แม้ต้องเจอสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 แต่ร้านขนมหวานมหาชน After You ยังปิดปีด้วยตัวเลขกำไร 55 ล้านบาท แต่ก็ลดลงถึง 77% จากปี 2562 ที่ทำกำไรสูงถึง 237 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์ปีนี้ยังคงท้าทายและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและมาตรการคุมเข้มภาครัฐ ธุรกิจร้านอาหารยังกระทบหนัก หลังจากอาฟเตอร์ยู จบปี 2563 ด้วยตัวเลข “กำไร” มาในไตรมาส 2 ปี 2564 จึงเห็นตัวเลข “ขาดทุน” กลับมาอีกครั้ง
แม้ไตรมาสแรกปีนี้ผลประกอบการ บมจ.อาฟเตอร์ยู (AU) ยังโชว์กำไร 12 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ที่โควิดระลอกใหม่ ทำให้ต้องปิดสาขาชั่วคราว จึงต้องเจอกับภาวะขาดทุน 7 ล้านบาท แต่ตัวเลขรวมครึ่งปีแรกยังเป็นบวก คือ รายได้รวม 317 ล้านบาท ลดลง 13% กำไร 4 ล้านบาท ลดลง 60% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน After You ระยะสั้นน่าจะพลิกจากขาดทุนเป็น “กำไร” ได้ หลังการเปิดเมือง จากกลยุทธ์ต่างๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบ New Normal ในปัจจุบันและอนาคต ทำให้ยังมีการเติบโตระยะยาวจากหลายปัจจัย ได้แก่ โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ การออกแบรนด์ใหม่ และธุรกิจใหม่ที่ร่วมมือกับพันธมิตร (กลุ่ม BTS) และอื่นๆ
อาฟเตอร์ยู ได้ปรับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายการขายและบริหารไปแล้วตั้งแต่การแพร่ะระบาดโควิด ในไตรมาส 2 ปี 2563 โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายคงที่ ทั้งด้านพนักงานและค่าเช่า ซึ่งคิดเป็น 60% ของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวม โดยปรับตัวลดลง 32% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังภาครัฐคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ตามดู 3 กลยุทธ์สำคัญทำให้ “อาฟเตอร์ยู” ยังมีเรื่องราวน่าตื่นเต้น และน่าจะพลิกกลับมาทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว
1. โมเดลธุรกิจใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับ Now & New normal เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งบริการแบบเดลิเวอรี่ ที่ปัจจุบันคิดเป็น 15-30% ของยอดขาย จึงมีการสร้างครัวกลาง (Cloud Kitchen) เฟสแรก 6-7 แห่ง เพื่อรองรับบริการเดลิเวอรี่ ซึ่งมีการลงทุนที่ถูกลงกว่าหน้าร้านแบบปกติประมาณ 10 เท่า และมีต้นทุนดำเนินงานลดลงอย่างมาก
จากมาตรการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ อาฟเตอร์ยู มีแผนจัดตั้ง Cloud Kitchen กว่า 20 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับบริการเดลิเวอรี่ และทำให้พนักงานขนส่งอาหาร (Riders) เข้าถึงจุดรับสินค้าระยะใกล้อัตราค่าขนส่งถูกลง และยังทำต่อเนื่องในอนาคต
อีกช่องทางสร้างยอดขาย อาฟเตอร์ยูได้เพิ่มจุดจำหน่ายด้วยการ ออกบูธให้บริการนอกสถานที่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดผลกระทบบางส่วนจากการปิดสาขาชั่วคราวจากมาตรการคุมโควิดของภาครัฐ ตั้งแต่เกิดโควิดปี 2563 อาฟเตอร์ยู ได้เปิดบูธให้บริการเฉลี่ย 15 แห่งต่อเดือนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีบูธครอบคลุมหัวเมืองทุกภาคของประเทศ เช่น ลำปาง ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต เป็นการเปิดบูธจุดจำหน่ายแทนการลงทุนเปิดร้าน
