เบอร์หนึ่งธุรกิจอีเวนท์ไทยและอันดับ 7 ของโลก “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 บัลลังก์ยังสะเทือน จากปกติมีรายได้ปีละ 1,400-1,500 ล้านบาท เคยสูงสุด 2,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขในปี 2563 ทำได้ 408 ล้านบาท นั่นหมายถึงรายได้ถอยหลังไป 20 ปี เรียกว่าต้องกลับไปเป็น “เอสเอ็มอี” อีกครั้ง
“ปี 2563 เป็นปีแห่งความพินาศของอีเวนท์ แม้ช่วงปลายปีเริ่มฟื้นตัว แต่พอเข้าเดือนเมษายน ปี 2564 ต้องเจอกับระลอก 3 ตามด้วยระลอก 4 ช่วง 2 ปีนี้ รายได้อินเด็กซ์ฯ หายไปกว่า 2,000 ล้านบาท ไซซ์ธุรกิจเรากลับไปเป็นเอสเอ็มอี รายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท จึงเข้าเกณฑ์กู้ซอฟต์โลนผ่าน” คุณเมฆ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองโควิดต่อผลกระทบธุรกิจอีเวนท์
สู้ไม่ถอยผุดสารพัดโปรเจกต์หารายได้
นับตั้งแต่เกิดโควิดปี 2563 “อีเวนท์” กิจกรรมรวมกลุ่มเป็นสิ่งที่ทำได้ยากหลายบริษัทเลือกที่จะหยุดกิจการไว้ก่อน เมื่อธุรกิจหลักกระทบ แต่อินเด็กซ์ฯ ขอสู้ต่อ จึงเห็น Speed ในการปรับตัว เปลี่ยนธุรกิจทันที เพื่อสร้างงาน หารายได้ดูแลพนักงานที่มีอยู่กว่า 350 คน
โปรเจกต์ใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น ประเดิมด้วย Kill & Klean บริการ Hygienic Solution การทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในอาคารและสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด ธุรกิจนี้ยังไปได้ดี ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ 25 ราย ใน 6 ประเทศกลุ่มอาเซียน กระจายอยู่ใน 28 เมือง
เช่นเดียวกับ ANYA Meditec ธุรกิจบริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพ ด้วยการเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มด้วยบริการการทดสอบประสิทธิภาพในการนอน (Sleep Test) เฟสต่อมาให้บริการ Anti Aging วางแผนขยายบริการทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับโรงแรมและโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ และเตรียมขยายไปต่างประเทศ
ส่วนธุรกิจอีเวนท์ปกติทำได้ยาก ช่วงคลายล็อกดาวน์ปลายปีก่อน จึงปรับรูปแบบคอนเสิร์ตใหม่เป็น Hybrid Concert ด้วยโมเดลที่ ออร์กาไนเซอร์ สถานที่จัดงาน (Hall) และศิลปิน มาร่วมกันทำงานโดยไม่ต้องมีผู้จ้าง แต่ทุกคนลงทุนในทรัพยากรที่ตัวเองมี ขายบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตทั้งออนกราวด์และสตรีมมิ่ง จากนั้นนำรายได้มาแบ่งกัน จัดครั้งแรกเดือนกรกฎาคม กับคอนเสิร์ต “เจ-เจตริน วรรธนะสิน และ ติ๊นา-คริสติน่า อากีล่าร์” เดือนสิงหาคม จัดคอนเสิร์ต “บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์” และวงเครสเซนโด ช่วงปลายปีนี้หลังคลายล็อกดาวน์จะจัดต่อเนื่อง
แต่ก็ใช่ว่าทุกโปรเจกต์ที่ทำจะไปต่อได้หมด อย่าง ธุรกิจแฟรนไชส์ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ KK Wash ที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2564 ด้วยเป้าหมายเจาะกลุ่มที่ต้องการสร้างรายได้เสริมจากงานประจำ จึงทำแฟรนไชส์ตู้ซักผ้าหยอดเหรียญต้นทุนต่ำ เริ่มต้น 99,900 บาท ให้บริการด้วยเครื่องซักซิงเกอร์ 9.5 กก. 1 เครื่อง เครื่องซักผ้า 15 กก. 1 เครื่อง อุปกรณ์ตกแต่งร้าน และรายการส่งเสริมการขาย ธุรกิจนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งจากปัจจัยการแข่งขันสูงมีผู้เล่นในตลาดหลายราย อีกทั้งสามารถซื้อเครื่องซักผ้าจากแบรนด์ต่างๆ มาเปิดบริการได้เองโดยไม่ต้องมีแฟรนไชส์ แม้ KK Wash จะไม่สำเร็จแต่ก็เป็นอีกโอกาสให้ทีมงานได้เรียนรู้ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ
ไตรมาส 4 ปั้น Own-Project ฟื้นธุรกิจอีเวนท์
ส่วนสถานการณ์อีเวนท์ปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ไตรมาส 4 เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากแผนเปิดประเทศ เมื่อสถานการณ์โควิดมีผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยมียอดสะสมรวม 40 ล้านโดส จึงมั่นใจว่าโควิดเริ่มอยู่ในช่วงขาลงแล้ว
อินเด็กซ์ฯ จึงปักธงกลับมาจัดอีเวนท์รูปแบบ Outdoor อีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงครึ่งปีแรก 2565 โดยเป็นรูปแบบ Own-Project กิจกรรมที่จัดขึ้นเอง หารายได้จากค่าตั๋วเข้าชม มี 4 อีเวนท์ ใช้เงินลงทุนราว 40 ล้านบาท
1. สปอร์ต & ไลฟ์สไตล์ อีเวนท์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ จัดลานกิจกรรมทั้งบนบกและในน้ำ เปิดลานสเก็ตรูปแบบใหม่พร้อมกราฟฟิตี้ กิจกรรมพายเรือคายัค หรือซับบอร์ด เจาะกลุ่มสายลุยที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง ท่ามกลางธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองโบราณ นอกจากนี้ยังมีอีเวนท์แข่งวิ่ง 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร ในระยะเวลาจำกัดแค่ 1 ชั่วโมง และครั้งแรกของการแข่งขันความเร็ว กับอุปกรณ์ที่มีล้อไม่ว่าจะเป็น Roller Skate, Skate Board หรือ Scooter, One wheel ก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ อีเวนท์จะทำให้ เมืองโบราณ มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ จากเดิมที่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมด
2. เฟสติวัลงาน Forest of Illumination ครั้งแรกกับงานแสดงแสงสีบนผืนป่ายามค่ำคืน ณ คีรีมายา จังหวัดนครราชสีมา จัดระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 – 16 มกราคม 2565 สำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบผจญภัยกับเส้นทางการเดินป่าครั้งใหม่ 7 จุดหมาย เปิดขายบัตรเข้างานที่ www.villageofillumination.com ราคา 300 บาท
3. เฟสติวัลงาน Thailand International Lantern & Food Festival เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ช่วงเทศกาลลอยกระทง จัดระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2564 ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ครั้งแรกของเทศกาลประดับโคมและอาหารนานาชาติ เพื่อเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้กับเมืองโบราณ
4. เมืองโบราณ ไลท์ เฟส 2565 “3 อาณาจักรแห่งความรุ่งโรจน์” นำเสนอในรูปแบบเดอะมิวสิคัล ผ่านแสง สี เสียง และมัลติมีเดีย ถ่ายทอดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
แม้สถานการณ์โควิดมีทิศทางดีขึ้น หลายธุรกิจน่าจะได้ผ่อนปรนให้กลับมาเปิดได้เพิ่มในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่การทำกิจกรรมรูปแบบ อีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง ของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอนเสิร์ตยังไม่กลับมาเร็วนัก อินเด็กซ์ฯ จึงต้องทำอีเวนท์ในรูปแบบ Own-Project ขึ้นมาเอง และหารายได้จากการขายบัตรเข้าชมงาน โดยไม่รอสปอนเซอร์สนับสนุนเหมือนการจัดอีเวนท์หรือเฟสติวัลที่ผ่านมา ในปี 2565 เตรียมงานอีเวนท์และเฟสติวัลไว้แล้ว 11 งาน
หวัง 2 ปีรายได้กลับไปเท่าก่อนโควิด
อินเด็กซ์ฯ ทำธุรกิจอีเวนท์มา 30 ปี รายได้แตะ 1,000 ล้านบาทครั้งแรกในปี 2550 จากนั้นในปี 2555 ทำรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากมีอีเวนท์พิเศษเข้ามา 2 งานใหญ่ BOI Fair และ World Expo เกาหลีใต้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรายได้เฉลี่ยปีละ 1,400-1,500 ล้านบาท
ก่อนโควิดปี 2562 อินเด็กซ์ฯ มีรายได้ 1,326 ล้านบาท รายได้หลักมาจากมาร์เก็ตติ้ง อีเวนท์ 73% การพัฒนาธุรกิจใหม่ 20% และ Own-Project 6.2%
ช่วงโควิดปี 2563 รายได้ลดลงเหลือ 408 ล้านบาท จากมาร์เก็ตติ้งอีเวนท์ได้รับผลกระทบหนัก และยังลดลงต่อเนื่องในปี 2564 ขณะที่การพัฒนาธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดการณ์รายได้รวมอยู่ที่ 669 ล้านบาท
หลังจากนี้จะเน้นขยายงานด้านการพัฒนาธุรกิจใหม่และ Own-Project ให้มีสัดส่วน 40-50% ของรายได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากกลุ่มมาร์เก็ตติ้งอีเวนท์ โดยกลุ่มที่มีโอกาสขยายได้ คืองานในต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง หลังจากปีนี้อินเด็กซ์ฯ ได้โชว์ผลงานสร้าง ไทยแลนด์ พาวิลเลียน ในงาน World Expo ดูไบ เชื่อว่าจะเป็นสปริงบอร์ดให้มีการจ้างงานและทำโปรเจกต์ใหม่ในต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง
เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายเชื่อว่าธุรกิจท่องเที่ยวและอีเวนท์จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว จากแผนเปิดประเทศท่องเที่ยวรูปแบบ Sandbox ในหลายจังหวัดที่รัฐบาลวางไว้ แต่ขณะนี้ยังมีอุปสรรคเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์กักตัวนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เพราะเมื่อฉีดวัคซีนและแสดงผลตรวจก่อนเดินทางแล้วก็ควรท่องเที่ยวในเมือง Sandbox ต่างๆ ได้ปกติ เพื่อช่วยกระจายรายได้
เช่นเดียวกับคนไทยที่ขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมากก็ต้องผ่อนคลายให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้ปกติ แต่ยังคงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ถึงเวลาแล้วที่โลกและประเทศไทยต้อง Back to normal อยู่กับโควิดให้ได้
จากแนวโน้มสถานการณ์ต่างๆเริ่มดีขึ้น อินเด็กซ์ฯ ประเมินว่าปี 2565 ธุรกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ 70-80% ของช่วงก่อนโควิด และปี 2566 จะกลับมามีรายได้ปกติเท่ากับก่อนโควิด
แม้สถานการณ์โควิดยังเป็นความท้าทายของธุรกิจ แต่เชื่อว่าการปรับตัวเร็วและมองหาโอกาสใหม่ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ยังสร้างโอกาสให้ไปต่อได้
อ่านเพิ่มเติม
- โควิดทำรายได้อีเวนท์หายไป 70% “อินเด็กซ์” แก้เกมอย่างไรให้รอด
- มรสุมอีเวนท์ 20 ปี จากต้มยำกุ้งถึง Covid-19 ถอดวิธีคิด ‘อินเด็กซ์’ ยืนระยะให้รอดแล้ว Diversify