ผลการศึกษาจากอะโดบี (Adobe) เผย เทรนด์ Work From Home ทำให้ “เวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลาทำงาน” พร้อมเตือนบริษัทเตรียมรับมือการลาออกครั้งใหญ่ของคน Gen Z ที่ต้องการออกแบบตารางเวลาชีวิตของตนเองอย่างอิสระมากกว่าเดิม
แม้ว่าการทำงานจากที่บ้านจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับวันทำงาน แต่ขณะเดียวกันองค์กรก็มีความคาดหวังเพิ่มสูงขึ้นว่าพนักงานจะต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอ และสำหรับหลาย ๆ คน เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ถูกหลอมรวมเป็นเส้นเดียวกันไปแล้ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้สึกกดดัน เครียด และเหนื่อยล้ามากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทาง Adobe จึงได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 5,500 คน ซึ่งประกอบด้วยพนักงานบริษัท ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก โดยมีการสอบถามเกี่ยวกับเวลาที่รู้สึกกดดันมากที่สุด และส่งผลกระทบกับชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องเวลาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
การทำงานจากที่บ้านส่งผลให้ “เวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลาทำงาน”
หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้านคือ “ก่อนนี้เราเคยใช้เวลาราวสองชั่วโมงต่อวันเดินทางไป-กลับที่ทำงาน แต่ตอนนี้เมื่อเราทำงานจากที่บ้าน เราใช้เวลาดังกล่าวไปกับเรื่องใดบ้าง?” คำตอบที่ได้คือ คนจำนวนมากใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้น
จากผลการสำรวจของอะโดบี พบว่า 49% ของพนักงานบริษัท และ 56% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่า ทุกวันนี้พวกเขาใช้เวลาทำงานยาวนานกว่าเดิม กล่าวคือ พนักงานบริษัททำงานโดยเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำงานโดยเฉลี่ย 45.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าชั่วโมงทำงานปกติ
เวลาที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นว่าพนักงานหรือผู้ประกอบการต้อง “พร้อมติดต่อได้เสมอ” แม้กระทั่งหลังเวลาเลิกงาน ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานบริษัท และ 3 ใน 5 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรู้สึกกดดันที่จะต้องตอบกลับอีเมล และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหลังเวลางาน
ภาวะหมดไฟในการทำงาน – ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ
ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) กลายเป็นปัญหาที่พบมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 1 ใน 3 ประสบกับปัญหาที่พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้า และหมดไฟในการทำงานเพราะความเครียดจากการทำงานในช่วงแพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ได้เกิดขึ้นในระดับที่เท่าเทียมกันกับคนทุกกลุ่ม กล่าวคือ ผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย (67%) ผู้ประกอบการที่เป็นสตรี (49%) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน (67%) มีความเครียดเกี่ยวกับเวลาในการทำงานมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย (52 เปอร์เซ็นต์) ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ชาย (38 เปอร์เซ็นต์) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กบางประเภท (49 เปอร์เซ็นต์)
ความเครียดดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวด้วย โดยผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย (64%) ผู้ประกอบการที่เป็นสตรี (54%) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน (60%) มีความเครียดในเรื่องชีวิตส่วนตัวมากขึ้นจากการที่ต้องคอยประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในเวลาเดียวกัน
“ในฐานะที่เป็นแม่และเจ้าของธุรกิจ ดิฉันต้องทำงานจิปาถะมากมายหลายอย่างตลอดทั้งวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งช่วงหัวค่ำหลังเวลาเลิกงาน และวันเสาร์-อาทิตย์” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายหนึ่งกล่าว
ผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย (55%) และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน (51%) ระบุว่าตนเองรู้สึกหมดไฟในการทำงานและการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่าตนเองยินดีที่จะขายธุรกิจในวันพรุ่งนี้ถ้าเป็นไปได้
Gen Z กับกระแส “การลาออกครั้งใหญ่”
จากผลการศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีพนักงานลาออกเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว พนักงานในสหรัฐฯ กว่า 4 ล้านคนลาออกจากงาน ตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ
เป็นที่แน่ชัดว่าเทรนด์นี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัท 35% ระบุว่าตนเองมีแผนที่จะเปลี่ยนงานในปีหน้า และ 61% ของคนกลุ่มนี้ระบุถึงเหตุผลว่าเป็นเพราะ “ต้องการที่จะออกแบบตารางเวลาชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น”
ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงยิ่งขึ้นสำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน โดยถึงแม้ว่าคน Gen Z จะเพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่กว่าครึ่งหนึ่งมีแผนที่จะหางานใหม่ในปีหน้า นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังระบุว่าพวกเขามีความพึงพอใจน้อยที่สุดกับ work-life balance (56%) รวมถึงอาชีพการทำงานโดยรวม (59%) และคนกลุ่มนี้รู้สึกกดดันมากที่สุดที่จะต้องทำงานใน “ช่วงเวลาทำงานตามปกติ” (62%) และหนึ่งในสี่ระบุว่าตนเองทำงานได้ดีที่สุดในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของคนรุ่น Gen Z ระบุว่าตนเองมักจะทำงานบนเตียงนอนเป็นประจำ
พนักงานต้องการ “เทคโนโลยี” เสริมศักยภาพการทำงาน
แม้ว่าแรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังเทรนด์เหล่านี้จะมีลักษณะซับซ้อน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากผลการสำรวจก็คือ พนักงานมีความคาดหวังที่สูงขึ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับงานง่ายๆ อย่างเช่น การจัดการไฟล์ แบบฟอร์ม สัญญา การชำระเงิน และใบแจ้งหนี้ พนักงานต้องใช้เวลาราวหนึ่งในสามของชั่วโมงทำงานไปกับงานธุรการที่ต้องทำซ้ำๆ โดย 86% ของพนักงานบริษัท และ 83% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่างานปลีกย่อยเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน 91% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความสนใจในเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานหรือกระบวนการต่าง ๆ เช่น Adobe Acrobat และ Adobe Sign
ในอนาคต พนักงานจะต้องทำงานร่วมกันกับคนที่อยู่ในออฟฟิศ และคนที่ทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการปรับใช้เครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย รวมไปถึงเทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติ เพื่อรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้ทำงานกับองค์กรไปนาน ๆ ผลการศึกษาของอะโดบีชี้ว่า พนักงานบริษัทราวครึ่งหนึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนงานถ้าหากว่าที่ทำงานใหม่มีเครื่องมือที่ดีกว่า ซึ่งจะช่วยให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แล้วถ้าหากพนักงานมีเวลาว่างมากขึ้นเพราะได้ตัวช่วยเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เขาจะใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่ไปกับเรื่องใด? ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามราวครึ่งหนึ่งมีแผนที่จะใช้เวลาไปกับเรื่องอื่นๆ ที่ตนเองสนใจ รวมถึงการพัฒนาทักษะและความสามารถเพื่อการเติบโตในอนาคต
หมายเหตุ
*ผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อย* ครอบคลุมผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเท่านั้น
*ธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คน* หมายถึง ธุรกิจที่จัดหาสินค้าหรือบริการที่จำเป็นให้แก่ผู้บริโภค เช่น ร้านขายของชำ บริการด้านสุขภาพ และบริการฉุกเฉินในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด