่นเอง”
ผู้บริหารเอไอเอสยังคาดการณ์ด้วยว่า จะมีการลงทุนสร้าง 5G Smart Factory ในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว