HomeFeaturedธรรมะขายขำ “พระมหาไพรวัลย์” ดิสรัปชั่นแห่งวงการผ้าเหลือง และ สะเทือนเมืองทิพย์

ธรรมะขายขำ “พระมหาไพรวัลย์” ดิสรัปชั่นแห่งวงการผ้าเหลือง และ สะเทือนเมืองทิพย์

แชร์ :

จาก 1 แสน สู่ 5 แสน page like ภายใน 3 วัน (และปัจจุบัน 1 ล้านเป็นที่เรียบร้อยหลังจากไลฟ์สดคู่กับพระมหาสมปอง) ดูจะเป็นสถิติที่เป็นไปได้ยากสำหรับคนทำเพจในยุคนี้ แต่ไม่น่าเชื่อว่าเพจ “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” (แน่นอนคุณอ่านไม่ผิดนี่คือเพจของพระสงฆ์) จะสามารถกวาดผู้ติดตามหน้าใหม่ทุกเพศ ทุกวัย ที่อาจจะเคยมองว่าศาสนาเป็นเรื่องที่ไกลตัว ให้มาติดตามเพจได้อย่างอยู่หมัด Brand Buffet มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษจากท่าน โดยจะพาไปเจาะเรื่องราวที่มากกว่า #ธรรมะขายขำขายความฮา ศาสนา และการแกงจาก “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เรื่องราวก่อนกาล แกง

เรื่องราวชีวิตของท่าน “พระมหาไพรวัลย์” พระเปรียญธรรม 9 ประจำวัดสร้อยทอง ก่อนที่จะก้าวมาเป็น ‘พระขวัญใจชาวโซเชียล’ นั้นไม่ได้เป็นเส้นทางที่มีตัวเลือก หากแต่เป็นเส้นทางชีวิตที่ท่าน ‘ต้องเลือก’ โดยสถานะทางเศรษฐกิจทางบ้านที่ไม่ได้สู้ดีนัก ประกอบการทางบ้านที่มีความผูกพันกับวัด เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ท่านจึงเลือกเรียนต่อทางธรรม จนศึกษาจบเปรียญธรรม 9 ประโยค แม้ท่านจะเข้มข้น และรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้แปลว่าท่านจะละทิ้งเรื่องทางโลกไปเสียหมด กลับกันท่านก็อาศัยเวลาว่างจากการศึกษาธรรมะ มาติดตามความเป็นไปในทางโลกเช่นกัน

ห้องไลฟ์สด หรือ ห้อง F ต้นไม้

 

อุปนิสัยส่วนตัวของอาตมาก็ชอบการศึกษาหาความรู้อยู่แล้ว คือศึกษาทั้งทางธรรม แต่เราก็ไม่ลืมทางโลกเพราะยุคนี้สมัยนี้เขาไปกันถึงไหนเราก็ต้องตามโลกให้ทัน อย่างอาตมาจะชอบศึกษาเรื่องสังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง ศึกษาธรรมก็ศึกษาในเชิงสังคมเหมือนกัน

ซึ่งหากจะย้อนไปก่อนที่ท่านจะมาเป็นที่สนใจในบทบาทพระนักเทศน์ที่เข้าถึงใจคนรุ่นใหม่ และ LGBT พระมหาไพรวัลย์ก็ปรากฏตัวอยู่บนหน้าสื่อบ่อยครั้ง แต่จะปรากฏในภาพลักษณ์ที่ดูจริงจังโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคม และเรื่องเกี่ยวกับการเมืองจนท่านออกปากพูดถึงตัวเองว่า ‘คนตีกันเมื่อไหร่ ต้องปรึกษาพระไพรวัลย์’ ก่อนที่ท่านจะค่อยๆเสริมความเป็นตัวตนของตนเองลงไปเรื่อยๆเพราะ ‘ไม่ว่าใครก็คงไม่ได้มีแค่บุคคลิกเดียว’ ท่านจึงเริ่มใส่ความเฮฮา การหยอกล้อที่ทำให้พื้นที่โซเชียลของท่านมีสีสันมากขึ้น

อาตมาก็มักจะถูกถามข้อคิดเห็นในเรื่องการเมือง หรือประเด็นสังคมบ่อยครั้งเลยทำให้อาตมาดูซีเรียสจริงจัง แต่จริงๆอาตมาชอบการแสดงออก การเทศน์สอนผู้คนอาตมาก็ทำบนโลกออนไลน์มานานแล้ว จนกระทั่งมาจับจุดได้ว่าเราควรใส่ความเป็นตัวเองลงไป”

