หลังจากเป็นต้นแบบพัฒนาธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สร้างรายได้และกำไรจากกลุ่ม Non-oil เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบัน OR มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ดังอยู่ในมือจำนวนมาก ทั้ง Café Amazon, Texas Chicken, Pearly Tea, ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ รวมทั้งกลุ่ม F&B ที่เข้าไปร่วมถือหุ้น อย่าง โอ้กะจู๋ และ ร้านกาแฟ Pacamara ล่าสุดเตรียมเปิดตัวบิสซิเนส โมเดลใหม่ค้าปลีกนอกปั๊ม OR Space
ต้นแบบ “โออาร์ สเปซ” (OR Space) จะเผยโฉมช่วงปลายปีนี้ กับคอนเซ็ปต์ “ค้าปลีกนอกปั๊ม” ที่ให้บริการแบรนด์ธุรกิจ Non-oil ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 3-4 แบรนด์ พร้อมบริการจุดชาร์จไฟฟ้ารถอีวี (EV Charging Station)
การพัฒนาโมเดลค้าปลีกนอกปั๊ม จะเป็นรูปแบบคอมมูนิตี้ไซซ์เล็ก เพราะเห็นว่าสถานีบริการน้ำมันกลางเมืองพื้นที่ขนาดเล็ก ต่อไปอาจไม่ตอบโจทย์เรื่องพลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม จากการเปลี่ยนไปใช้รถ EV จึงพัฒนาธุรกิจค้าปลีกใหม่ OR Space ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง แต่ได้ผลตอบแทนต่อตารางเมตรสูงและคุ้มทุนเร็ว เน้นทำเลในเมืองเดินทางเข้าออกสะดวก
ปัจจุบันมีดีลเลอร์ปั๊มน้ำมันของ OR ที่มีศักยภาพและที่ดินหลายทำเล สนใจลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และเป็นอีกโอกาสในการพัฒนาบิสซิเนส โมเดลใหม่ในกลุ่ม Non-oil ปีนี้คาดว่าจะเปิดสาขาต้นแบบ OR Space ได้ 1-2 แห่ง
เล็ง M&A อีก 10 ดีล กลุ่ม F&B และดิจิทัล
คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่าตามแผน 5 ปี (2564-2568) ได้วางงบลงทุนไว้ 74,000 ล้านบาท ทั้งธุรกิจน้ำมัน ที่จะขยายสาขา PTT Station ปีละ 100 แห่ง FIT Auto 10 แห่ง ส่วนกลุ่ม Non-oil เปิดร้าน Café Amazon ปีละ 420 สาขา Texas Chicken 20 สาขา รวมทั้งธุรกิจในต่างประเทศที่ขยายไปแล้ว 10 ประเทศ ทั้งการเปิดปั๊มน้ำมันและ Café Amazon
อีกธุรกิจในกลุ่ม Non-oil คือการลงทุนในรูปแบบซื้อกิจการ (M&A) และธุรกิจร่วมลงทุน (JV) เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ วางงบลงทุนส่วนนี้ 5 ปี 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปีก่อนได้ขยายการลงทุนในร้านกาแฟ Specialty Coffee เข้าไปถือหุ้นร้านกาแฟ Pacamara สัดส่วน 65% เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ ต้นปีนี้ OR ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหารสุขภาพ “โอ้กะจู๋” ถือหุ้นสัดส่วน 20%
ล่าสุดเข้าไปลงทุน 8.88% ใน Flash Group ธุรกิจขนส่ง, การ JV กับ Bluebix Group สัดส่วน 60% เพื่อพัฒนาด้านดิจิทัลในองค์กร และโมเดลธุรกิจใหม่ต่อยอดจากธุรกิจเดิมของ OR โดยเฉพาะลอยัลตี้ โปรแกรม จากฐานข้อมูลผู้ถือบัตร Blue Card 7 ล้านราย
รวมทั้งปิดดีลใหญ่การต่อสัญญากับ CP ALL ในการดำเนินธุรกิจร้าน 7-Eleven ในปั๊ม ปตท. อีก 10 ปี ซึ่งสัญญาฉบับปัจจุบันจะจบในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 วางแผนขยายสาขาเซเว่น อีเลฟเว่นในปั๊มปีละ 100 สาขา จากปัจจุบันมีจำนวน 1,700 สาขา
ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาขยายธุรกิจทั้ง JV, M&A รวมทั้งจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันมากกว่า 10 ดีล ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B), Non F&B และธุรกิจดิจิทัล
ความคืบหน้ามีทั้งที่กำลังทำ Due Diligence ประเมินมูลค่าลงทุน และที่กำลังเจรจาเงื่อนไขธุรกิจกับพาร์ทเนอร์เพื่อ JV หรือการเข้าไปลงทุนในบริษัทแม่
การเลือกลงทุนดูจากธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยอาศัยจุดแข็งจากการต่อยอดสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่มีกว่า 2,300 สาขา และ Café Amazon กว่า 3,000 สาขา รวมทั้งลอยัลตี้ โปรแกรม Blue Card
Synergy แบรนด์กลุ่ม F&B ขาย “โอ้กะจู๋” ในคาเฟ่ อเมซอน
หลังจากต้นปี OR เข้าไปถือหุ้น โอ้กะจู๋ 20% ได้มีการ Synergy แบรนด์ธุรกิจ F&B ด้วยการนำร่องเปิดจุดจำหน่ายเมนู Grab & Go จาก “โอ้กะจู๋” เช่น เช็ตสลัด แซนด์วิช ที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น วิภาวดี (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยหอการค้า) และจะขยายจุดจำหน่ายเพิ่มหลังจากนี้ ในทำเลกรุงเทพและปริมณฑล และภาคเหนือ
เป็นความร่วมมือทางธุรกิจที่ทำให้ Café Amazon มีสินค้าจำหน่ายหลากหลาย เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และเพิ่มโอกาสให้สินค้าโอ้กะจู๋ เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
เช่นเดียวกับการลงทุนใน Flash Group ได้เปิดจุดรับส่งพัสดุ (drop off point) ของ Flash Express จำนวน 10 จุดที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน
“โออาร์เลือกลงทุนใน New Business ที่น่าสนใจสามารถเสริมจุดแข็งและต่อยอดฐานธุรกิจเดิมที่มีทั้ง Physical และ Non Physical ทั้งปั๊มปตท. และคาเฟ่ อเมซอน กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อเข้ามาสร้างอีโคซิสเต็มด้าน O2O ร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรและฐาน Blue card 7 ล้านใบ เป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ”
ห้างฯล็อกดาวน์บ่อย ปั๊มน้ำมันเนื้อหอม จุดขายใหม่
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ลากยาวมาถึงปัจจุบัน ซึ่งยังมีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนมาก ทำให้ภาครัฐออกมาตรการล็อกดาวน์ปิดสถานที่เสี่ยงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์
ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม เริ่มมองหาทำเล “นอกห้าง” เป็นจุดจำหน่ายและทำ Cloud Kitchen เพื่อลดความเสี่ยงจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ปั๊มน้ำมัน เป็นอีกทางเลือกเปิดร้านนอกห้างฯ ปัจจุบันมี PTT Station ทั่วประเทศ 2,300 สาขา อยู่ในแหล่งชุมชน จึงกลายเป็น เน็ตเวิร์ก ที่ได้รับความสนใจจากธุรกิจ F&B เข้ามาเป็นพันธมิตรด้านจุดจำหน่ายและบริการเดลิเวอรี่นอกห้างฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า และเป็นอีกจุดแข็งในการหาพันธมิตรเพื่อทำดีล JV และ M&A ตามแผนลงทุนของ OR
ที่ผ่านมา OR ได้จับมือกับ LINE MAN เปิดให้บริการ Cloud Kitchen ในปั๊ม PTT Station ที่สาขามัยลาภ และ เกษตร-นวมินทร์ มีร้านอาหาร 10 ร้าน ได้แก่ ราชาคอหมูย่าง โจ๊กสามย่าน ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ ดิ เอ็มไพร์, Under 360, Pacamara, NOBRAND, Ekkamai Macchiato, Hinoya Sushi Express Bomberdog และ Zaap Classic และสามารถสั่งเครื่องดื่มจากร้าน Café Amazon ในออเดอร์เดียวกับการสั่งอาหารได้
ในสถานการณ์ล็อกดาวน์นี้ร้าน Café Amazon ยังทำยอดขายจากบริการเดลิเวอรี่ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาชาญเมือง เพราะส่วนใหญ่ต้อง Work From Home จึงไม่ได้เดินทางและสั่งเดลิเวอรี่ใกล้บ้าน ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นไปถึง 20% ของยอดขายรวม บางสาขาขึ้นไป 30-40% ส่วนสาขาต่างจังหวัดอยู่ที่ 10% จากเดิมเดลิเวอรี่มีสัดส่วนราว 6-7% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 12-13% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว และยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จากสาขาครอบคลุมทำเลสำคัญ ให้บริการเดลิเวอรี่เข้าถึงง่ายในระยะ 2-3 กิโลเมตร
ธุรกิจแฟรนไชส์ Café Amazon เอง แม้อยู่ในสถานการณ์โควิด ก็ยังมีผู้สนใจสมัครขอทำแฟรนไชส์เข้ามาต่อเนื่องเดือนละ 400 ราย มีอัตราเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด
เสริมอีโคซิสเต็ม EV กลุ่มปตท.
