Food Delivery เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ และการเติบโตนี้ก็มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้และมาแชร์ภาพกันให้ชัดเจนมากขึ้นในงาน DAAT DAY 2021 ก็คือคุณยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอ ไลน์แมน วงใน โดยสิ่งที่ “ไลน์แมน วงใน” พบมีตั้งแต่
– พบการสั่งซื้ออาหารในระดับ New-High ในวันแม่ (12 สิงหาคม 2021) ทั้งจำนวนออเดอร์ และมูลค่าออเดอร์ แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคแม้อยู่บ้านก็อยากฉลองให้คุณแม่
– จากที่การสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery มักเริ่มต้นจากพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ตอนนี้ การสั่งอาหารกลายเป็นเรื่องปกติของคนทั้งประเทศไปแล้ว โดยไลน์แมน วงใน พบการสั่งอาหารเพิ่มมากขึ้นจากปริมณฑล เช่น จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ไปจนถึงหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี หรือจังหวัดอื่นๆ เช่น ตราด จันทบุรีก็พบเช่นกัน
– หลังจาก Covid-19 ผ่านไป เชื่อว่าจะมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังคงสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery ต่อ หรืออาจกล่าวได้ว่า คนบางส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมเลย ไม่กลับไปมีพฤติกรรมแบบเดิมก่อน Covid-19 ระบาดอีก เพราะข้อดีของ Food Delivery คือไม่ต้องไปรอคิวหน้าร้าน ไม่ต้องหาที่จอดรถ ซึ่งพฤติกรรมข้อนี้เหมือนกับการซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพียงแต่ข้อสังเกตของคุณยอดคือ การเติบโตของแพลตฟอร์ม Food Delivery อาจจะช้าลง
– อาหารที่คนไทยนิยมสั่งผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery มากที่สุดยังคงเป็นอาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ และอาหารไทย
– ในการล็อกดาวน์ พบว่ามีกลุ่มร้านอาหารที่ไม่ Match กับแพลตฟอร์ม Food Delivery อยู่เช่นกัน นั่นคือร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ และร้านแบบไฟน์ไดนิ่ง ซึ่งควรได้รับความช่วยเหลือ เพราะอาจไม่ใช่กลุ่มที่มีลูกค้าเป้าหมายอยู่บนแพลตฟอร์ม Food Delivery
– เส้นทางการทำกำไรของแพลตฟอร์ม Food Delivery อาจอยู่ที่จำนวนผู้เล่นในตลาด โดยคุณยอดได้ยกตัวอย่างกรณีของต่างประเทศที่มีผู้เล่นในตลาดเพียง 2- 3 ราย ประกอบกับถ้ามีออเดอร์มากขึ้น ความหนาแน่นของออเดอร์มากขึ้น แทนที่ไรเดอร์จะวิ่งรับออเดอร์ได้ทีละครั้ง ก็อาจจะกลายเป็น Multiple order ต้นทุนในการบริหารจัดการก็จะต่ำลง ความดุเดือดในการแข่งขันก็จะน้อยลง โอกาสที่จะทำกำไรก็มีมากขึ้นได้ในที่สุด