เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ไม่อยากดูโฆษณาบน YouTube เยอะ ๆ แต่ก็ไม่อยากจ่ายแพงกับ YouTube Premium (การรับชม YouTube แบบไม่มีโฆษณาคั่นที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน) ตอนนี้ทาง YouTube คงมองเห็น Pain Point ดังกล่าว และส่งทางเลือกใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งข้อ นั่นคือการเปิดตัว Premium Lite ในราคา 6.99 เหรียญยูโรต่อเดือนขึ้นมา (ประมาณ 273.66 บาท)
สำหรับบริการ Premium Lite พบว่าเป็นบริการที่เปิดทดสอบกับผู้ใช้งานในประเทศเบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน โดยจะคิดราคาถูกกว่า YouTube Premium ประมาณ 5 เหรียญยูโร (ราคา YouTube Premium ในสหภาพยุโรปอยู่ที่เดือนละ 11.99 เหรียญยูโร หรือประมาณ 469.41 บาท)
สิ่งที่จะได้รับจาก Premium Lite ก็คือการรับชม YouTube แบบไม่มีโฆษณาคั่น และสามารถรับชมได้ทั้งบนเบราเซอร์ สมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี เครื่องเล่นเกม ฯลฯ แต่จะไม่สามารถดาวน์โหลดเพลงมาฟังแบบออฟไลน์ได้ รวมถึงไม่สามารถเปิดคลิปบน YouTube ฟังในขณะที่เล่นแอปอื่น ๆ ไปด้วยพร้อมกัน
ทำไมถึงเปิดตัว Premium Lite
ทำไมถึงต้องมี Premium Lite ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ YouTube พบว่า ฟีเจอร์ของ Premium ก็ไม่ได้ถูกใจลูกค้าไปเสียทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การดาวน์โหลดมาดูทีหลังแบบออฟไลน์ หรือเรื่องของราคาที่แพงเกินไป ขณะที่ Premium Lite นั้นดูจะอยู่กลาง ๆ ซึ่งผู้ใช้อาจมองว่ามันตอบโจทย์มากกว่า แถมราคาก็ยังอยู่แค่ 60% ของราคา YouTube Premium ที่พวกเขาต้องจ่ายในปัจจุบันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ราคา YouTube Premium ในประเทศไทยอยู่ที่ 159 บาทต่อเดือน (สำหรับระบบแอนดรอยด์) ซึ่งไม่ว่าจะเป็น YouTube Premium ของยุโรป หรือราคาใหม่อย่าง YouTube Premium Lite ค่าบริการของไทยเราก็ถือว่าถูกกว่าอยู่ดี
Spotify ส่งแพกเกจ Premium Mini ชิงตลาดไทย
ส่วนคนที่รักการฟังเพลงในประเทศไทย อีกหนึ่งค่ายที่ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งของ YouTube โดยเฉพาะ YouTube Music โดยตรงอย่าง Spotify ก็ถือโอกาสนี้ส่งแพกเกจออกมาช่วงชิงลูกค้าเช่นกัน ในชื่อ Premium Mini
Spotify บอกว่า จุดเด่นของแพกเกจ Premium Mini ก็คือ การฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ในราคา 7 บาทต่อวัน หรือจะเลือกจ่าย 26 บาทต่อสัปดาห์ก็ได้ (ซึ่งอาจจะมองได้ว่ายืดหยุ่นกว่า YouTube Premium และ Premium Lite ที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือนเท่านั้น) นอกจากนั้น ยังสามารถดาวน์โหลดและฟังเพลงได้สูงสุด 30 เพลง โดยไม่ใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ 1 เครื่องอีกด้วย
ผลประกอบการ YouTube vs Spotify
อย่างไรก็ดี หากย้อนมองผลการดำเนินงานของ YouTube ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะสามารถทำรายได้จากค่าโฆษณาไปถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยทำได้แค่ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ฟีเจอร์ใหม่อย่าง YouTube Shorts ยังประสบความสำเร็จอย่างมากอีกด้วย โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถสร้างยอดรับชมถึง 15,000 ล้านครั้งต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ทำได้ 6.5 พันล้านครั้งต่อวัน)
ขณะที่ Spotify ในไตรมาส 2 นี้พบว่า บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 23% เป็น 2.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะรายได้จากบริการ Spotify Premium ที่เติบโตขึ้น 17%
บริษัทยังบอกว่ามีพ็อดแคสต์ให้เลือกฟังบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านรายการ จากเดิมไตรมาส 1 มีแค่ 2.6 ล้านรายการ และจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนก็เติบโตขึ้นเป็น 365 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 22%) และมีผู้ใช้งานแบบ Subscribers เพิ่มขึ้น 7 ล้านคนในไตรมาสนี้ด้วย (เพิ่มขึ้น 20%)
อย่างไรก็ดี ผลประกอบการไตรมาส 2 ของ Spotify ขาดทุนสุทธิ 24 ล้านเหรียญสหรัฐ