“การเทศน์การสอนในบ้านเรามันเป็นสิ่งน่าเบื่อเพราะมันมีภาพบางอย่างที่สร้างกันมาว่าต้องทำ ต้องอารธนาศีล ต้องพนมมือ ต้องสำรวม อีกทั้งการเทศน์ก็เป็นการจำคำของพระชื่อดังอื่นๆ มาพูดต่อ ซึ่งมันไม่ใช่ตัวอาตมาเลย

พส.ผู้ปฏิวัติวงการ ภารกิจเชื่อมสองโลก

ความตลก ที่ไม่ไร้สาระของการเทศน์ผ่านไลฟ์บนเพจพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ สามารถเรียกความสนใจให้ผู้คนเข้ามาฟังและติดตามได้จำนวนมาก ด้วยสไตล์การเทศน์ที่สนุกสนาน ประเด็นพูดที่ทันสมัยต่อกระแสโลก การไม่ถือตนความเป็นพระในการถูกหยอกล้อ และความแพรวพราวของท่านในการใช้ศัพท์แบบคนยุคใหม่ จนได้ตำแหน่ง “ประธานฝ่ายสงฆ์แห่งเมืองทิพย์”

“มันเริ่มมาจากโลกออนไลน์ อาตมาอยู่ในรั้ววัดแต่ทุกวันนี้อาตมาสามารถไปตรงไหนก็ได้ อาตมาก็เลยได้เห็นทั้งโยมลี (หญิงลีแห่งเพจวีน) โยมทิพย์ (เจ้าทิพย์จากเพจวีน) หรือโยมสิตางศุ์ อาตมามองว่าพวกเขาสนุกสนาน และก็สร้างชื่อเสียงมาได้จากการโดนแกง อีกทั้งศัพท์ต่างๆที่อาตมาว่ามันสร้างสรรค์ จึงเริ่มนำมาปรับใช้บ้าง แซวคนนั้น แกงคนนี้ที และตัวอาตมาก็ถูกแกงบ้าง ก็เลยกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ คนในกลุ่ม LGBT ก็ให้ความสนใจอาตมามากขึ้น “

ไม่ใช่เรื่องยากที่ท่านจะได้รับความนิยมเพียงข้ามคืน หากแต่ต้องยอมรับว่าเมื่อพูดถึง ‘ทางโลก’และ ‘ทางธรรม’ โลกทั้งสองใบนี้แทบจะถูกผลักออกจากกันไกลออกไป ผู้คนในปัจจุบันก็ไม่ได้สนใจศาสนา ศาสนาเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับชุมชน แต่พระมหาไพรวัลย์พยายามที่จะดึงทั้งสองโลกเข้าหากันได้ด้วยความพยายามปรับให้ศาสนาทันยุค เข้าถึงผู้คน ท่ามกลางการถูกตั้งคำถามในการกระทำของท่านว่ามันเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะลดพิธีรีตอง ลดช่องว่างของทางโลกกับทางธรรมให้น้อยลงไป

อาตมามองว่าคำสอนของศาสนาเป็นของดี ปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้ แล้วทำไมเราไม่หยิบมาเผยแพร่ให้คนมาสนใจ ซึ่งการเผยแพร่มันทำได้หลากหลายวิธี มันก็คล้ายกับนักการตลาด ที่ต้องสื่อสารให้ถูกจุด น่าสนใจ

” สิ่งที่อาตมาทำมันก็คือวิธีการหนึ่ง ที่อาจจะเหมาะกับคนกลุ่มหนึ่ง อาตมาไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ทำอยู่ถูก หรือผิด แต่นี่คือสิ่งที่เป็นตัวตนของอาตมา ซึ่งไม่ได้หลุดจากความเป็นสงฆ์ ถ้าหากฆราวาสจะไม่ศรัทธา ไม่เคารพ ไม่ใส่บาตรให้อาตมาก็ไม่เป็นไร แต่ฆราวาสก็ควรจะเคารพในความเป็นตัวตนของอาตมาเช่นเดียวกัน

 

ธรรมะ สังคม และการเมือง

อีกมุมหนึ่งที่หลายๆคนอาจจะลืมกันไปแล้วบ้างสำหรับพระมหาไพรวัลย์ก็คือการเป็นผู้ให้ข้อกระตุกคิดทั้งในเรื่องศาสนา ความเชื่อ และการเมือง ซึ่งมุมมองของท่านค่อนข้างจะเฉียบแหลม และยังสามารถแทรกหลักธรรมทางศาสนาให้เป็นข้อคิดเตือนใจได้อย่างดี แต่กระนั้นก็อาจจะยังถูกบางส่วนในสังคม รวมถึงวงการพระสงฆ์เองที่ติติงเรื่องความเหมาะสมเกี่ยวกับการวิพากย์สังคม และการเมืองโดยพระ ที่ท่านพระมหาไพรวัลย์เกิดข้อสงสัยเสมอมาว่า ‘ทำไมพระจะพูดเรื่องการเมืองไม่ได้ ?’

