HomeInsightGoogle เปิดผลวิจัย คนไทยหวั่นถูกแฮกบัญชีโซเชียลมีเดีย-ข้อมูลทางการเงินสูงสุด

Google เปิดผลวิจัย คนไทยหวั่นถูกแฮกบัญชีโซเชียลมีเดีย-ข้อมูลทางการเงินสูงสุด

แชร์ :

consumer connect

Google ประเทศไทย จับมือ NielsenIQ เผยผลวิจัยพฤติกรรมออนไลน์ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในไทยเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่าในภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับ Digital Wellbeing มากขึ้น ขณะที่เมื่อเจาะลงมาในแต่ละเซกเมนต์จะพบว่ามีความกังวลที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นไทยกังวลเรื่องการถูกแฮกแอคเคาน์มากเป็นอันดับแรก ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่กังวลเรื่อง Data Privacy และปัญหาข้อมูลส่วนตัว – ข้อมูลทางการเงินหลุดรั่วบนโลกออนไลน์ ด้านผู้จัดทำยกประเทศสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษา เพราะมีการบรรจุบทเรียนเกี่ยวกับดิจิทัลลงในหลักสูตร – เด็กสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับผลการวิจัยด้านความรับผิดชอบทางดิจิทัล หรือ Digital Responsibility ได้มีการจัดทำใน 4 ประเทศได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยสำหรับประเทศไทย ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจใน 3 พื้นที่ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่งานวิจัยดังกล่าวพบแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มวัยรุ่น

พบว่าเน้นใช้งานแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย เล่นเกมออนไลน์ ช้อปปิ้งออนไลน์ แอปพลิเคชันส่งข้อความ อ่านนิยายออนไลน์ ไปจนถึงการใช้เพื่อติดตามศิลปินดารา (ไทยและกลุ่มเคป๊อป) ที่ชื่นชอบเป็นหลัก

นอกจากนั้น ยังพบว่า กลุ่มวัยรุ่นไทยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย นั่นคือกลุ่มที่ต้องการมีตัวตนบนโลกโซเชียลมีเดีย กับกลุ่มเกมเมอร์ ซึ่งในเด็กกลุ่มที่ต้องการมีตัวตนบนโซเชียลมีเดียจะให้ความสำคัญกับ “ยอดผู้ติดตาม” และหลายคนก็ยอมเปิดโปรไฟล์เป็น Public ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าอาจไม่ปลอดภัย

ส่วนกลุ่มเกมเมอร์นั้น ผลวิจัยของ NielsenIQ พบว่า เป็นกลุ่มที่มีการซัพพอร์ตกันอย่างเหนียวแน่นมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค วัยรุ่นไทยจากหัวเมืองต่าง ๆ มองว่า พวกเขาสามารถกำหนดเวลาออนไลน์ของตนได้ดี โดยสามารถแบ่งเวลาให้กับครอบครัว และยังหาเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ ได้อีกด้วย 

กลุ่มผู้ใหญ่

สำหรับการใช้งานออนไลน์ของผู้ใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ พบว่ามีการใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มสูง และมีการใช้อินเทอร์เน็ตในหลายด้าน เช่น ทำงาน ความบันเทิง ทำธุรกรรมทางการเงิน อัปเดทความรู้ให้ตัวเอง ฯลฯ ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ในขอนแก่นและหาดใหญ่ พบว่ายังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องดิจิทัลมากนัก

วิจัยพบ คนไทยกังวลเรื่อง Privacy สูงสุด

google tech responsibility nielsen iq

ความกังวลในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย (ขอบคุณภาพจาก NielsenIQ)

ในช่วงที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข่าวเกี่ยวกับการทำข้อมูลหลุดรั่วของหน่วยงานราชการไทยออกมามากมาย ซึ่งสอดคล้องกับที่ผลวิจัยชิ้นนี้ค้นพบ นั่นคือ วัยรุ่นไทยมีความกังวลเกี่ยวกับการถูกแฮคบัญชีโซเชียลมีเดียมากที่สุด ส่วนผู้ใหญ่กังวลเรื่องการถูก Scam, ถูก Hack และข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล 

