สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดรายงาน “Thailand Startup Ecosystem Report 2021” พบ 4 ปัญหาสำคัญทำสตาร์ทอัพไทยโตช้า “ขาดกำลังคน-เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน-เข้าไม่ถึงกลุ่มลูกค้า-ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ” พร้อมแนะแนวทางแก้ไข เชื่อสามารถดัน Ecosystem ของสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตได้อีกครั้ง
สำหรับ 4 ความท้าทายที่ถูกเปิดเผยในรายงาน Thailand Startup Ecosystem Report 2021 ประกอบด้วย
ความพร้อมของกำลังคน
ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ขาดทักษะในการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยียังมีจำนวนไม่เพียงพอ อีกทั้งสตาร์ทอัพเองไม่สามารถจ้างแรงงานที่มีฝีมือด้านเทคโนโลยีที่มีฐานเงินเดือนสูงได้
NIA จึงเสนอแนะให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม พร้อมสร้างแพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์เพื่อเข้าถึงแรงงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือด้านเทคโนโลยี พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการได้รับเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงานบางส่วนจากรัฐบาลเพื่อช่วยแบ่งเบาต้นทุนของสตาร์ทอัพ
แหล่งเงินทุน
สตาร์ทอัพยังไม่มีแผนการเงินและแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าบริษัทในระยะยาว อีกทั้งนักลงทุนส่วนใหญ่สนใจลงทุนเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้น ทำให้บางธุรกิจที่ไม่ได้รับความนิยม หาแหล่งเงินทุนได้ยาก
สตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นไม่ได้รับการส่งเสริมที่มากพอ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงวงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาต่อยอดการทำธุรกิจได้ จึงมีข้อเสนอให้สนับสนุนสตาร์ทอัพให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานคู่มือการระดมทุนเพื่อกำหนดทิศทางทั้งระบบนิเวศ สร้างแพลตฟอร์มรวบรวมและประชาสัมพันธ์ข่าวสารการระดมทุนจากในประเทศและต่างประเทศ
การหากลุ่มลูกค้าและการขยายธุรกิจ
สตาร์ทอัพยังขาดประสบการณ์ในการติดต่อกับกลุ่มลูกค้าระดับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการตลาดและการทำธุรกิจในต่างประเทศ ขาดการวางแผนการเงิน เพื่อหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะจึงเป็นการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค สนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันสตาร์ทอัพไทยเข้าสู่ระบบการค้นหาในตลาดโลกเพื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลก
การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พบว่าภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเป็นผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง อีกทั้งควรสนับสนุนด้านเงินทุน รวมถึงการสร้างเกณฑ์คุณสมบัติในการรับทุนที่เอื้อต่อทุกธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้น
เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพสู่การเป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย รัฐควรสร้างฐานความรู้งานวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาเขตพื้นที่นำร่องย่านนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่รัฐดิจิทัล (Digital Government) และพัฒนาหลักเกณฑ์หรือระเบียบทางราชการให้มีความคล่องตัว โดยอาศัยการเข้าถึงบริการจากภาครัฐด้วยเทคโนโลยี (Gov Tech) เป็นตัวเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการทำงานแทนที่การติดต่อและเข้าถึงภาครัฐแบบเดิม ควบคู่ไปกับการให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายของรัฐบาลหรือปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้เข้าถึงผลประโยชน์ของประชาชนได้
เปิด 4 แนวทางแข่งขัน
นอกจากนั้นจากรายงานฉบับนี้ยังได้วางแนวทางให้สตาร์ทอัพในด้านการใช้ความสามารถในการประกอบธุรกิจและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกด้าน เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพจะถูกนำไปใช้ประกอบการการวางแผนส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย โดยคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติในอนาคตภายใต้ 4 แนวทาง คือ
1) Build up awareness – การสร้างความตระหนักรู้ และการรับรู้เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เติบโตขึ้น ทั้งการสร้างศูนย์กลางแห่งการประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนสื่อสาธารณะให้รับรู้และเข้าใจธุรกิจสตาร์ทอัพ
2) Ease of Doing Business – การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสตาร์ทอัพ ทั้งเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว การรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติสำหรับสตาร์ทอัพเพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาย่านนวัตกรรมเพื่อรองรับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
3) Strengthen Ecosystem – การส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเริ่มตั้งแต่การปฎิรูประบบการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในเด็กรุ่นใหม่ การวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีสำหรับอนาคต ไปจนถึงการสร้างสถาบันสนับสนุนผู้ประกอบการ
4) Incentives & Supports – การออกมาตรการสนับสนุนโดยภาครัฐทั้งด้านการเงิน/การคลังแก่สตาร์ทอัพ การวางแนวทางผ่อนปรนสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้เหมาะสมกับการพัฒนาและการเติบโตของสตาร์ทอัพ และการวางแนวทางสนับสนุนการจัดเรตติ้งเทคโนโลยี และการค้ำประกันสินเชื่อเทคโนโลยี
พบเงินลงทุนเพิ่ม
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ TECHSAUCE STARTUP DIRECTORY ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการระดมทุนในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 369 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการลงทุน 36 ครั้ง นับว่าเป็นปีที่การระดมทุนมีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย
สำหรับในปี 2564 นี้ มูลค่าการลงทุนมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลการลงทุนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 289 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการลงทุน 37 ครั้ง โดยการระดมทุนใน Series D+ ของ Flash Express ยังคงมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตามมาด้วย Zipmax ที่ได้ระดมทุนใน Series A ที่ 55.98 ล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับที่ 3 คือการระดมทุนของ Sunday Insurance ใน Series ที่ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในระบบนิเวศสตาร์ทอัพต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยที่ยังสามารถก้าวไปสู่ระดับ Regional Player ได้อย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 ได้ที่เว็ปไซต์ www.startupthailand.org