การแสวงหากลยุทธ์มารับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงว่ายากแล้ว แต่สิ่งที่ยากและท้าทายยิ่งกว่าคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการมาของโควิด-19 ที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจต่างๆ อย่างมาก รวมถึงธุรกิจเกษตรและอาหาร เพราะทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพและเลือกบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ประกอบกับกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ (Food Traceability) ที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้การทำธุรกิจเกษตรและอาหารแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้สอดรับกับมาตรฐานและบริบทใหม่
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การมาของ Food Traceability จะส่งผลต่อผู้ประกอบการเกษตรและอาหารอย่างไร ตามมาฟังคำตอบจาก ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย พร้อมแนวทางการปรับตัวที่ผู้ประกอบการไทยควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้
โจทย์ท้าทายของธุรกิจเกษตรและอาหาร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเกษตรและอาหารต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องจำกัดจำนวนคนเข้าร้าน รวมถึงการห้ามนั่งกินในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ส่งผลให้ยอดขายของผู้ประกอบการหดตัวลงเรื่อยๆ ขณะที่บางรายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่า พนักงาน วัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็ต้องปิดให้บริการชั่วคราว
สำหรับโจทย์ท้าทายของผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรและอาหารตอนนี้ นอกจากเรื่องการแข่งขันและวิกฤตไวรัสแล้ว ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS บอกว่า สิ่งสำคัญที่สร้างความท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือให้ทันคือ มาตรฐานเกี่ยวกับ Food Traceability ที่กำลังมาแรงเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารมุ่งสู่ Food Traceability นั้น หลักๆ มาจาก 4 ปัจจัย ดังนี้
1.ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ Food Safety มากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อความปลอดภัย พบว่า 68% กังวลในเรื่องความสะอาด ปลอดภัยในอาหาร และ 70% ต้องการรู้ที่มาที่ไปของอาหาร
2.ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการทราบว่าอาหารที่รับประทานส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน โดยผลสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ขณะที่ 53% คาดหวังว่ากระบวนการผลิตอาหารจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกว่า 35% ตระหนักถึงการลดการปล่อยก๊าซ Co2 ในกระบวนการผลิต
3.เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำให้ระบบ Food Traceability มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยคาดว่าเทคโนโลยี Food Traceability ของโลกในปี 2025 จะมีมูลค่าประมาณ 22,274 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.3%
4.การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกังวลในเรื่องการบริโภคอาหารและใส่ใจสุขภาพ โดยผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภค 22% ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความปลอดภัยของอาหารจากการปนเปื้อนของโควิด-19 มากที่สุด ตามด้วยการเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย 20% และสารก่อมะเร็งในอาหาร 12%
แนะธุรกิจเกษตร-อาหาร 4 กลุ่ม เร่งรับมือ Food Traceability
เมื่อมาตรฐานเกี่ยวกับ Food Traceability กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการในธุรกิจเกษตรและอาหาร เพราะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลตลอดกระบวนการผลิต และแสดงข้อมูลสินค้า ทั้งข้อมูลโภชนาการ แหล่งที่มา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ประมง อาหารสัตว์ และสินค้าผักและผลไม้ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มักถูกจับตาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในสินค้า และยังเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับระบบการตรวจสอบย้อนกลับอาหารค่อนข้างมาก อีกทั้งระยะหลังคู่ค้าสำคัญอย่างจีนก็เข้มงวดในมาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้า 4 กลุ่มหลักนี้ มีผู้ประกอบการไทยกว่า 8,000 ราย โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมกันถึง 159,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 16% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ซึ่งอยู่ที่กว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้ง 4 กลุ่มจึงต้องเร่งปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดย Krungthai Compass แนะว่า
อย่างแรกผู้ประกอบการต้องศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบการค้าที่ออกมาใหม่ๆ อาทิ นโยบาย Farm to Fork ของสหภาพยุโรป ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจากฟาร์มไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตและขนส่งอาหารที่มีความโปร่งใส ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารโดยการบังคับติดฉลากเพื่อแสดงข้อมูลสินค้า เช่น โภชนาการ แหล่งที่มา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ หรือมาตรฐานเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาอาหารจากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเอกสารมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2023
จากนั้นควรเริ่มจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นตลอดห่วงโซ่การผลิตในรูปแบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้การตรวจสอบย้อนกลับอาหารทำได้ง่ายขึ้น อาทิ ข้อมูลแหล่งผลิตฟาร์มและเพาะเลี้ยง ชนิดพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ ปริมาณการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ข้อมูลการแปรรูป สำหรับตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร ได้แก่ การใช้ RFID ,IoT ,QR Code และ Blockchain ในการเก็บข้อมูลแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับจากฉลากสินค้าในรูปแบบ QR Code อีกทั้งในกรณีที่เกิดโรคระบาดในสัตว์ยังช่วยลดเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบสินค้าที่มีการปนเปื้อนจากเชื้อ
นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรที่เกื้อหนุนกันทั้ง Ecosystem ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ให้การรับรองมาตรฐานและให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานอาหาร เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสถาบันอาหาร