เป็นที่ทราบกันดีว่า COVID-19 สร้างแรงสั่นสะเทือนมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเดินทาง ธุรกิจโรงแรมที่พัก และสายการบินทั่วโลก แต่หลังจากผ่านไปเกือบ 2 ปี เวลานี้หลายประเทศเริ่มเปิด การเดินทางระหว่างประเทศกลับมา ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม และสายการบิน
ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา “Standard International” (สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล) บริษัทแม่ของเครือโรงแรม “The Standard” (เดอะ สแตนดาร์ด) เป็นหนึ่งในเชนธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แต่สามารถประเมินสถานการณ์ และปรับแผน ทำให้ผ่านพ้นช่วงช่วงวิกฤตมาได้
ทว่าจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ “ธุรกิจท่องเที่ยว – ธุรกิจโรงแรม” ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถาวร
มาดูมุมมอง “มร. อมาร์ ลัลวานี่” ซีอีโอ Standard International กับความท้าทายของธุรกิจโรงแรมจากนี้ ต้องเจอกับอะไรบ้าง ?!?
ผลประกอบการปี ’64 กลับมาโต – คาดการณ์ “การเดินทางท่องเที่ยว – คอนเสิร์ต – อีเว้นท์” ฟื้นตัว
หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาด COVID-19 ในปีที่แล้วที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการทั่วโลกหยุดชะงัก แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2564 เริ่มมีการกระจายวัคซีน ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม เริ่มกลับมาฟื้นตัว แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ก็ตาม
มร. อมาร์ ลัลวานี่ ฉายภาพผลประกอบการโรงแรม The Standard ในปี 2564 กลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่า 20% นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงขณะนี้ (YTD) สูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้โรงแรม The Standard ทั้งในสหรัฐ และลอนดอนเติบโต
– ภาพรวมธุรกิจ The Standard ในสหรัฐอเมริกา ที่มีการกระจายวัคซีนมีประสิทธิภาพ และมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ รวมถึงการผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางมากขึ้น จึงทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยว ทั้งในประเทศ และต่างประเทศเดินทางในสหรัฐฯ
– โรงแรม The Standard ในนิวยอร์กมีการเติบโตที่ดี แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ก็ตาม ส่วนโรงแรมในไมอามี่ กลับมาโตในระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโรคระบาด
ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของโรงแรม The Standard ปี 2564 ในสหรัฐฯ สูงกว่าปี 2562 ด้วยค่าเฉลี่ยดัชนีการสร้างรายได้ (RGI) ที่ระดับ 134 ต่อ 122 เมื่อเทียบกับเครือโรงแรมคู่แข่งในระดับเดียวกัน
– ส่วนโรงแรม The Standard ในลอนดอน และมัลดีฟส์ ยังมีรายได้ต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มากเท่ากับช่วงก่อน COVID-19 เนื่องจากมีผลกระทบของข้อจำกัดการเดินทาง
นอกจากนี้ ซีอีโอ Standard International ยังคาดการณ์ว่าธุรกิจที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัวคือ การแสดงดนตรี การเดินทางท่องเที่ยว การประชุมสัมมนา อีเว้นท์ ห้องอาหาร บาร์ สปา Night Life สวนสนุก โรงงานการผลิต
เมื่อมองภาพรวมและแนวโน้มการท่องเที่ยวในเอเชีย พบว่า สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ และฮ่องกง เป็นตลาดแรกๆ ในเอเชียที่ผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากประชากรโดยเฉลี่ยมากกว่า 50% ได้รับการฉีดวัคซีน
รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งประชากรกว่า 40% ฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนออสเตรเลีย และอินเดีย ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอีก
ขณะที่ ประเทศไทย ยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยมีความต้องการอย่างมากที่อัดอั้นจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยมีกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย หัวหิน พัทยา และเชียงใหม่เป็นแม่เหล็กสำคัญ
6 ความท้าทาย และความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจท่องเที่ยว – โรงแรมทั่วโลก
แม้เวลานี้หลายประเทศกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา แต่ยังคงภายใต้สภาวะแห่งความท้าทายที่ต้องเฝ้าจับตามอง
“วิกฤตที่เรากำลังประสบในเวลานี้เป็นความท้าทายที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการไม่เคยเผชิญมาก่อน ซึ่งการจะฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับคืนมาเหมือนช่วงก่อน COVID-19 ระบาดนับว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก และการเกิดขึ้นของ COVID-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในหลายด้านให้กับธุรกิจโรงแรม” มร. อมาร์ ลัลวานี่ ซีอีโอ Standard International เล่าสถานการณ์ที่เผชิญ
ความท้าทาย และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจโรงแรมในมุมมองของ “ซีอีโอ Standard International” คือ
- การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า และข้อจำกัดการเดินทางที่แตกต่างกันทั่วโลก มีผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการคาดการณ์
