สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น กระทั่งพุ่งสูงสุดกว่า 2 หมื่นคนต่อวันในเดือนสิงหาคม ภาครัฐประกาศมาตรการล็อกดาวน์ปิดสถานที่เสี่ยงหลายกิจการ กำหนดเวลาเปิด-ปิด ร้านค้าปลีก และช่วงเวลาเคอร์ฟิวในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม
อีกปรากฎการณ์ที่ได้เห็นในช่วงล็อกดาวน์นี้ คือ สินค้าขาดชั้นวาง ในร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนสิงหาคม สินค้าในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอีกหลายสินค้าเกลี้ยงชั้นวาง แม้ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น แต่สินค้าหลายอย่างก็ยังขาดเชลฟ์ หาซื้อไม่ได้
4 สาเหตุ ทำไมสินค้าเกลี้ยงชั้นวางร้าน 7-Eleven
เหตุการณ์สินค้าขาดเชล์ฟ จำนวนมากพร้อมๆ กัน ในร้านเซเว่นฯ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นบ่อยหนัก แม้อยู่ในช่วงล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว แต่ผู้บริโภคก็ยังออกไปซื้อสินค้าได้ปกติ จึงไม่น่าจะเกิดจากความกังวลจากโควิดแล้วแห่ตุนสินค้า
แต่สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในเดือนสิงหาคม รวมทั้งการติดเชื้อในภาคอุตสาหกรรม โรงงานผลิตสินค้า และระบบขนส่ง เป็นสาเหตุหลักที่ส่งกระทบต่อการบริหารซัพพลายเชนการผลิตสินค้าและจัดจำหน่ายทั้งระบบ จนทำให้สินค้าขาดชั้นวาง
เรียกว่าปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ ระบบขนส่งกระจายสินค้า การบริหารคลังสินค้าของเซเว่นฯ การขนส่งจากคลังสินค้าไปร้านเซเว่นฯ และเมื่อร้านรับของแล้วพนักงานจัดวางได้ทันเวลาหรือไม่
คุณเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL อธิบายว่าปัญหาที่ทำให้สินค้าหลายตัว โดยเฉพาะกลุ่มอาหารขาดชั้นวางในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในช่วงก่อนหน้านี้ มาจาก 4 สาเหตุ
1. การประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม กำหนดให้ร้านสะดวกซื้อเปิดเวลา 4.00 ถึง 20.00 น. ช่วงเวลาที่ร้านเซเว่นฯ เปิดบริการได้ลดลง ทำให้พนักงานมีเวลาจำกัดในการนำสินค้ามาวางบนชั้นวาง
2. การกำหนดเวลาปิดร้านสะดวกซื้อ 20.00 น.ทำให้กระทบระบบเติมสินค้าที่เดิมทำในช่วงกลางคืน
3. ศูนย์กระจายสินค้าและซัพพลายเออร์บางราย มีปัญหาด้านการผลิตและส่งสินค้า จากผลกระทบโควิด
4. สินค้ากลุ่มอาหารพร้อมรับประทานขายดี เพราะลูกค้าซื้อสินค้าใกล้บ้านลดการเดินทางในช่วงโควิด
“ต้องยอมรับว่าการที่สินค้าขาดชั้นวาง เป็นการเสียโอกาสทางการขาย และต้องเร่งแก้ไข”
จากสถานการณ์สินค้าบางกลุ่มมีปัญหาด้านการผลิตจนทำให้ขาดจากชั้นวาง ร้านเซเว่นฯ จึงมีการนำสินค้าอื่นมาทดแทน เช่น กลุ่มของสด ทั้งผักสดประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็น พริก กะเพรา เห็ด คะน้า ต้นหอมผักชี แตงกวา มะนาว ผักกาดขาว หอมแดง กระเทียม รวมทั้งผลไม้สด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคซื้อสินค้าใกล้บ้านไปปรุงอาหารรับประทานเอง ลดการเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ต บางสาขาได้นำสินค้าที่อยู่ในความสนใจกินเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน อย่าง กระชาย ขิงสด มาวางขายด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด อาทิ กลุ่มสินค้าอิ่มคุ้มราคาประหยัด สินค้าแพ็คใหญ่สำหรับครอบครัว กลุ่มเฮลธ์แคร์ โปรดักท์ เจล แอลกอฮอล์ สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร เกาะกระแสป้องกันโควิด เป็นต้น มาทำตลาดเพิ่มขึ้น
