การประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของกลุ่มซีพี ด้วยการโยกกิจการกลุ่ม Lotus’s ในประเทศไทยและมาเลเซีย มูลค่ารวม 217,949 ล้านบาท ไปอยู่ภายใต้ “แม็คโคร” นับเป็นการความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างมองว่าจะส่งผลมุมบวกกับหุ้นกลุ่มซีพี ทั้ง CPALL CPF และ MAKRO ตามดู 10 เรื่อง พร้อมบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่อการปรับโครงสร้างครั้งนี้ และเป้าหมายของกลุ่มซีพี
1. โครงสร้างเดิมกลุ่ม Lotus’s
เดือนมีนาคม 2563 กลุ่มซีพี เป็นผู้ชนะประมูลซื้อกิจการ “เทสโก้” (Tesco) ในประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยมูลค่า 3.38 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ซึ่งถือหุ้นโดย 3 บริษัทในเครือซีพี คือ CPALL 40%, เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง หรือ CPH 40% และ ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง หรือ CPM (บริษัทลูก CPF) 20%
2. ปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกใหม่โยกธุรกิจ Lotus’s ให้ MAKRO
กลุ่มซีพี ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกใหม่ โดยให้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO รับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) ของ ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง (CPRH) เจ้าของธุรกิจ Lotus’s ในประเทศไทยและมาเลเซีย มูลค่ารวม 217,949 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจแม็คโคร และส่งเสริมกลยุทธ์ระยะยาวก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในระดับภูมิภาค
3. วิธีโอนกิจการ Lotus’s ให้ MAKRO แลกเปลี่ยนหุ้น 2 ขั้นตอนสำคัญ
– ขั้นตอนแรก MAKRO จะออกหุ้นใหม่จำนวน 5,010 ล้านหุ้น ในราคา 43.50 บาท/หุ้น ให้กับ CPRH จากนั้น CPRH จะกระจายหุ้นของ MAKRO ให้กับ CPALL (สัดส่วนการถือหุ้นใน MAKRO 65.97% หลังโอนกิจการ) CPF 10.21% และ CPH 20.43% หลังจากนั้น ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง (CPRH) จะถูกชำระบัญชีเลิกบริษัท โดย MAKRO จะถือหุ้นกลุ่มโลตัสส์ 100%
หลังจากโอนหุ้นเสร็จสิ้น CPF และ CPH ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด หรือ Mandatory Tender Offer (MTO) ของหุ้น MAKRO จากผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น 3.39% ใน MAKRO ที่ 43.50 บาท/หุ้น ในขณะที่ CPALL จะไม่ขายหุ้นใดๆ ผ่าน MTO ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน MAKRO จะเป็นดังนี้ 1. CPALL จาก 93.08% เป็น 65.97% 2. CPH จาก 0% เป็น 20.43% 3. CPM จาก 0% เป็น 10.21%
– ขั้นตอนที่สอง MAKRO จะยื่นคำร้องต่อ ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นใหม่จำนวน 1,362 ล้านหุ้น ผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชน (PO) เพื่อเป็นการเพิ่มการกระจายการถือหุ้นในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย สัดส่วนรวมกันไม่น้อยกว่า 15% เพื่อกระจายการถือหุ้น (Free Float)
ในระหว่าง PO ผู้ถือหุ้นใน MAKRO จะขายหุ้นที่มีอยู่ 703 ล้านหุ้น โดย CPALL (363 ล้านหุ้นฐานบวก 340 หุ้นที่จัดสรรเกิน) และ 182 ล้านหุ้นโดย CPF หลัง PO (หลังการปรับโครงสร้าง) CPALL จะถือหุ้น 51.5-54.7% ใน MAKRO (ขึ้นอยู่กับการจัดสรรส่วนเกิน) และ CPF จะถือ 7.34%
การเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (PO) มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในธุรกิจ ชำระหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน คาดว่าดีลดังกล่าวใช้ระยะเวลาราว 2-3 เดือน โดยจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ MAKRO และ CPALL ในวันที่ 12 ต.ค. 2564
