จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องบาดเจ็บและสูญรายได้อย่างมหาศาล แต่ขณะเดียวกันวิกฤตครั้งนี้ก็สร้างโอกาสเติบโตให้กับหลายธุรกิจเช่นกัน เหมือนกับธุรกิจถุงมือยางของ “บมจ.ศรีตรังโกลฟส์” หรือ STGT ที่สามารถสร้างกำไรในปี 2563 เติบโตถึง 2,246%
จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของศรีตรังโกลฟส์ ทำให้แบรนด์ศรีตรังเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่อาจมีชื่อเสียงอยู่แค่ในแวดวงยางพาราและอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ทั้งยังทำให้ชื่อ “คุณสมหวัง และ ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล” สองพ่อลูกผู้ก่อตั้งธุรกิจศรีตรัง มีทรัพย์สิน 865 ล้านเหรียญ หรือ 2.71 หมื่นล้านบาท ก้าวขึ้นมาติดอันดับ 44 ของตระกูลมหาเศรษฐีไทยปี 2563 จากการจัดอันดับของฟอร์บส์ Brand Buffet จะพามาทำความรู้จักแนวคิดและเรื่องราวธุรกิจศรีตรังกันให้มากขึ้น
จากธุรกิจยางแผ่นรมควัน สู่ยางธรรมชาติครบวงจร
เส้นทางธุรกิจศรีตรังเริ่มต้นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน หลัง คุณสมหวัง สินเจริญกุล สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยางพารามากว่า 40 ปี จึงตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ด้วยทุนจดทะเบียน 31 ล้านบาท โดยเริ่มจากธุรกิจกลางน้ำ ผลิตยางแผ่นรมควันจำหน่ายที่อำเภอหาดใหญ่ จากนั้นก็ค่อยๆ ต่อยอดมาสู่ผลิตภัณฑ์น้ำยางข้น ยางแท่ง รวมถึงถุงมือยาง พร้อมทั้งมอบหมายให้ทายาทคือ ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล เป็นผู้นำทัพขยายธุรกิจ
เพียงแค่ 4 ปี หลังจากก่อตั้งบริษัทฯ ศรีตรังก็สามารถนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในปี 2534 และนำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การขยับขยายกิจการมาทำธุรกิจสวนยางพารา ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำด้วยการลุยซื้อพื้นที่ปลูกยางพารา 45,000 ไร่ รวมถึงบุกขยายตลาดในต่างประเทศ จนกระทั่งกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ของโลกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกทั้งในปี 2554 ยังนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบันธุรกิจต้นน้ำของศรีตรังมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 45,000 ไร่ ครอบคลุมทั้งในภาคเหนือและอีสาน ส่วนธุรกิจกลางน้ำ ศรีตรังมีโรงงานยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น 36 แห่ง ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ในไทยและทั่วโลก ขณะที่ธุรกิจถุงมือยางที่เป็นธุรกิจปลายน้ำ ตอนนี้มีกำลังผลิตรวมกว่า 33,000 ล้านชิ้นต่อปี แบ่งเป็นถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ทั้งแบบมีแป้งและไม่มีแป้ง ส่งออกไปกว่า 140 ประเทศทั่วโลก และในปี 2563 ยังแยกส่วนธุรกิจถุงมือยางออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ จำกัด (มหาชน) หรือ STGT
แม่ลูก STA-STGT แรงไม่หยุด กอดคอทำกำไรปี 63 พุ่ง
เมื่อหันกลับมามองโครงสร้างรายได้ของ “ศรีตรัง” ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีผลประกอบการกำไรสลับกับขาดทุน มีรายได้หลักมาจากธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำ โดยธุรกิจกลางน้ำมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 80-90% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ธุรกิจปลายน้ำมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 10-15% ส่วนธุรกิจต้นน้ำ สัดส่วนรายได้ยังค่อนข้างน้อย เพราะเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มทำ อีกทั้งยางที่ได้จากสวนตัวเองยังไม่มากนัก
แต่หลังศรีตรังโกลฟส์เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้ธุรกิจศรีตรังได้รับผลดีไปด้วย โดยในปี 2563 ศรีตรังมีรายได้รวม 75,879 ล้านบาท และทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 9,531 ล้านบาท จากในปี 2562 มีรายได้รวม 60,602 ล้านบาท ขาดทุน 148 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการของศรีตรังโกลฟส์ก็สร้างรายได้และกำไรมากขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 3 ปีก่อนเข้าเทรด จากกำไรอยู่ระดับร้อยล้าน กลับพุ่งขึ้นเป็น 14,401 ล้านบาท ในปี 2563 คิดเป็นการเติบโต 2,246% เมื่อเทียบกับ 2562 และส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของศรีตรังโกลฟส์ เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 40% ของรายได้รวมของกลุ่มศรีตรัง ทำให้ทรัพย์สินสองพ่อลูกผู้ก่อตั้ง “คุณสมหวัง และ ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล” เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนล่าสุดฟอร์บส์จัดอันดับให้ทั้งคู่เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 44 ของไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 865 ล้านเหรียญ หรือ 2.71 หมื่นล้านบาท
หากวิเคราะห์ถึงจุดแข็งของธุรกิจศรีตรังที่สร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งในตลาดและทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น ข้อแรก มาจากการมีระบบ Supply Chain รองรับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีสวนยางในการทำวิจัยและพัฒนาเองเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดี ผลิตน้ำยางคุณภาพ และผลิตภัณฑ์สินค้าออกมาตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ข้อสอง การนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น อย่างเช่น หุ่นยนต์ ระบบสมองกล และระบบ IoT เป็นต้น
ข้อสาม ช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย โดยธุรกิจยางธรรมชาติจะเน้นทำตลาด B2B เป็นหลัก กับกลุ่มบริษัทล้อยางยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ส่วนธุรกิจถุงมือยาง มีช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ช่องทางออนไลน์ และจำหน่ายตรงไปยังโรงพยาบาล ร้านจำหน่ายเครื่องมือการแพทย์ รวมถึงส่งออกผ่านตัวแทนจำหน่ายไปทั่วโลก
ตั้งเป้าขึ้น Top 3 ตลาดถุงมือยางโลก พร้อมลุย New S-curve
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป วันนี้ศรีตรังมีทายาทธุรกิจเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ โดยวางแผนจะขยายช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ ให้มากขึ้น พร้อมตั้งเป้าจะขยับอันดับจาก Top 5 ไปสู่ Top 3 ในตลาดถุงมือยางระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีแผนปั้น New S-curve ด้วยการลุยปลูกกัญชงในพื้นที่ที่เหลือจากการปลูกยางที่มีอยู่ทั้งหมด 45,000 ไร่
ที่มา:
https://www.sritranggroup.com/th/about/company-milestone
https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=STA&ssoPageId=5&language=th&country=TH
https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=STGT&ssoPageId=5&language=th&country=TH