ผปค.ให้เกียรติลูก ไม่ยุ่งมือถือ ทำเด็กเสี่ยงถูกล่อลวงได้ง่าย

ในมุมผู้ปกครอง นอกจากสิ่งที่งานวิจัยพบว่า มีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับอิทธิพลของการกล้าแสดงออกผ่านทางออนไลน์ของลูก รวมไปถึงภาพลามกอนาจาร หัวข้อ LGBTQ และการมีส่วนร่วมของบุตรหลานในการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์แล้ว คุณขจรภพ เตชะสำราญ ผู้บริหารงานวิจัยอาวุโส บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ปกครองส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของลูก อยากเป็นเพื่อนกับลูก ให้อิสระกับลูก ซึ่งทำให้ไม่เข้าไปยุ่งโทรศัพท์มือถือของลูก แต่นั่นกลับทำให้เด็กเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงได้ง่ายมากขึ้น

ประกอบกับ ความเชื่อของเด็กวัยรุ่นที่มองว่าตัวเองสามารถดูแล – จัดการได้ด้วยตัวเอง แต่บางครั้งก็ไม่ทราบว่า ความรู้ที่ตนเองมีอาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับภัยคุกคามได้ จึงทำให้เด็กวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่อาจจัดการกับปัญหาได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

เมื่อมีปัญหา ปรึกษาใครได้บ้าง

คุณขจรภพ เผยต่อไปด้วยว่า ในแง่ของการหาที่ปรึกษา เมื่อมีปัญหาบนโลกออนไลน์นั้น ผู้บริโภคมีหลายช่องทาง โดยช่องทางที่เลือกใช้เป็นอันดับต้น ๆ คือ การเสิร์ชหาข้อมูลผ่าน Google Search การเข้าเว็บไซต์ข่าว เว็บไซต์หน่วยงานราชการ การขอความช่วยเหลือไปยังเพจของสถานีข่าว เพจโซเชียลมีเดียต่าง ๆ การติดต่อไปยังอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาฟอลโลว์ หรือหาข้อมูลจากยูทูบ

google nielsen iq 01

ขอบคุณภาพจาก NielsenIQ

นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้ใหญ่จะเลือกเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ – หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่เด็กวัยรุ่นจะเลือกปรึกษาเพื่อนที่อายุมากกว่า

แต่หากเป็นผู้สูงอายุในบ้าน จะเลือกปรึกษากับลูกหลานที่อายุน้อยกว่า โดยมองว่าลูกหลานมีความรู้ และสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนถ้าเป็นวัยรุ่นก็จะปรึกษาพี่น้อง – เพื่อน และอาจไม่ปรึกษาผู้ปกครองมากนัก เนื่องจากรู้สึกว่าไม่อัปเดตมากเท่าพวกเขา เช่นเดียวกับครูที่โรงเรียนที่เด็กจะเลือกไม่เข้าไปปรึกษาเช่นกัน

อย่างไรก็ดี คุณขจรภพกล่าวว่า ในการศึกษาครั้งนี้ พบประเทศสิงคโปร์ที่มีกรณีน่าสนใจ เนื่องจากพบว่าเด็กมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่โรงเรียนให้ความรู้มา และมีการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ (สิงคโปร์ได้มีการบรรจุบทเรียนด้าน Digital Literacy ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน) รวมถึงผู้ปกครองในสิงคโปร์ที่มีความเข้มงวดและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูก ๆ ร่วมด้วย

สุดท้ายคือประเด็นเรื่องกำแพงภาษา ที่คอนเทนต์หลาย ๆ อย่างยังเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้หลายคนไม่สะดวกที่จะศึกษาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยทาง Google บอกว่าจะหาทางลดข้อจำกัดด้านนี้ลงให้ได้มากขึ้นในอนาคต


แชร์ :

You may also like