บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL สรุปผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 มีรายได้รวม 137,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 7.5% จากการปรับกลยุทธ์ด้านสินค้าและบริการ รวมถึงกลยุทธ์ O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจ ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น
แต่ช่วงปลายไตรมาส 2 เมื่อสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น ภาครัฐมีการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงลดการเคลื่อนย้ายและเดินทาง งดเว้นกิจกรรมในเวลากลางคืนในจังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้น
โดยไตรมาส 2 นี้ CPALL มีกำไรสุทธิ 2,190 ล้านบาท ลดลง 24.2% เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากเงินกู้ยืมและการจ่ายคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินก่อนครบกำหนดการออกหุ้นกู้สกุลบาทและอัตราดอกเบี้ยคงที่ทดแทนระหว่างไตรมาส
สรุปรายได้รายธุรกิจหลัก
– ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น และธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 63% ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้เติบโตต่ำกว่าธุรกิจค้าส่ง
– ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สัดส่วน 37%
กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ไตรมาส 2 ปี 2564 เปิดร้านสาขาใหม่รวม 156 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 2 มีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศ 12,743 สาขา แบ่งเป็น
1. ร้านสาขาบริษัท 5,934 สาขา (คิดเป็น 47%) ร้านเปิดใหม่ 118 สาขา
2. ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,809 สาขา (คิดเป็น 53%) ร้านเปิดใหม่ 38 สาขา
ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านสแตนด์อะโลน คิดเป็น 85% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
ในไตรมาส 2 ปี 2564 ธุรกิจร้านสะดวกเซเว่น อีเลฟเว่น ซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 74,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสนี้มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน เท่ากับ 67,767 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิลเฉลี่ย 82 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 823 คน
ทั้งนี้ CPALL ได้มีการปรับกลยุทธ์ รวมถึงการนำกลยุทธ์ออฟไลน์ทูออนไลน์ (O2O) มาใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อาทิ 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมถึงสินค้าภายในร้าน 7-Eleven ได้สะดวกทั้งบริการส่งถึงปลายทางหรือรับสินค้าที่ร้าน ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มรายได้จากการขายสามารถชดเชยผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในไตรมาส 2 ปี 2564 สัดส่วนของรายได้จากการขายอยู่ที่ 74.9% มาจากสินค้ากลุ่มอาหาร และ 25.1% มาจากสินค้าอุปโภค (ไม่รวมบัตรโทรศัพท์) สัดส่วนรายได้จากการขายของสินค้ากลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มอาหารพร้อมทานและเครื่องดื่มเติบโตดีและได้เปรียบจากฐานที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
CPALL จะใช้กลยุทธ์สร้างการเติบโตของกำไรขั้นต้นในธุรกิจร้านเซเว่นฯ ด้วยการนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด อาทิ กลุ่มสินค้าอิ่มคุ้ม กลุ่มสินค้าบรรจุขนาดครอบครัว หรือ แพ็คใหญ่ เป็นต้น มาทำตลาดเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังมีรายได้อื่นอีก 5,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 364 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.3% และบันทึกเงินปันผลรับจากบริษัทย่อย 4,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน
ของปีก่อน 79 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2564
กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ไตรมาส 2 มีกำไรมีกำไรสุทธิ 4,822 ล้านบาท ลดลง 12.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 6.4% ทั้งด้านผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน ค่าบริหารงานร้านสะดวกซื้อ และค่าเสื่อมราคา
ปัจจุบันสถานการณ์โควิด ยังคงส่งผลกระทบอยู่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 และกระทบในเชิงลบต่อรายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงมีความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการดำเนินธุรกิจในอนาคต แนวโน้มธุรกิจจึงมีโอกาสปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
โดยประมาณการงบลงทุน ปี 2564 CPALL วางแผนเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่อีก 700 สาขา คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาท ดังนี้
– การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท
– การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500 ล้านบาท
– โครงการใหม่ บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท
– สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท