ต้องยอมรับว่าในช่วงนี้ มีการจับมือและเปิดตัวพาร์ทเนอร์เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเป็นการร่วมมือของ Mitsubishi Electric, AIS 5G และ TKK ในการพัฒนา Factory Automation Remote Solution ด้วย 5G Smart Manufacturing ออกมาให้ภาคอุตสาหกรรมบ้านเราได้ปรับตัวกัน
สิ่งที่น่าสนใจอาจเป็นการให้สัมภาษณ์ของคุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่มองว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องยกระดับสายการผลิตในวงการอุตสาหกรรม และสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Factory Automation อย่างแท้จริงได้แล้ว เพราะสองสิ่งนี้จะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทข้ามชาติได้ และช่วยดึงไม่ให้พวกเขาย้ายฐานการผลิตยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า
แต่การเดินหน้าสร้าง Factory Automation ต้องมีพาร์ทเนอร์ ล่าสุดทางค่าย Mitsubishi Electric จึงจับมือกับ AIS ผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ของไทย และบริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม มาร่วมพัฒนาโซลูชั่น e-F@ctory ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
ยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วย e-F@ctory บน 5G
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมบนโครงข่าย 5G ของ AIS ให้เข้าใช้งานระบบ Factory Automation ของ Mitsubishi Electric ภายใต้ความเชี่ยวชาญของบริษัท TKK ในการพัฒนาระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากโรงงานจะได้ใช้โซลูชั่น Factory Automation ที่เป็นพื้นฐานแล้ว ยังมีอีกหลายโซลูชันที่ตอบสนองการทำงานที่แตกต่าง และเหมาะกับสถานการณ์ COVID-19 ที่การทำงานแบบระยะไกลมีความสำคัญมากขึ้น เช่น
· Remote Monitoring – จะช่วยให้ ผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือ ผู้ดูแลเครื่องจักร สามารถตรวจสอบสถานะการผลิต สถานะเครื่องหรือ ประสิทธิภาพการผลิต ได้จากทุกที่ ทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตในภาพรวมได้ชัดเจน และยังมองเห็นปัญหาในภาพรวมเพื่อแก้ไขต่อไป
· Remote Maintenance – สามารถลดระยะเวลาการเข้าหน้างานไปซ่อมบำรุงรักษา หรือตรวจสอบการทำงานเครื่องจักร และสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ทำให้ลดต้นทุนค่าเสียโอกาส ที่สายการผลิตจะต้องหยุดลง
· Remote Development – จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาพรวมในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในโรงงาน ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และจากที่ไหนก็ได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างแผนก
· Remote Service – บริการให้คำปรึกษาแบบทางไกลได้ทันทีผ่าน Mobile Network จากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของ Mitsubishi และ Partners เมื่อเครื่องจักรมีปัญหาสามารถเข้าแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้จากระยะไกลได้อย่างรวดเร็ว
คุณกัลยาณี คงสมจิตร ประธานบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้มีการยกตัวอย่างประสบการณ์การพัฒนา Factory Automation ที่ผ่านมาของบริษัทว่า มีการดูแลและพัฒนาโซลูชัน Factory Automation ให้กับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ นั่นคือ เกรทวอลล์มอเตอร์ ฮอนด้า และนิสสัน พาวเวอร์เทรน มาแล้ว
สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย คุณกัลยาณีให้ทัศนะว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยังไม่อาจก้าวขึ้นมาเหนือ Industry 3.0 ได้ และมองว่าถึงเวลาต้องปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอุปกรณ์ IoT เพื่อทำให้เครื่องจักรสามารถสื่อสารกับเครื่องจักรด้วยกันเองได้ ซึ่งในท้ายที่สุดจะทำให้เครื่องจักรสามารถวิเคราะห์ปัญหาเองได้โดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์
ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย 5G อีกหนึ่งหัวใจหลักของ Factory Automation คุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวถึงสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมไทยว่า “Factory Automation Remote Solution ถือเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่มีความสำคัญ สามารถตอบสนองการทำงานที่แตกต่าง และเหมาะกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องทำงานแบบระยะไกล โดยเฉพาะการทำงานผ่านเครือข่าย 5G ที่มีศักยภาพและมีความเสถียร”
“ความตั้งใจของเราและพันธมิตรในครั้งนี้ คือการสร้างความร่วมมือแบบ End-to-End เพื่อพัฒนาโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรม และตอกย้ำเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกต่อไป ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่เพียงแค่ต้นแบบของการพัฒนา แต่วันนี้เราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมให้มีความสามารถทัดเทียมกับโรงงานภาคการผลิตชั้นนำด้วยโซลูชั่น สินค้า และบริการที่ใช้งานได้จริง” คุณธนพงษ์กล่าวปิดท้าย