เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืน เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ทำให้ทิศทางธุรกิจวันนี้ และในอนาคต แบรนด์/องค์กรขยับสู่โมเดล “Circular Economy” หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ จัดหาวัตถุดิบ ผลิต ไปจนถึงปลายน้ำ และขั้นตอนหลังการบริโภค ที่ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ โดยบางองค์กรมีเป้าหมายลดขยะให้เป็นศูนย์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยหนึ่งในวิธีการไปสู่โมเดล “Circular Economy” คือ การเปิดบริการรับซื้อสินค้าคืน (Buy Back) และขายต่อ (Resell) เป็นสินค้ามือสอง
อย่างเชนค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านระดับโลก “IKEA” (อิเกีย) วางเป้าหมายจะทราสฟอร์มโมเดลธุรกิจไปสู่ “Circular Business” ซึ่งเป็น Purpose-driven ที่ต้องการสร้างผลเชิงบวกทั้งต่อธุรกิจ IKEA ลูกค้า การจัดหาและพัฒนาวัสดุในระบบซัพพลายเชน ยืดอายุสินค้าและวัสดุ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนาน ด้วยระบบหมุนเวียน 4 วิธีคือ
– นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse)
– ซ่อมแซม-ตกแต่งใหม่ (Refurbishment)
– สินค้าที่ใช้งานแล้ว นำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เพื่อปรับปรุง/แปรสภาพ ให้มีรูปลักษณ์ และคุณสมบัติเหมือนของใหม่ (Remanufacturing)
– รีไซเคิล (Recycling)
จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว “IKEA” ในต่างประเทศได้เริ่มทดลองเปิดบริการ “รับซื้อเฟอร์นิเจอร์ IKEA ใช้แล้ว” เพื่อนำมาขายเป็น “สินค้ามือสอง” ลดปริมาณขยะเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องนำไปฝังกลบ
ล่าสุด “IKEA ประเทศไทย” ได้เปิดให้บริการดังกล่าวแล้ว!
เปิดโซน “Circular Shop” คืนชีวิตครั้งที่ 2 ให้เฟอร์นิเจอร์
จากการสำรวจ Brand Buffet พบว่าล่าสุด “IKEA ประเทศไทย” เปิดโซนชื่อว่า “Circular Shop” นำร่องที่ IKEA สาขาบางใหญ่
คอนเซ็ปต์โซนนี้คือ รับซื้อเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จากนั้นทาง IKEA จะนำเฟอร์นิเจอร์ที่ลูกค้านำมาขายคืน ขายเป็น “สินค้ามือสอง” ในราคาย่อมเยา เพื่อคืนชีวิตครั้งที่ 2 ให้กับสินค้า เพื่อลดปริมาณขยะ
สำหรับขั้นตอนสำหรับลูกค้าที่ต้องการนำสินค้า IKEA มาขายคืน
– ลูกค้านำเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ IKEA ที่เห็นว่าไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือไม่ต้องการแล้ว และยังอยู่ในสภาพดี สามารถใช้งานได้ มาที่สาขา “IKEA บางใหญ่” (ปัจจุบันเปิดให้บริการสาขาบางใหญ่ก่อน)
– ในโซน “Circular Shop” จะมีพนักงาน IKEA คอยตรวจสอบสภาพสินค้าที่ลูกค้านำมาขายคืนว่ายังอยู่ในสภาพใช้งานได้หรือไม่ และประเมินว่าหากนำไปขายเป็นมือสอง จะเป็นอันตรายต่อลูกค้าที่ซื้อกลับไปหรือไม่
– การขายคืนสินค้า IKEA ลูกค้าจะได้เป็น “Gift Card” ลูกค้าสามารถนำแต้มไปช้อปสินค้าอื่นใน IKEA ต่อได้
ส่วนวิธีการซื้อสินค้าในโซน “Circular Shop”
– ลูกค้าต้องตรวจดูสินค้า และป้ายราคา เพื่อให้ทราบเหตุผลที่สินค้าชิ้นนั้นถูกนำมาจำหน่ายที่ Circular Shop ซึ่งจะมีป้ายโลโก้สีเขียว พร้อมประโยคว่า “สวัสดี! ฉันกำลังหาบ้านใหม่”
– หยิบสินค้าที่ต้องการซื้อไว้ ไม่สามารถจองสินค้า เพื่อกลับมาซื้อภายหลังได้