4. ปรับโครงสร้างครั้งนี้ CPALL ได้ประโยชน์สูงสุด
จากการปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกกลุ่มซีพี ครั้งสำคัญนี้ คุณนฤมล เอกสมุทร นักวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด วิเคราะห์ว่า CPALL จะได้ “รับผลประโยชน์สูงสุด” 4 เรื่อง
– งบดุลแข็งแกร่งขึ้นแม้หลังการรวม MAKRO และ Lotus’s อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิจะลดลงจาก 1.8 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 เป็น 1.3-1.5 เท่า (ต่ำกว่า 2.0 เท่าของเงื่อนไขหนี้สิน)
– ประมาณการกำไรสุทธิจากภาษีสุทธิ 1,200-1,300 ล้านบาทจากโอนกิจการโลตัสส์
– การขายหุ้น MAKRO ผ่าน PO จะทำให้ได้รับภาษีสุทธิ 390-700 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับยอดขายโดยรวม
– CPALL จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยตรงใน Lotus’s และมีรายได้เติบโตในระยะยาว
5. MAKRO “มูลค่าเพิ่มระยะยาว”
– MAKRO จะได้รับ Dilution ในระยะสั้น จากจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 4,800 ล้านหุ้น เป็น 11,172 ล้านหุ้น คาดการณ์ปี 2564 กำไรต่อหุ้นปรับลด (EPS Dilution) 50-60% และปี 2565 ลดลง 20-30% แต่ในปี 2566 จะกลับมาปกติ เนื่องจากกำไรของ Lotus’s กลับมาเป็นปกติที่ 8,000 ล้านบาท
– ข้อตกลงจัดสรรหุ้นให้รายย่อย จำนวน 1,362 ล้านหุ้น จะช่วยปลดล็อก Free Float ของ MAKRO และเข้าเงื่อนไขใน SET50 (เร็วที่สุดในครึ่งปีหลัง) ทั้งแม็คโครและโลตัสส์ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในระบบนิเวศอาหารสดและร้านขายของชำ B2B และ B2C และการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกลุ่มค้าปลีกซีพี
หลักทรัพย์บัวหลวง มีมุมมอง “เชิงบวก” ต่อการปรับโครงสร้างกลุ่ม CPALL-MAKRO-Lotus’s วิธีโอนกิจการทั้งหมดนั้น “ฉลาด” ในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ใช้เงินสดและทำให้ง่ายขึ้น (ธุรกรรมด่วน) CPALL จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่ามากที่สุด ในขณะที่ MAKRO จะได้รับมูลค่าเพิ่มระยะกลางถึงระยะยาว
6. ประโยชน์ 5 ด้านกลุ่มค้าปลีกค้าส่งเครือซีพี
ส่วนมุมมองจาก บริษัทหลักทรัพย์ ASIA Wealth จำกัด วิเคราะห์ว่าการโอนกิจการ Lotus’s ให้ MAKRO ครั้งนี้ กลุ่มซีพี ได้ประโยชน์ 5 ด้านจากดีลนี้
1. ขยาย Fresh Market ผ่าน แม็คโครและโลตัสส์ เพื่อเป็นผู้นำด้านค้าปลีกและค้าส่งในระดับภูมิภาค
2. ตอบสนองความต้องการทั้ง B2B (MAKRO) และ B2C (Lotus’s)
3. Synergy ในกลุ่มธุรกิจซีพี
4. ได้ประโยชน์เต็มที่จากการพัฒนา อีคอมเมิร์ซ และ O2O ทั้งในไทยและภูมิภาค
5. เพิ่มศักยภาพการบริหารพื้นที่เช่า เพิ่มกระแสเงินสดและลดหนี้ให้กับ CPALL
ดีลปรับโครงสร้างนี้ มองเป็นบวกต่อ CPALL จากภาระหนี้สินที่ลดลง ทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง นอกจากนี้หลังธุรกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น โลตัสส์จะกลายเป็นบริษัทย่อยของ CPALL (เดิมเป็นบริษัทร่วม) ส่งผลให้ CPALL จะรวมงบการเงินของโลตัสส์ (ผ่านงบการเงิน MAKRO) เข้ามาในงบการเงินของ CPALL ด้วย จากเดิมรับรู้เป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน
7. เพิ่ม Free Float “เท่าตัว” กว่า 15%
ด้านบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด วิเคราะห์ประโยชน์จากดีลนี้ 3 ด้าน
1. Synergy : จากการทำงานร่วมกัน เพิ่มศักยภาพจากการใช้ความชำนาญแต่ละด้านร่วมกันจากการจำหน่ายสินค้าของ MAKRO ในรูปแบบ B2B ฐานลูกค้า Cash and Carry และ Lotus’s ในกลุ่มลูกค้าแบบ B2C ทั้งจากประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต จากความโดดเด่นการเป็นผู้จำหน่ายสินค้าอาหารสด คาดช่วยเสริมและพัฒนาทั้งระบบภายในและภายนอก รวมถึงการลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย ขณะที่มองความชำนาญการบริหารพื้นที่เช่าของ Lotus’s มาช่วยพัฒนาใน MAKRO
