HomeInsightความสุขคนไทยลดลง “ฮาคูโฮโด” ชี้ โควิดทำคนไทยกังวล ต้องประหยัด เน้นใช้จ่ายสินค้าเพื่อปากท้อง

ความสุขคนไทยลดลง “ฮาคูโฮโด” ชี้ โควิดทำคนไทยกังวล ต้องประหยัด เน้นใช้จ่ายสินค้าเพื่อปากท้อง

แชร์ :

การกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปัจจุบัน ที่พ่นพิษรุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา จนจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่าย รวมถึงสภาพจิตใจของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ความไม่แน่นอน และการใช้ชีวิตที่เข้มข้นกันอีกครั้ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท โซซิอัส จำกัด ได้สำรวจความรู้สึกและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยประจำเดือนสิงหาคม 2564 จากกลุ่มประชากร 1,200 คน เพื่อให้แบรนด์และนักการตลาดเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในสถานการณ์ช่วงนี้ และสามารถนำข้อมูลไปปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal

โควิด-19 ฉุดความสุขคนพื้นที่แดงเข้มลด ต้องหารายได้จากการขายออนไลน์เพิ่ม

คุณชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในขณะนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านโดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า สังคมไทยส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีความสุขลดลง 2% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมการใช้จ่ายที่น่าสนใจ 2 เรื่อง ดังนี้

1.วางแผนการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ และพัฒนาความสามารถในการหารายได้

คนไทยส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยเน้นซื้อของที่คิดว่าจำเป็นก่อน เช่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมไปถึงมีการวางแผนใช้จ่ายล่วงหน้าพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด ที่สำคัญ​คือ มีการปรับตัวในการดำรงชีพ ด้วยการเพิ่มความรู้และทักษะในการหารายได้ โดยโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์​ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทุกอาชีพในตอนนี้ เพื่อใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากออนไลน์ที่จะสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองเพื่อความประหยัด

2.คนกรุงเทพเน้นการใช้จ่ายเพื่อใช้ชีวิตที่สะดวกในบ้าน ในขณะที่คนต่างจังหวัดอยากจับจ่ายนอกบ้านมากขึ้น

แม้ผู้คนจะมีความอัดอั้นตึงเครียดต่อเนื่อง แต่ก็ต้องการให้ชีวิตมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น คนกรุงเทพและจังหวัดข้างเคียงจึงเน้นการซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน เช่น เครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก ผู้คนอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกลางแจ้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยว เพราะสถานการณ์โควิดในภูมิภาคนั้นไม่รุนแรงเท่า พร้อมทั้งวางแผนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันแม่ ทั้งการพาแม่ไปทานอาหาร ซื้อกระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับเป็นของขวัญ เพื่อลดความตึงเครียดจากสถานการณ์โควิด

5 อันดับสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อในช่วงล็อกดาวน์

แม้ว่าผู้บริโภคในสังคมไทยมีแนวโน้มกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจและต้องเน้นใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น แต่ คุณอานันท์ปภา ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท โซซิอัส จำกัด บอกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากผลการวิจัยครั้งนี้คือ ปัญหาปากท้องของประชาชนที่มองว่าไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปและต้องปรับตัวอย่างมากเพื่ออยู่รอด โดยหากจำแนกตามภาค จะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความต้องการกลับภูมิลำเนาและวางแผนอยู่แบบระยะยาวหลังจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ทั้งด้านสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงค่าน้ำมัน ยานพาหนะ และที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือตกแต่งบ้าน

เมื่อจำแนกเป็นช่วงอายุ สำหรับวัย 20-39 ปี พบว่ามีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่รองรับในช่วง Work from Home เช่น ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ และในช่วงอายุ 50-59 ปี มีความต้องการสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกสบายและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพและความงาม

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้จ่ายมากที่สุด 5 อันดับแรกในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ พบว่า เป็นกลุ่มสินค้าที่เน้นอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก ได้แก่

  • อาหาร 25%
  • ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 17%
  • โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11%
  • อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 6%
  • เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 5%

Top 10 ข่าวที่คนไทยเสพช่วงโควิด

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจยังพบด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในรอบนี้ ทำให้ผู้บริโภคยังสนใจติดตามข่าวที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 มากสุด (40%) อันดับที่ 2 ข่าวจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล (24%) เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง วัคซีนจึงเป็นความหวังของประชาชน และอันดับที่ 3 ข่าวกระแสสังคมการเมือง (8%) ที่หวังจะเห็นการทำงานที่มีความโปร่งใสของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ข่าวลุงพล-น้องชมพู่ และอุบัติเหตุรถ BMW Z4 อันดับที่ 6 ถึง 10 เป็นข่าวเศรษฐกิจ การช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการหารายได้ด้วยการเสี่ยงโชคจากหวยแม่น้ำหนึ่ง ที่จะช่วยเยียวยาสถานการณ์ด้านการเงิน รายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของพวกเขาแทนการช่วยเหลือจากภาครัฐได้เบื้องต้น

พร้อมให้มุมมองและคำแนะนำถึงแนวทางการสื่อสารสำหรับแบรนด์และธุรกิจในสถานการณ์ที่ท้าทาย 2 ส่วน ดังนี้

  1. การสื่อสารที่แตกต่างกันในพื้นที่เสี่ยง (โซนสีแดงเข้ม) ควรเน้นสื่อสารแบบออนไลน์กับคนที่ต้องทำงาน รวมถึงการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ส่วนในพื้นที่ควบคุม (โซนสีแดง-สีเหลือง-สีส้ม-สีเขียว) เน้นการสื่อสารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ให้เข้าถึงประชาชนที่ยังต้องเดินทางและใช้ชีวิตนอกบ้าน

2. เน้นการสื่อสารแบบแบ่งแยกตามกลุ่มที่มีความสนใจ เน้นกิจกรรมในที่พักอาศัย การพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อพึ่งพาและเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งแบรนด์ยังคงสามารถช่วยเพิ่มความสุขให้กับประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านได้


แชร์ :

You may also like