HomeBig Featured‘สินมั่นคง’ อ่วมพิษโควิด ยอดเคลมประกันพุ่ง ไตรมาส 2 ขาดทุน 359 ล้าน

‘สินมั่นคง’ อ่วมพิษโควิด ยอดเคลมประกันพุ่ง ไตรมาส 2 ขาดทุน 359 ล้าน

แชร์ :

SynMunKong สินมั่งคงประกันภัย

เป็นกระแสฮอตโซเชียลช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กับกรณี “สินมั่นคงประกันภัย” ออกมาประกาศบอกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” หรือ COVID 2 in 1 จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จึงมียอดเคลมประกันสูง แต่ในที่สุดก็ต้องยอมถอย เมื่อ คปภ.ออกคำสั่งห้ามบริษัทประกันภัย บอกเลิกประกันโควิด กลายเป็นบทเรียนธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นลูกค้าและแบรนด์ระยะยาว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ทำให้มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนมาก และเพิ่มขึ้นหลัก 2 หมื่นรายต่อวันตั้งแต่เดือนสิงหาคม ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัย ที่ขายกรมธรรม์โควิด-19 มีต้นทุนค่าใช้จ่ายยอดเคลมประกันแบบ “เจอ จ่าย จบ” เพิ่มขึ้นในปีนี้

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานงบการเงินไตรมาส 2 ปี 2564 ขาดทุน 359 ล้านบาท หรือลดลง 264% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 218 ล้านบาท

รายได้รวมสินมั่นคง ในไตรมาส 2 ปี 2564 เท่ากับ 2,675 ล้านบาท ลดลง 29.61 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,705 ล้านบาท หรือ ลดลง 1.09% จากสาเหตุหลักดังนี้

1. เบี้ยประกันภัยรับในไตรมาส 2 เท่ากับ 2,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 660 ล้านบาท หรือ 30.14% ขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 2563 เบี้ยประกันภัยรับเติบโตลดลง 20.96% ส่งผลให้เบี้ยประกันที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 ลดลง 199 ล้านบาท หรือลดลง 7.44%

2. รายได้และกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้น 163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,037% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น 207 ล้านบาท หรือ 179% ในไตรมาส 2 ปี 2564 มีการปรับพอร์ตการลงทุนส่งผลให้มีผลกำไรจากเงินลงทุน ในขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปี 2563 มีผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุนและการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนเผื่อขายเนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET INDEX) ปรับตัวลดลงอย่างมากจากสถานการณ์การระบาดโควิด

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 3,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.43% จากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2,437 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ดังนี้

1. ค่าสินไหมทดแทนในไตรมาส 2 ปี 2564 เท่ากับ 2,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 733 ล้านบาท หรือ 47.29% เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

2. ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่ากับ 1.76 ล้านบาท ลดลง 139.56 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลง 98.75% เป็นผลจากปีก่อนมีการบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตจากหุ้นกู้เอกชนที่บริษัทฯลงทุน จำนวน 141 ล้านบาท

สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 สินมั่นคงมีรายได้รวม 2,675 ล้านบาท ลดลง 29.61 ล้านบาท หรือ 1.09% และ ค่าใช้จ่ายรวม 3,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 693 ล้านบาท หรือ 28.43% ส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 359 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 218 ล้านบาท ลดลง 577 ล้านบาท หรือ 264.86%

ย้อนดูผลประกอบการสินมั่นคง ทำกำไรมาตลอด
ปี 2560 รายได้   9,189 ล้านบาท กำไรสุทธิ 901 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 10,020 ล้านบาท กำไรสุทธิ 749 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 11,375 ล้านบาท กำไรสุทธิ 677 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 10,413 ล้านบาท กำไรสุทธิ 757 ล้านบาท

รู้จักธุรกิจ “สินมั่นคงประกันภัย” อายุ 70 ปี
– สินมั่นคง เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2494 หรือราว 70 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุกประเภท และจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 ผู้ถือหุ้นหลักคือกลุ่มดุษฎีสุรพจน์ โดยมีคุณเรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ นั่งเป็นประธานกรรมการ
– ดำเนินธุรกิจรับประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด ถึงสิ้นปี 2563 มีสาขาและศูนย์บริการรวม 182 แห่งทั่วปะเทศ
– รายได้จากการรับประกันภัย มาจาก ประกันภัยรถยนต์ 83.5% ประกันอัคคีภัย 1.46% ประกันทางทะเลและขนส่ง 0.16% และประกันภัยเบ็ดเตล็ด 13.1%
– ปัจจุบันธุรกิจประกันวินาศภัยมีบริษัทประกันวินาศภัยราว 57 บริษัท ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทประกันวินาศภัยค่อนข้างกระจุกตัว ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทประกันวินาศภัยที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด 10 อันดับแรก มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 64% และบริษัทที่มีเบี้ยประกันภัยสูงสุดอันดับแรกมีส่วนแบ่งการตลาด 15% “สินมั่นคงประกันภัย” มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 8 อยู่ 3.9% แต่หากดูเฉพาะส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์อยู่อันดับ 5 ราว 5.3%

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like