– นำสินค้าไปชำระเงิน
– สินค้าใน Circular Shop ไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน และไม่สามารถเปลี่ยน หรือคืนเงินได้
นอกจากเปิด Circular Shop ในสาขาแล้ว “IKEA” ยังได้เปิดจุด “Recycling Center” โดยลูกค้าสามารถเอาวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้มาแลกเป็น IKEA Family Points เพื่อนำไปช้อปในสโตร์ได้อีก
“Circular Shop” ทำให้คนไทยเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์เร็วขึ้น – เพิ่มทางเลือกช้อปสินค้า IKEA ในราคาสุดคุ้มกว่าเดิม
นอกจาก “Circular Shop” จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ต่อแผน Circular Business ของ IKEA แล้ว การเปิดบริการนี้ในไทย ยังแป็นการแก้ Pain Point ของผู้บริโภคไทยที่อยากเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ หรือของตกแต่งบ้าน แต่ไม่รู้จะนำของเหล่านั้นไปไว้ที่ไหน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่อันหนึ่งของตลาดเฟอร์นิเจอร์ในไทย ส่งผลให้ที่ผ่านมารอบการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ของคนไทย โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ปีถึงจะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เรียกได้ว่าใช้จนกว่าจะพัง!
เมื่อ IKEA มีบริการรับซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์มือสอง ย่อมทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกสินค้า IKEA ได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลว่าหากซื้อมาแล้ว เมื่อวันหนึ่งอยากเปลี่ยน หรือไม่ได้ใช้งานของชิ้นนั้น ๆ แล้ว หากสินค้านั้นยังอยู่ในสภาพดี ก็สามารถนำมาขายคืนให้กับ IKEA ได้ จึงทำให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องใช้จนกว่าจะพัง หรือรอจนกว่าจะมีสถานที่ทิ้ง หรือมีคนมารับต่อ
ขณะเดียวกัน Circular Shop ยังเป็นโมเดลที่ทำให้ IKEA รักษาฐานลูกค้าเก่า ไปพร้อมกับการสร้าง Engagement เพราะเมื่อลูกค้านำเฟอร์นิเจอร์มาขายคืนที่ Circular Shop จะได้เป็น Gift Card สำหรับนำไปซื้อสินค้าในสโตร์ ทำให้เกิดการซื้อและใช้สินค้า IKEA ต่อเนื่อง จนกลายเป็นความผูกพันในแบรนด์
ยิ่งทุกวันนี้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้หนึ่งในปัจจัยการตัวเลือกแบรนด์ หรือสินค้าในยุคนี้ มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจซื้อ แบรนด์ไหนที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะเลือกแบรนด์นั้นๆ
นอกจากนี้การเปิด Circular Shop ยังเพิ่ม “ทางเลือก” ในการช้อปสินค้า IKEA ให้ได้ความคุ้มค่าคุ้มราคากว่าเดิม ด้วยการช้อปสินค้ามือสอง สภาพดี ในราคาถูกลงกว่าสินค้าใหม่
นับเป็น Win – Win ที่ได้กับทั้ง “IKEA” ในการสร้าง Circular Business Ecosystem และฝั่งลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่นำสินค้ามาขายคืน หรือลูกค้าที่มาช้อปสินค้ามือสอง
ส่วนใครที่อยู่โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เช่น ย่านอ่อนนุช ย่านบางนา ย่านศรีนครินทร์ หรือสะดวกเดินทางไป IKEA สาขาเมกาบางนาอยู่แล้ว Brand Buffet ทราบมาว่า IKEA เตรียมขยายบริการ “Circular Shop” ไปที่สาขาบางนาอย่างแน่นอน
- อ่านเพิ่มเติม: จับตาแบรนด์ใหญ่ “H&M – Nike – Mulberry – IKEA” รุกตลาดมือสอง โมเดลธุรกิจยุค Circular Economy