- การเดินทางเพื่อการพักผ่อน (Leisure Travel) ฟื้นตัวขึ้น โดยนักเดินทาง/นักท่องเที่ยว จะมีการวางแผนเตรียมการมากขึ้น และเป็นทริปยาวขึ้นกว่าปกติ
ในขณะที่การเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) ฟื้นตัวได้ช้ากว่า เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีการประชุมออนไลน์ ทำให้หลายองค์กรพึ่งพาเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น และลดการเดินทางลง
- หลายประเทศประสบกับปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจโรงแรม และหลายคนยังรอโอกาสที่จะกลับมาทำงานในภาคธุรกิจนี้อีกครั้ง
- มาตรฐานสุขอนามัย กลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของทุกโรงแรม เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าที่มาพัก และใช้บริการ
- จะมีการใช้พื้นที่ Outdoor มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนอยากอยู่ในพื้นที่เปิด ในธรรมชาติ มากกว่าพื้นที่ปิด
- การออกแบบการใช้งานพื้นที่ภายในโรงแรม ต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ในช่วง COVID-19 โรงแรม The Standard ปรับพื้นที่จัดอีเว้นท์ เป็นล็อบบี้ และในส่วนไนต์คลับ เปลี่ยนเป็นร้านอาหาร
เดินหน้าลุยตลาดไทย เตรียมเปิด The Standard หัวหินปี ’64 และตึกมหานครปี ’65 – ตั้งเป้าระยะยาวขยาย 35 แห่งทั่วโลกใน 5 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันในเครือ Standard International มีโรงแรมในเครือ 3 แบรนด์หลักคือ The Standard, Bunkhouse และ The Peri Hotel
เฉพาะแบรนด์ The Standard ซึ่งเป็นแบรนด์หลักของกรุ๊ป มีโรงแรม 7 แห่ง ห้องพัก 1,297 ห้อง ห้องอาหาร และบาร์กว่า 28 แห่ง พนักงานกว่า 1,500 คน โดยเป็นผู้นำบูทีคโฮเทล (Boutique Hotel) ในตลาดสหรัฐฯ ลอนดอน และมัลดีฟส์
แผนการขยายโรงแรม The Standard เตรียมเปิดอีก 9 แห่งใน 8 ประเทศ รวม 1,828 ห้อง คือ
– หัวหิน “The Standard Hua Hin” เปิดให้บริการเดือนธันวาคม ปี 2564 จะเป็นรีสอร์ทริมทะเลแห่งแรกของ The Standard ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– กรุงเทพฯ “The Standard Bangkok Mahanakorn” ที่ตึกมหานคร เปิดให้บริการปี 2565 เป็น Flagship Hotel ของ The Standard ในเอเชีย
– อิบิซ่า ประเทศสเปน เปิดให้บริการปี 2565
– สิงคโปร์ เปิดให้บริการปี 2566
– เมลเบิร์น ออสเตรเลีย เปิดให้บริการปี 2566
– ลิสบอน โปรตุเกส เปิดให้บริการ 2566
– บรัสเซลส์ เบลเยียม เปิดให้บริการปี 2568
– ดับลิน ไอร์แลนด์ เปิดให้บริการปี 2568
– ลาสเวกัส สหรัฐฯ เปิดให้บริการปี 2568
ปัจจัยสำคัญที่ Standard International เลือกเปิดโรงแรมในไทย 2 แห่ง เนื่องจาก
- แม้ในปี 2563 สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาไทยเพียง 6.7 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ที่มี 39.8 ล้านคน แต่เชื่อว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยวทั่วโลก และมีความต้องการจะกลับมาเที่ยวหลังจากที่อัดอั้น
- ด้วยความที่ Brand DNA ของ The Standard คือ การนำเสนอความเป็นศิลปะ แฟชั่น ดนตรี อาหารการกิน Night Life วัฒนธรรม ชุมชน เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าเมืองที่มี The Standard เลือกทำตลาด จะเป็นเมืองที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ ซึ่งหลาย
อย่างประเทศไทย “กรุงเทพฯ” ก่อนเกิด COVID-19 เป็นเมืองที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ตามรายงานจากมาสเตอร์การ์ด อีกทั้งมีจุดแข็งตรงที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ครบวงจร ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ความบันเทิง แหล่งช้อปปิ้ง ศูนย์การประชุม ระบบคมนาคม
ในขณะที่ “หัวหิน” เป็นเมืองตากอากาศ และได้รับแรงหนุนจากตลาดในประเทศ โดยก่อนเกิด COVID-19 74% ของนักท่องเที่ยวมาจากในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ที่นิยมเดินทางมาในช่วงสุดสัปดาห์ จึงทำให้มี Demand ที่พักสูงในคืนวันศุกร์ และวันเสาร์
ประกอบกับการมีโครงการหัวหิน รีชาร์จ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนท้องถิ่น เพื่อเร่งให้เกิดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายฉีดวัคซีน 100% ให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยว และ 70% ของประชาชนในหัวหินภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยว
- แม้ในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของไทย มีโรงแรมจำนวนมาก โดยเฉพาะเชนใหญ่ระดับโลก แต่ยังมี “ช่องว่าง” ในการขยายธุรกิจ ด้วยการนำเสนอ “ความแตกต่าง” ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ศิลปะ แฟชั่น ดนตรี อาหารการกิน และ Night Life ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ The Standard
ขณะที่เป้าหมายระยะยาว Standard International มีแผนขยายจำนวนโรงแรมในเครือเป็น 35 แห่งทั่วโลกใน 5 ปีข้างหน้า
“เราไม่ได้เป็นโรงแรมที่มีการรีโนเวททุกๆ 7 ปีเหมือนที่อื่น แต่ทุกครั้งที่ลูกค้ากลับมาใช้บริการ จะได้เจอเซอร์ไพรส์อยู่เรื่อยๆ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแบรนด์ The Standard ถึงต้องกลับหัว”