ครึ่งปีแรกกำไรร้านเซเว่นฯ ลดลง 12%
ในสถานการณ์โควิดส่งผลให้ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แม้ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 74,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 4,822 ล้านบาท ลดลง 12% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 6.4% ทั้งด้านผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน ค่าบริหารงานร้านสะดวกซื้อ และค่าเสื่อมราคา
โดยยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 67,767 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิลเฉลี่ย 82 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 823 คน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 841 คนต่อวัน
สัดส่วนรายได้จากการขาย 74.9% มาจากสินค้ากลุ่มอาหาร และ 25.1% มาจากสินค้าอุปโภค ซึ่งในกลุ่มนี้มีแนวโน้มยอดขายลดลง จากกำลังซื้อผู้บริโภคได้รับกระทบจากโควิด
“เดลิเวอรี่-ออนไลน์” โตแรง ครองรายได้ 10%
ในสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน การระบาดแต่ละระลอกที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคออกจากบ้านลดลง อีกทั้งมาตรการจำกัดเวลาเปิดปิดร้านสะดวกซื้อในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้จำนวนลูกค้าเข้าร้านเซเว่นฯ ลดลงตามไปด้วย จากเดิมลูกค้าหน้าร้านเฉลี่ย 1,200 คนต่อวัน ช่วงโควิดเหลือ 800 คนต่อวัน
CPALL จึงปรับกลยุทธ์การขายร้านเซเว่นฯ ให้เป็นรูปแบบ ออฟไลน์ทูออนไลน์ (O2O) มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ด้วยการให้บริการ 7-Eleven Delivery สั่งซื้อสินค้าผ่านแอป มีพนักงานเซเว่นฯ มาส่งสินค้าให้ รวมทั้งบริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ผ่าน All Online และ 24Shopping เลือกได้ให้ส่งสินค้าที่บ้านหรือรับที่ร้านเซเว่นฯใกล้บ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การให้บริการ “เดลิเวอรี่” ใช้พนักงานในร้านเซเว่นฯ แต่ละสาขาไปส่ง เพราะงานที่สาขาลดลงจากจำนวนลูกค้าที่เข้าร้านลดลง และเซเว่นฯ ไม่มีนโยบายลดคน จึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในร้านให้พนักงานส่งเดลิเวอรี่ที่โดยมีผลตอบแทนพิเศษให้พนักงานส่งด้วย
ปัจจุบันช่องทาง O2O ทั้งเดลิเวอรี่และออนไลน์ได้กลายเป็นพระเอก เข้ามาเพิ่มรายได้ให้ร้านเซเว่นฯ สามารถชดเชยหน้าร้านจากผลกระทบในช่วงโควิด สัดส่วนยอดขายจาก O2O ไตรมาสสองกว่า 10% ของยอดขายทั้งหมดแล้ว เมื่อดูจากรายได้ในไตรมาสสองที่ 74,971 ล้านบาท แสดงว่ามาจากช่องทาง O2O ราว 7,400 ล้านบาท
ดังนั้นหากดูแนวโน้มรายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่และออนไลน์ร้านเซเว่นฯ ทั้งปี 2564 ที่สัดส่วน 10% ของยอดขาย คาดว่าจะมีรายได้กว่า 30,000 ล้านบาท โดยเปรียบเทียบจากรายได้รวมเซเว่นฯ ในปี 2563 ที่จำนวน 300,705 ล้านบาท