ในขณะที่หลายธุรกิจต้องสูญเสียรายได้เพราะโดนคลื่นโควิด-19 ซัดเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สำหรับ “บริการสั่งซื้อของสดออนไลน์” ผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ “E-Grocery” ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่เติบโตก้าวกระโดดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เห็นได้จากยอดการสั่งซื้อของสดผ่านแอปต่างๆ ที่เติบโตขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด จนสัดส่วน E-Grocery เพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในปี 2559 เป็น 3% ของยอดรวมตลาด Grocery และคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จะเติบโตเป็น 5.7%
ขณะเดียวกันการแข่งขันก็ร้อนแรงเช่นกัน เพราะทำให้เกิด Application สั่งของสดขึ้นหลายแอปฯ ทั้งจากผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนแพลตฟอร์ม Food Delivery และตลาดสดที่อยู่ในโลกออฟไลน์ จากที่ผ่านมาที่มีผู้เล่นรายหลัก 2-3 แบรนด์ เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด การเติบโตของตลาด E-Grocery เกิดจากปัจจัยอะไร Brand Buffet พามาค้นคำตอบ พร้อมเคส “Freshket” และ “HappyFresh” ที่ต่อยอดธุรกิจสั่งซื้อของสดออนไลน์ในช่วงโควิด จนยอดขายพุ่งไม่หยุด
3 เหตุผล ดันตลาด E-Grocery ในไทยมาแรง โตสวนวิกฤต
แอปสั่งซื้อของสดหรือวัตถุดิบอาหารเกิดขึ้นในไทยมาสักพักแล้ว แต่ที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมไปเดินซื้อของสดที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยตนเอง เพราะสามารถเลือกได้ ทำให้แอปสั่งซื้อของสดเป็นที่นิยมในเฉพาะกลุ่ม กระทั่งในช่วง 1-2 ปีมานี้ หลายคนเริ่มหันมาสั่งซื้อของสดผ่านแอปกันมากขึ้น ซึ่งหากจะวิเคราะห์สาเหตุที่ผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาสั่งซื้อของสดและวัตถุดิบอาหารผ่านออนไลน์มากขึ้น จนผลักดันให้ตลาด E-Grocery เติบโตอย่างอย่างรวดเร็ว นั่นเพราะปัจจัย 3 ด้าน
1.โควิด-19 ทำพฤติกรรมผู้บริโภคทำอาหารกินเองที่บ้าน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนใช้ชีวิตอยู่บ้าน และ Work Form Home มากขึ้น ทำให้เกิดเทรนด์การทำอาหารกินเองที่บ้านเพื่อคลายเหงากันมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ทั้งการดูแลสุขภาพ และลดความเสี่ยงการออกนอกบ้าน จนกลายเป็นปัจจัยให้ธุรกิจสั่งซื้อของสดและวัตถุดิบอาหารออนไลน์เติบโต จะเห็นได้จากยอดการสั่งซื้อของสดและวัตถุดิบอาหารจากแอปฯ ต่างๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรก มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น
เช่นเดียวกับในปีนี้ เมื่อการระบาดของโควิด-19 กลับมารุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดสดหลายแห่งต้องปิดบริการชั่วคราว และหลายคนไม่อยากพาตัวเองออกไปอยู่ในแหล่งชุมชน เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ยิ่งทำให้ผู้บริโภคหันมาสั่งซื้อของสดผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อทำอาหารทานเองที่บ้าน ทำให้ตลาด E-Grocery ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2.โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคสั่ง Food Delivery มากขึ้น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดเทรนด์การทำอาหารกินเองที่บ้าน แต่พฤติกรรมการสั่ง Food Delivery ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งมาจากมาตรการรัฐที่สั่งให้ร้านอาหารห้ามนั่งกินที่ร้าน ให้ซื้อกลับไปกินที่บ้าน ขณะที่บางคนไม่อยากเสียเวลาเดินทาง ความนิยมในการสั่ง Food Delivery นี้สะท้อนได้จากผลสำรวจของคันทาร์ เวิร์ลพาแนล พบว่า คนไทยกว่า 38% สั่ง Food Delivery มากกว่าช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาด สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2563 สูงกว่า 66-68 ล้านครั้ง หรือเติบโตจากปี 2562 ประมาณ 78-84%
แต่การจะสั่ง Food Delivery มารับประทานคงทำไม่ได้ทุกวัน ด้วยข้อจำกัดด้านสภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาอาหารของ Food Delivery ค่อนข้างสูง นั่นจึงกลายเป็น Pain Point สำหรับผู้บริโภคที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงเวลานี้ และหันมาสั่งของสดทำอาหารกินเองที่บ้านแทน
3.สถานการณ์การแข่งขันของตลาด E-Grocery ร้อนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้เล่นเข้ามามากขึ้น โดยที่ผ่านมาตลาดนี้มีผู้เล่นรายหลัก 2-3 แบรนด์ และเป็นการแข่งขันของแอปสั่งซื้อของสดเท่านั้น ทั้งยังเน้นทำตลาดกับกลุ่มร้านอาหาร แต่ในเวลาเพียง 1 ปีกว่า ผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้กระทั่งตลาดสดที่เคยอยู่ในโลกออฟไลน์ และแพลตฟอร์ม Food Delivery ต่างก็หันมาทำแอปสั่งของสดออนไลน์เพราะเห็นโอกาสของตลาด E-Grocery ที่เติบโตมากขึ้น และทุกค่ายต่างมุ่งเจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป อย่าง CP Freshmart, BIG C, Tops Online, Tesco Lotus, ตลาดยิ่งเจริญ ที่หันมาทำแอปพลิเคชั่นซื้อของสดในตลาดส่งถึงบ้าน และ Line Man ผนึกตลาดอตก. สามย่าน และยิ่งเจริญ กับการเปิดตลาดสด-ของแห้งออนไลน์ ก็ยิ่งเขย่าให้ตลาดนี้แข่งขันรุนแรงมากขึ้น