2. ขยายฐานลูกค้า Online เพิ่ม เตรียมพัฒนาเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ : กลุ่มซีพีมองการเติบโตค้าปลีก โดยเฉพาะการเข้าสู่ผู้ค้าระดับเอเชีย ซึ่งทั้ง MAKRO มีสาขาในประเทศที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย กัมพูชา และ Lotus’s มีสาขาที่มาเลเซีย มีโอกาสขยายฐานลูกค้าเพิ่มได้ โดยเฉพาะช่องทางของ Online จากการพัฒนา Digital Transformation เพื่อรองรับฐานลูกค้าต่างประเทศ รวมถึงการมี Partner กับ SME ในประเทศจากการช่วยกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ
3. เพิ่มจำนวนหุ้นและเพิ่ม Free Float ในตลาด : จากก่อนหน้า MAKRO มี Free Float ในตลาดเพียง 6.9% คาดหลังการปรับโครงสร้างรวมถึงการออกหุ้น PO จะทำให้มี Free Float มากกว่า 15% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดิม ขณะที่การเพิ่มทุนจะช่วยยกระดับของ Market Cap รวมถึงเพิ่มสภาพคล่องในตลาดได้ดีขึ้น
คาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายรวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยว จะทำให้ผลประกอบการของ Lotus’s กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดย Lotus’s มีผลประกอบการก่อนเกิดโควิด กำไรอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท จะช่วยหนุนผลประกอบการต่อเนื่องไปยัง MAKRO และ CPALL ได้อนาคต
8. ทิศทาง 3 หุ้นใหญ่กลุ่มซีพี MAKRO-CPALL-CPF
บทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จากการปรับโครงสร้างกลุ่มค้าปลีกของซีพี ที่ส่งผลต่อ 3 หุ้นใหญ่ MAKRO CPALL CPF สรุปได้ดังนี้
MAKRO
– จากการเข้าถือหุ้น 100% ใน Lotus’s ทำให้ MAKRO กลายเป็นบริษัทที่มีทั้งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ครอบคลุมลูกค้า B2B และ B2C และเป็นผู้นำในตลาดที่ชัดเจนในกลุ่มสินค้าอาหารสด อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ที่ยังเป็นสัดส่วนน้อย เพิ่มรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ของ Lotus’s กว่า 1 ล้านตารางเมตร
– รายได้เพิ่มขึ้นจาก 2.18 แสนล้านบาท เป็น 4.27 แสนล้านบาท กำไรสุทธิจาก 6,500 ล้านบาท เป็น 8,100 ล้านบาท แต่หนี้สินที่มีดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นจาก 8,100 ล้านบาท เป็น 127,100 ล้านบาท Net debt to EBIDA 0.2 เท่า เป็น 2.6 เท่า
– การเพิ่มทุน PO จะทำให้ได้เม็ดเงินเข้ามา 59,000 ล้านบาท คาดว่าจะนำไปจ่ายคืนหนี้ของโลตัสส์ ได้ส่วนหนึ่ง และหนี้บางส่วนจะรีไฟแนนซ์ ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากปัจจุบันที่มีต้นทุน 4.5-4.7%
– การเพิ่ม Free Float หุ้น MAKRO จากเดิมเพียง 7% และ Market Cap เพิ่มจาก 2.09 แสนล้านบาท เป็น 4.86 แสนล้านบาท มีโอกาสกลับเข้าไปใน SET50
CPALL
– รายได้เพิ่มขึ้นจาก 5.5 แสนล้านบาท เป็น 7.6 แสนล้านบาท จากการรวมงบการเงินของ MAKRO ที่เข้าถือหุ้น Lotus’s 100% และ CPALL ถือหุ้น MAKRO 65.97% (เดิม 93.08%) แม้ถือหุ้น MAKRO สัดส่วนลดลง แต่จะรับรู้กำไรจาก Lotus’s ได้มากขึ้นในระยะยาว ผ่านทาง MAKRO (จากเดิมรับรู้กำไร Lotus’s 40%)
– ทำให้ CPALL เป็นบริษัทที่มีทั้งธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ค้าส่ง และค้าปลีก ครอบคลุมลูกค้า B2B และ B2C มีโอกาสเติบโตในระดับภูมิภาค
CPF
– สัดส่วนการถือหุ้นใน Lotus’s ลดลง จาก 20% เป็น 0% แต่ถือหุ้นทางอ้อมผ่าน MAKRO 8% (หลัง PO)
– มีโอกาสขายสินค้าอาหารสดผ่านช่องทางของ MAKRO และโลตัสมากขึ้น รวมทั้งสร้าง Synergy จากการขายผ่านสินค้าภูมิภาค
– ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการถือหุ้น 34% ใน CPALL คาดมีกำไรในระยะยาว
9. เป้าหมาย “ซีพี” ปักธงค้าปลีกไทยในเวทีโลก
ปัจจุบัน เครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ทั้ง ประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมาร์ ภายใต้แบรนด์และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมจำนวน 337 ร้านค้า เป้าหมายการปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกครั้งสำคัญนี้
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแผนขยายธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของเครือซีพีในภูมิภาค พร้อมต่อยอดธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อนำบริษัทในกลุ่มค้าปลีกของเครือซีพีขยายธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบการในเวทีระดับโลก
ประเทศไทยได้รับการยอมรับในวงการค้าปลีกระดับสากล จากการที่ธุรกิจค้าปลีกของไทยสามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม จากสมาคมค้าปลีกที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกระดับแลนด์มาร์คในหลายประเทศ อย่างไรก็ดีอาจจะยังไม่สามารถเทียบกับยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกระดับโลกได้
ขนาดของธุรกิจ (Scale) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จสำคัญของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก นั่นคือ เหตุผลที่ในโลกปัจจุบัน บริษัทค้าปลีกระดับโลกจะเป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ ยกตัวอย่าง ผู้ค้าปลีก 2 รายที่ใหญ่ที่สุดของโลก สามารถสร้างยอดขายของแต่ละรายได้มากกว่าขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกของไทยในการไปแข่งขันในระดับโลก
“ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก และเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้ นี่คือวิสัยทัศน์ร่วมกันของธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งในเครือซีพี”
10. บุกค้าปลีกภูมิภาค สานฝันไทย ‘ครัวของโลก’ (Kitchen of the World)
การขยายช่องทางค้าปลีกเครือซีพีในตลาดโลกให้มากขึ้น จะช่วยส่งเสริมสินค้าไทย โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร และอาหารสด คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสานฝันของประเทศไทยในการเป็น “ครัวของโลก” (Kitchen of the World) โดยร้านค้าปลีกค้าส่งของเครือซีพี จะทำหน้าที่เสมือนท่อธุรกิจที่ลำเลียงนำธุรกิจขนาดเล็กๆ จากประเทศไทย ให้เข้าสู่ตลาดใหม่ได้ พร้อมกับนำผลผลิตและสินค้าของไทยไปนำเสนอ สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของเขาเอง ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกสถานการณ์ (Resilience) ให้กับธุรกิจเครือซีพี
การจัดโครงสร้างใหม่ของธุรกิจค้าปลีกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือซีพีบนเวทีนานาชาติครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่เครือซีพีเพิ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤติโควิดด้วยการสร้างแพลตฟอร์มให้กับบริษัทอื่นๆ จากประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจของพวกเขาให้ได้มากที่สุด
“เราต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกเครือซีพีทั่วโลกทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต และ SMEs ไทยนับหมื่นๆ ราย ให้สามารถนำผลผลิตและสินค้าไปขายในต่างประเทศ”
อ่านเพิ่มเติม
- CP ปรับโครงสร้างกลุ่มค้าปลีก โอนธุรกิจ Lotus’s ไทย-มาเลเซีย มูลค่า 2.17 แสนล้านให้ MAKRO
- เครือซีพีปรับโครงสร้างค้าปลีก พร้อมเดินหน้าขยายต่างประเทศ