หลังจาก ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ประกาศเลือก “ไทย” เป็นหนึ่งในฐานการผลิต “รถยนต์ไฟฟ้า” (EV) โดยเป็นการจับมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT คาดผลิตรถ EV ได้ปีละ 150,000 – 200,000 คันต่อปี เตรียมเดินสายการผลิตในปี 2566
OR ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Ecosystem ธุรกิจ EV ของ PTT Group นอกจากการขยาย EV Charging Station ในปั๊มปตท. และธุรกิจค้าปลีกใหม่ OR Space แล้ว ก็ยังมีโอกาสด้านช่องทางการขายและการตลาด โดยมีดีลเลอร์ สถานีบริการน้ำมัน หลายรายมีศักยภาพและโลเคชั่นในการลงทุนช่องทางขายรถยนต์ EV จะเห็นได้ว่าส่วนที่เป็น touch point กับผู้บริโภคในอีโคซิสเซ็มนี้อยู่ที่ OR และจะต่อยอด Fit Auto ให้ทีมงานฝึกอบรมซ่อมรถ EV โดยร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งการจำหน่ายอุปกรณ์ซ่อม ที่ถือเป็นอีกโอกาสธุรกิจสำคัญของ OR
ฝ่าโควิดครึ่งปีแรกกำไรโต 100%
หากดูผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 OR มีกำไรสุทธิ 7,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,810 ล้านบาท หรือกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยมีรายได้ขายและบริการครึ่งปีแรก 237,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยหลักกล่มธุรกิจน้ำมัน ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ทำให้ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
แต่ปริมาณขายรวมลดลง 5% จากตลาดพาณิชย์ส่วนใหญ่ในน้ำมันอากาศยานที่ปริมาณขายยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด เนื่องจากสายการบินต่างๆ ยังหยุดบิน ส่วนธุรกิจ Non-oil รายได้เพิ่มขึ้นตามการขยายสาขาของ Café Amazon
ทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลังยังมีความท้าทายอย่างมาก จากวิกฤติโควิดรุนแรงมากขึ้น แต่ OR จะยังเน้นการลงทุนที่รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิกฤติโควิด โดยเน้นการเพิ่มช่องทางออนไลน์ไปยังออฟไลน์ (O2O) มากขึ้น รวมถึงยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ต่อเนื่อง จากการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ OR
อ่านเพิ่มเติม
- อยู่ยาวอีก 10 ปี OR ต่อสัญญาร้าน 7-Eleven ปั๊ม ปตท. รอบที่ 3 ถึงปี 2576
- OR เสริมพอร์ตฯ ธุรกิจค้าปลีก ลงทุน “โอ้กะจู๋” รุกเปิดสาขาในปั๊ม และขายผ่าน Café Amazon
- OR กับกลยุทธ์ลงทุนธุรกิจน้ำมัน-Café Amazon ต่อจิ๊กซอว์ M&A และ JV
- Cafe Amazon เสริมพอร์ต Specialty Coffee ซื้อหุ้นร้านกาแฟ Pacamara 65%