2. ขยาย Marketplace ขายสินค้า take-home เพื่อสร้างยอดขายต่อตารางเมตรให้มากขึ้น จึงเปิดให้ให้บริการโซน Marketplace (ผลิตภัณฑ์แบบ To Go) ในสาขาร้านอาฟเตอร์ยู มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 โดยขยายมาต่อเนื่อง ตั้งเป้าเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 13 สาขา เป็น 30 สาขาในปลายปี 2564
3. แฟรนไชส์ MIKKA Café ขยายตัวจาก 34 สาขาในปลายปี 2563 (AU เป็นเจ้าของเอง 12 สาขา) มาอยู่ที่ 100 สาขาในปลายปี 2564 ประมาณการส่วนแบ่งยอดขาย MIKKA ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10% ของรายได้รวมอาฟเตอร์ยูในปี 2564 จากนั้นเป็น 12% ในปี 2565 และ 13% ในปี 2566 หากมีการขยายสาขา MIKKA มาอยู่ที่ 300-500 สาขาในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้กำไร AU มีโอกาสปรับขึ้น 7-20% ในปี 2566
มุมมองครึ่งปีหลัง 2564 อาฟเตอร์ยู เน้นการเติบโตในช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น After You ด้วย 2 แนวทาง คือ 1. รักษาฐานลูกค้าปัจจุบันผ่านลอยัลตี้ โปรแกรม สะสมคะแนนเมื่อซื้อสินค้า ส่วนลดพิเศษ การเพิ่มตัวเลือกสินค้าเมื่อซื้อผ่านแอป 2.เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการใหม่ด้วยโปรโมชั่นส่วนลดค่าจัดส่ง
ปัจจุบันรายได้อาฟเตอร์ยู มาจาก 4 ธุรกิจ
1. ร้านขนมหวานและเครื่องดื่ม สัดส่วน 83% โดยมี 42 สาขา ให้บริการรับประทานในร้าน เป็นสัดส่วน 46% บริการสินค้าซื้อกลับบ้าน After You Marketplace รวมทั้งการสั่งผ่าน Food Delivery สัดส่วน 54% การขายเครื่องดื่มและขนมหวานในร้านกาแฟ Mikka
2. การขายสินค้าและวัตถุดิบ สัดส่วน 6% เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป ขายผ่านช่องทางออนไลน์และสำนักงานใหญ่ รวมทั้งการจับจ้างผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมาย After You หรือตามความต้องการของลูกค้า
3. การขายและการจัดงานนอกสถานที่ สัดส่วน 10% โดยให้บริการจัดเลี้ยงในงานแต่งงานและงานโอกาสพิเศษ การออกบูธขายสินค้า (pop-up store)
4. ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ สัดส่วน 1% เป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้าร้าน After You เปิดแฟรนไชส์สาขาแรกที่ฮ่องกง และค่าธรรมเนียมต่างๆของแบรนด์ร้าน Mikka
ครึ่งปีแรก 2564 อาฟเตอร์ยู มีรายได้รวม 319 ล้านบาท ลดลง 13% เทียบปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากร้านขนมหวานและเครื่องดื่ม 271 ล้านบาท ลดลง 19% การขายสินค้าและวัตถุดิบ 16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% การขายและจัดงานนอกสถานที่ 26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% ค่าแฟรนไชส์ 4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 300%
หลักทรัพย์บัวหลวง ประมาณการ AU ยังมีผลขาดทุนในไตรมาส 3/64 แต่คาดการณ์พลิกเป็นกำไรในไตรมาส 4/64 คาดกำไรหลักจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 125 ล้านบาทในปี 2565 ฟื้นตัวในระดับ 50% ของกำไรในช่วงก่อนโควิดของปี 2562 โดยกำไรจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในระดับก่อนช่วงโควิดในปี 2568
อาฟเตอร์ยู ยังมีโอกาสเติบโตด้วยกลยุทธ์ S-curve ใหม่ จากออกแบรนด์ใหม่ สาขาใหม่ของธุรกิจที่การร่วมมือกับพันธมิตร BTS Group (ผู้ถือหุ้นอันดับ 3 สัดส่วน 9.77%) และโอกาสในการขยายสาขาในต่างประเทศ After You Dessert Café ในฮ่องกง ที่จะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2564 และการเซ็นสัญญากับพันธมิตรท้องถิ่นในจีน ช่วงไตรมาส 4/64 ทั้งหมดยังถือเป็นเรื่องน่าสนใจของอาฟเตอร์ยู ท่ามกลางสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน