แม้ทุกวันนี้จะเกิดย่านการค้าใหม่หลายแห่งในกรุงเทพฯ แต่ถึงอย่างไร “ย่านสยามสแควร์” ยังคงเป็นทำเลทองฝังเพชรที่ใครๆ ก็อยากจับจอง โดยเฉพาะ Developer รายใหญ่ในการสร้างโครงการเพื่อการพาณิชย์
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2563 “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ได้ประกาศเปิดให้เอกชน ผู้สนใจเช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพญาไท กับถนนพระรามที่ 1 โดยให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม
ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าว เดิมทีเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์สกาลา และอาคารพาณิชย์หลายสิบคูหาที่ประกอบกิจการประเภทต่างๆ ซึ่ง “โรงภาพยนตร์สกาลา” คือ 1 ใน 3 โรงภาพยนตร์ในตำนานที่อยู่คู่กับย่านสยามฯ มายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งได้ประกาศปิดฉากไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 อย่างน่าเสียดาย (อีก 2 โรงคือ โรงภาพยนตร์ลิโด ที่ปัจจุบันพัฒนาเป็น “ลิโด้ Connect” (Lido Connect) และโรงภาพยนตร์สยาม ที่ปัจจุบันคือ โครงการสยามสแควร์ วัน (SQ-1)
หลังจาก “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ประกาศเชิญชวนเอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาพื้นที่ Block A ดังกล่าวไป เมื่อ 9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ได้มีประกาศว่า ผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกได้เป็นผู้เช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณ Block A คือ “บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)” เป็นระยะเวลา 30 ปี
จับตาเตรียมพัฒนาโครงการเพื่อการค้าปลีก ?
คาดว่า “บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)” น่าจะเตรียมพัฒนาโครงการด้านค้าปลีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ “เซ็นทรัลพัฒนา” มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญมายาวนาน
การบุก “สยามสแควร์” ของเซ็นทรัลพัฒนาครั้งนี้ เป็นสัญญาณทำให้เห็นว่าต่อไปในพื้นที่ย่านสยามฯ จะแข่งขันกันดุเดือดยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีทั้งศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ (ผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บมจ.เอ็ม บี เค ถือหุ้นในสัดส่วน 48.66%) ประกอบด้วยศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ขณะที่ตรงบริเวณแยกปทุมวันมีศูนย์การค้าเอ็ม บี เค นอกจากนี้ยังมีโครงการที่พัฒนาโดยสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เช่นกัน
ขณะเดียวกันนับเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการพัฒนาโครงการในทำเลใจกลางเมืองของกลุ่มเซ็นทรัล เพราะนั่นเท่ากับว่าใน 3 ทำเลใจกลางเมือง ที่ประกอบด้วย “สยามสแควร์” – “ย่านราชประสงค์” และ “ชิดลม – เพลินจิต” กลุ่มเซ็นทรัล ได้ยึดครองสำเร็จแล้ว
ที่ดินจุฬาฯ กว่าพันไร่ พัฒนาด้วยแนวคิด 3L
ทั้งนี้ ปัจจุบันที่ดินภายใต้การบริหารจัดการของ “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) ในเขตปทุมวัน มีจำนวน 1,153 ไร่ แบ่งเป็นการใช้ประโยชน์ 3 ประเภท คือ
– เขตพื้นที่การศึกษา 637 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 55.25%
– เขตพื้นที่พาณิชย์ 385 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 33.39%
– เขตพื้นที่ราชการยืม และเช่าใช้ 131 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 11.36%
สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ วางกรอบการพัฒนาที่ดินกว่าพันไร่แห่งนี้ ภายใต้แนวคิด “3L” เพื่อเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ – ชุมชน – สังคม ประกอบด้วย
– Learning Style พื้นที่แห่งการเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์
– Living Style คุณภาพการดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดี
– Lifestyle ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และเติมเต็มไลฟ์สไตล์