“มันไม่มีอะไรที่พูดได้หรือพูดไม่ได้ นอกเสียจากเรื่องนั้นมันไม่ได้เกี่ยวกับเรา หรือเป็นเรื่องที่ล่อแหลมจนเกินไป แต่อาตมามองว่าพระสามารถพูดเรื่องการเมืองได้ ข้อคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายข้อก็พูดถึงเรื่องการเมืองชัดเจนอย่างอคันยสูตร หรือพระมหาสมมุติ อีกทั้งโลกทางธรรมเองก็มีเรื่องของการเมือง เช่นเดียวกับทางโลกที่พยายามควบคุมอำนาจของสงฆ์อีกที อาตมามองว่ามันก็เป็นเรื่องการเมืองทั้งนั้น”

ทั้งทางโลก และทางธรรมที่มีอำนาจการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้โลกทั้งสองใบอ่อนแอและถดถอย ‘ศาสนา’ ที่ทุกวันนี้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ให้ความสลักสำคัญอีกต่อไปเพราะไม่สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยว ไม่มีบทนำคำสอนที่ใช้ได้จริง อีกทั้งเรื่องราวของพิธีกรรม มูเตลู และพุทธพาณิชย์ที่ทำให้ภาพของศาสนาดูไกลตัวคนรุ่นใหม่ออกไปทุกที ปัญหาเหล่านี้พระมหาไพรวัลย์มองว่าเป็นเรื่องของ ‘โครงสร้างและการให้ความสำคัญผิดจุด’ และหากยังไม่แก้ไขศาสนาจะกลายเป็นสิ่งที่ตายไปกับวัฒนธรรมเก่าๆอย่างแน่นอน

“ทางโลกกับทางธรรมปัญหาที่เหมือนกันคือเรื่องโครงสร้าง…คณะสงฆ์ปัจจุบันโฟกัสที่ยศ ตำแหน่ง สมณะศักดิ์ ใครจะสูงกว่าใคร ต้องมีพิธีใหญ่โตเพื่อแสดงบารมีความน่านับถือ วัดก็เช่นกัน เน้นการสร้างใหญ่ๆโตๆ เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากันก็ต้องสร้างแข่งกัน โดยใช้ความศรัทธา บารมี หรือการมูเตลูมาใช้เรียกปัจจัยจากฆราวาสซึ่งเป็นการสอนที่ผิด พระพุทธองค์นั้นสอนให้คนพึ่งตัวเอง แต่ตอนนี้พระกลับสอนให้ฆราวาสพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พึ่งของขลัง พึ่งพิธีกรรมซึ่งมันไม่ใช่ ซึ่งสุดท้ายมันก็ย้อนแย้งกันเองว่าพระสอนให้ฆราวาสรู้จักปล่อยวาง แต่กลายเป็นพระเสียเองที่สั่งสมทั้งเงินทอง บารมี ยศถาบรรดาศักดิ์ จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่เชื่อถือศาสนาอีกต่อไป”

แต่มิใช่ว่าวงการผ้าเหลืองจะลงไปถึงจุดตกต่ำที่ไม่สามารถกู้ศรัทธาจากประชาชนกลับมาได้อีกแล้ว เพราะนอกจากความวุ่นวายของการเมืองเรื่องพระแล้ว ยังมีพระสายนักพัฒนาที่ ‘พระมหาไพรวัลย์’ ยกตำแหน่งให้เป็นไอดอลแห่งวงการสงฆ์ จนทำให้ท่านได้แรงบันดาลใจในการทำโครงการเพื่อสังคมที่นอกเหนือจากการไลฟ์สนทนาธรรม ท่านยังมีโครงการปันน้ำใจเพื่อชุมชนบริเวณวัดสร้อยทอง และอีกหลายชุมชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนในช่วงโควิด โครงการช่วยเหลือศูนย์พักคอยต่างๆ โครงการช่วยเหลือสัตว์ และอีกหลากหลายโครงการที่ท่านลงมือทำเพราะ ‘วัดที่ดี พระที่ดี ควรจะมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน’

“ที่จริงพระสายนักพัฒนาที่อยู่นอกคณะสงฆ์ก็พอมีอยู่บ้าง แต่ถึงแม้พวกท่านจะมีกันไม่มากแต่เหนียวแน่น และแข็งแรงมาก ด้วยจุดมุ่งหมายที่ว่าต้องการช่วยพัฒนาชุมชนจริงๆ อย่างท่านหลวงพ่อพยอม ที่หลายๆคนอาจจะเห็นท่านเป็นพระทั่วๆไป ท่านมียศมีตำแหน่งนะเป็นถึงพระราชาคณะ ท่านคือพระราชธรรมนิเทศ แต่มีฆราวาสมากน้อยแค่ไหนที่จะรู้ แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจ ท่านสนใจการพัฒนาชุมชน อย่างวัดสวนแก้วท่านก็สร้างงานสร้างอาชีพให้คน โยมจะไปขอกินขออยู่เฉยๆไม่ได้ โยมต้องทำงานแลกเงิน แลกข้าว ชี้ให้เห็นแก่นของศาสนาที่ต้องพึ่งตัวเอง แล้วท่านเปิดโอกาสให้กับทุกคน จะคนที่เพิ่งออกจากคุก คนพิการ หรือคนที่มีปัญหาใดๆ ท่านก็ช่วยหมด”

 

ทำอย่างไรไม่ให้ศาสนาถูก disrupt ในโลกดิจิตัล ?

เมื่อปัญหาอยู่ที่โครงสร้าง ความเชื่อ กรรมพิธี นรก และสวรรค์ถูกตั้งคำถามอย่างท้าทายในโลกยุคใหม่ที่คนมีความเป็นอัตตาในตัวเองมากขึ้น นับถือความคิดความเชื่อตัวเอง และศาสนาเองก็วางตัวให้ไกลออกจากชุมชน ไม่ลงมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนได้ ศาสนาจึงเป็นเพียงแค่ตัวเลือกที่ละทิ้งไปได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องท้าทายในฐานะของ ‘พระนักเทศน์’ ที่สามารถเข้ามานั่งในใจของคนรุ่นใหม่ได้

ศาสนาต้องตามยุคตามสมัย ไม่ใช่สิ่งที่ถูกดอง ถูกแช่แข็ง ดังนั้นไม่ว่าอะไรก็ตามที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่เมคเซนส์ หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คนยุคใหม่ก็จะปฏิเสธทันที เพราะเขาอยู่บนความรู้ ความคิดแบบสมัยใหม่ หน้าที่ของศาสนาก็คือจะปรับอย่างไร ไม่ใช่สอนแต่เรื่องความเชื่อ บุญ บาป นรก สวรรค์ ซึ่งมันเป็นเรื่องล้าสมัยและเขาก็ไม่เห็นว่าหลักความเชื่อแบบนี้จะให้แนวทางอะไรกับเขาได้ อีกทั้งศาสนาควรจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข และร่วมสร้างไปพร้อมๆกับชุมชน เมื่อญาติโยมเขาเห็นแล้วว่าศาสนายังมีประโยชน์กับชุมชน ยังช่วยพัฒนาชุมชนได้ ศาสนาก็จะไม่ถูกทิ้งร้างกลายเป็นสิ่งที่ห่างจากโลกของฆราวาสดังเช่นทุกวันนี้’ 

 

จะกี่ยุค…ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนะน้องนะ

ปัญหาการระบาดของโควิด 19 ที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งวิถีทางการแพทย์ การเยียวยาทางเศรษฐกิจ หรือมาตรการต่างๆก็อาจจะพอช่วยประชาชนให้ปัญหาเบาบางได้บ้าง เช่นเดียวกับในทางธรรมที่พระมหาไพรวัลย์ขอดึงเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างการพึ่งตนเองมาให้ปรับใช้เพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

“แปลกแต่จริงที่พระสมัยนี้นิยมให้ฆราวาสหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของขลังต่างๆ ทั้งที่ความจริงแล้วคำสอนของพระพุทธองค์ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ‘อัตตาหิ อัตโนนาโถ’ ตนนั่นแหละที่เป็นที่พึ่งแห่งตน เอาตัวเองเป็นที่ยึดเหนี่ยว ดังนั้นในสภาวะที่ยากลำบากกันแบบนี้การพึ่งพาตัวเองให้มากก็จะเป็นทางรอด เอาชีวิตให้รอดเอาไว้ก่อนเพราะชีวิตสำคัญ ถ้ารอดแล้วสิ่งที่เหลือคุณหาเอาใหม่ได้แน่นอน” พระมหาไพรวัลย์กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจการฟังธรรมยุคใหม่ที่สนุก และยังได้สาระแบบไม่มีแกงสไตล์  “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ก็สามารถติดตามได้ในหน้าเฟชบุ๊ค แฟนเพจ “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” รับรองได้เลยว่านอกจากความสนุกสนานเฮฮาแล้วก็จะได้ข้อคิดให้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้แบบไม่จกตาแน่นอน ( ขำ 80 สาระ 20 หรือไม่มี )

ธรรมะขายขำ ขำจริงดูสภาพ!!  หัวเราะ =

 

Photo Credit : พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ


แชร์ :

You may also like