Freshket จับเทรนด์คนทำอาหารกินเองที่บ้าน ขยายตลาดสู่กลุ่มคอนซูเมอร์
เมื่อ 4 ปีแล้ว Freshket เป็นแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพสายพันธุ์ไทยที่เกิดจากการมองเห็นปัญหาของร้านอาหารขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูกได้ ทำให้ คุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ อดีตซัพพลายเออร์ของสดที่ตลาดไทย เปิดบริษัท โพลาร์ แบร์ มิชชั่น จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชั่น Freshket ขึ้น โดยวางตัวเป็นตัวกลางเชื่อมโยงเกษตรกรและร้านอาหารให้ซื้อขายกันโดยตรง จากนั้นก็เริ่มเรียนรู้และปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จนกลายเป็น Food Supply Chain ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำหน้าที่ตั้งแต่คัดเลือก จัดเก็บวัตถุดิบ ไปจนถึงส่งตรงถึงร้านอาหาร
แม้ว่าขนาดตลาด E-Grocery ในช่วงที่ผ่านมายังเล็ก แต่ธุรกิจ Freshket ก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานลูกค้าร้านอาหารกว่า 4,000 แห่ง จุดเด่นที่ทำให้ Freshket มีการเติบโตต่อเนื่อง มาจากความหลากหลายของอาหารสดและวัตถุดิบที่มีให้เลือกซื้อกว่า 5,000 รายการ ตั้งแต่เนื้อสัตว์ ผัก จนถึงอาหารแห้งและเครื่องปรุงรส ประกอบกับราคาที่ไม่แตกต่างจากตลาดสด รวมถึงการจัดส่งที่รวดเร็ว ทั้งยังกำหนดช่วงเวลาในการส่งได้ ทำให้ร้านอาหารสามารถวางแผนการสั่งวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น
กระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ร้านอาหารจำนวนมากปิดบริการ ขณะที่หลายรายก็ลดปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบเพราะยอดขายลดจากมาตรการห้ามนั่งกินในร้าน ทำให้ Freshket ต้องนำจุดแข็งที่มีมาพลิกเป็นโอกาสด้วยการรุกเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์คนที่หันมาทำอาหารกินเองที่บ้านในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ซึ่งการหันมาลุยตลาดคอนซูเมอร์ในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการขยายตลาดไปตามเทรนด์ แต่เป็นการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ Frshket ไม่เพียงรักษาธุรกิจให้อยู่รอด รายได้ยังเติบโตก้าวกระโดดด้วย
ในปี 2561 รายได้ 46 ล้านบาท
ในปี 2562 รายได้ 142 ล้านบาท
ในปี 2563 รายได้ 308 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 118% จากปีที่ผ่านมา
HappyFresh ขยายพื้นที่บริการทั่วกรุง รับดีมานต์ซื้อของสดโต
เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ HappyFresh แอปพลิเคชั่นซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาทำตลาดในไทย โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับออเดอร์ของสดของใช้จากลูกค้าผ่านแอปพลิเคชั่น จากนั้นจะประสานงานกับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าชั้นนำ เพื่อจัดสินค้าส่งถึงมือผู้บริโภค โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การสั่งซื้อสินค้าได้ใน “ราคา” และ “โปรโมชั่น” เดียวกับที่เดินไปซื้อที่ร้าน ทั้งยังจัดส่งรวดเร็วภายในชั่วโมงถัดไป จึงทำให้ HappyFresh ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้สินค้าขายดีบนแพลตฟอร์มจะเป็นสินค้าเครื่องดื่ม และน้ำดื่มขนาดใหญ่ เพราะผู้บริโภคไม่ต้องขนสินค้าเอง แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด ที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเปลี่ยนไปคือ ผู้บริโภคนิยมซื้อของสด และวัตถุดิบสำหรับทำอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ผักผลไม้ หมูสับ ไก่ มะนาว พริก และน้ำมัน เป็นต้น โดยยอดการใช้แอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์จาก 3 ประเทศ เติบโตขึ้นกว่า 20 เท่า ขณะที่ในไทยมีผู้เข้ามาในแพลตฟอร์มช่วงโควิด เติบโตขึ้นกว่า 53%
ดังนั้น เพื่อรองรับพฤติกรรมการจับจ่ายของของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับคนหันมาทำอาหารกินเองในช่วงที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ HappyFresh เตรียมขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ในไทย ทั้งยังจับมือกับพาร์ทเนอร์ซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นกูร์เมต์ มาร์เก็ต และLINE MAN เพื่อขยายฐานเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น
source
https://www.freshket.co/
https://www.happyfresh.co.th/
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand