HomePR NewsCollaboration อย่างไรให้เกิดสินค้าใหม่เพื่อชีวิตและธุรกิจที่ยั่งยืนกว่า [PR]

Collaboration อย่างไรให้เกิดสินค้าใหม่เพื่อชีวิตและธุรกิจที่ยั่งยืนกว่า [PR]

แชร์ :

Lamunlamai. X Qualy

แนวคิด BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN) คงไม่ใช่แค่คำที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้สวยหรูดูดีอีกต่อไป เพราะขณะนี้ตลาดการค้าทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นไทยต้องหันกลับมาพิจารณากระบวนการสร้างสรรค์สินค้ากันใหม่ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โครงการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok” หรือ STYLE BANGKOK COLLABORATION 2021 ภายใต้แนวคิดเพื่อชีวิตและธุรกิจที่ยั่งยืนกว่า (Sustainable Life) ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นในปีนี้ มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมหลากหลายแบรนด์เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สินค้าที่ดึงดูดใจผู้ซื้อและยังสอดคล้องไปกับเทรนด์ของตลาดโลกอย่าง BCG

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เริ่ม Collab เพื่อไปต่อ

นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ Deesawat เล่าในฐานะผู้ที่เข้าร่วมโครงการมาตลอด 2 ปีว่า “ปีนี้แบรนด์ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งสร้างแบรนด์ไม่นาน ได้ความรู้สึกเหมือนพี่จูงน้อง มีโอกาสให้คำแนะนำจากประสบการณ์ที่มากกว่า ขณะที่แบรนด์รุ่นน้องก็มีไอเดียใหม่ๆ มาแชร์หรือนำเสนอวัสดุที่แปลกออกไปเช่นกัน ข้อดีของปีนี้คือมีคอนเซ็ปต์หลักของการสร้างสรรค์สินค้าคือเรื่อง BCG ทำให้มีเรื่องราวชัดเจนเพื่อสื่อสารกับลูกค้า หลังจากที่พูดคุยกันพบว่าหลายแบรนด์ไม่เข้าใจเรื่อง BCG ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ จึงช่วยกันดึงเรื่องราวเหล่านี้ออกมาสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะเริ่มตอบโจทย์ BCG คือการกำจัดหรือลดขยะที่เกิดจากการผลิตสินค้าของตัวเองให้ได้ก่อน

ปีนี้ ดีสวัสดิ์ ได้ Collab กับ วาสุ (Wasoo) แปรรูปขี้เลื่อยไม้สักของโรงงานไปเป็นอิฐบล็อคในรูปแบบ Wall Art เนื่องจากปัจจุบันขี้เลื่อยจากโรงงานจะถูกส่งไปที่โรงงานผลิตธูป แต่อนาคตก็ไม่แน่ใจว่าโรงงานผลิตธูปจะยังอยู่ได้ไหม จึงต้องมองหาปลายทางใหม่ให้กับขยะจากดีสวัสดิ์  สิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดในโครงการคือการเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายๆ แบรนด์ได้มีโอกาสสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าร่วมกันในอนาคต ไม่ได้สิ้นสุดแค่การผลิตสินค้าสำหรับโครงการ แม้โครงการจะจบลงแต่เชื่อว่ารูปแบบของ Collaboration จะทำให้เกิดการต่อยอด นำไปสู่การสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต”

เมื่อเซรามิคและพลาสติกมาเจอกัน

นางสาวณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และนายนล เนตรพรหม เจ้าของแบรนด์ละมุนละไม. (Lamunlamai) เล่าว่า สินค้าของละมุนละไมเป็นงานเซรามิคแฮนด์คราฟท์ซึ่งปั้นขึ้นรูปด้วยมือทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และของประดับตกแต่งบ้าน มีจุดเด่นมาจากลวดลายและสีสันที่มาจากแร่ธาตุธรรมชาติ ได้ร่วมกับแบรนด์ Qualy ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าพลาสติกรักษ์โลก โดยทั้งสองแบรนด์มีเป้าหมายร่วมกันในด้านความยั่งยืน ต้องการนำเศษเหลือจากการบริโภคในแต่ละวัน ได้แก่ บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขวดแก้ว และกากกาแฟ กลับมาเป็นวัสดุและส่วนผสมในการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นชุดถ้วยกาแฟ ขวด ถาดใส่ขนม และกระถางต้นไม้ เพื่อลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Landscape on the table” การจำลองภูมิทัศน์ธรรมชาติมาไว้บนโต๊ะทำงาน เพื่อให้ผู้ใช้ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภคในแต่ละวันที่มีต่อระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ โดยผลงานที่ออกแบบจะมีองค์ประกอบที่เป็นตัวแทนของก้อนหิน น้ำ สัตว์ (นก) และต้นไม้ มีการผสานวัสดุและรูปทรงของงานคราฟท์ที่ดูเป็นธรรมชาติจากละมุนละไมเข้ากับงานพลาสติกในระบบอุตสาหกรรมของ Qualy ได้อย่างลงตัว ทั้งหมดนี้ต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอยู่ที่บ้าน ให้อยู่แล้วมีความสุข สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับบ้าน ซึ่งตั้งใจว่าจะพัฒนาต่อเพื่อวางตลาดจริงได้ทั้งในและต่างประเทศ

“ปัจจุบันโลกของการออกแบบไม่ได้ขึ้นอยู่กับการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียวไปตลอดเท่านั้น แต่อาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์และนักออกแบบ มากขึ้นเพื่อขยายขอบเขตจากสิ่งที่แต่ละคนถนัด ได้ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้า และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อต่อยอดเกิดการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่ดีกว่าเดิม การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้โฟกัสกับการออกแบบที่ตอบรับนโยบาย BCG Economy ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในกระบวนการออกแบบและผลิตออกสู่ตลาด อีกทั้งมีโอกาสขยายศักยภาพของแบรนด์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าสินค้าไลฟ์สไตล์และเฟอร์นิเจอร์ที่ไป collab ด้วย ได้เห็นมุมมองใหม่ว่าแบรนด์อื่นมองภาพสินค้าของละมุนละไม. เข้าไปร่วมด้วยได้อย่างไร และได้ร่วมกันผลิตสินค้าที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วยการคำนึงถึง people – planet และ profit อย่างยั่งยืน ซึ่งประสบการณ์ที่ได้เป็นสิ่งที่สามารถนำไปขยายต่อยอดทั้งกับแบรนด์ตัวเอง และการจะร่วมมือกับแบรนด์อื่นในอนาคตได้อีกด้วย”

 ใครว่าสินค้า Mass Production จะใส่ความครีเอทีฟไม่ได้

ฐากร เท็กซ์ ไทล์ สตูดิโอ (Takorn Textile Studio) สตูดิโอผู้สร้างสรรค์สิ่งทอซึ่งเน้น Innovative Textile การทดลองโครงสร้างทางสิ่งทอใหม่ๆ เพื่อให้เกิด texture และ visual ที่แปลกออกไป นายฐากร ถาวรโชติวงศ์ เล่าว่า “ได้ร่วมพัฒนาสินค้ากับแบรนด์ชูส์เฮาส์ (Shoes House) ผู้ผลิตรองเท้าเพื่อส่งออก ซึ่งเห็นว่าวัสดุของฐากรน่าจะไปต่อยอดรองเท้าที่เจาะตลาดยุโรปได้ โดยออกแบบเป็นรองเท้าบูต 3 คอลเล็คชั่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ futuristic และ exotic เพราะมองว่าในยุคหลังโควิด สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่หรือวัฒนธรรมที่เกิดหลังจากนี้น่าจะก้าวล้ำมากๆ คนโหยหาการแต่งตัวและแฟชั่น จึงต้องดีไซน์สิ่งที่ล้ำจริงๆ ขณะเดียวกันยังเป็นการ upcycle ของวัสดุเหลือใช้ด้วย โดยทางชูส์เฮาส์นำเศษหนังที่เหลือจากโรงงานมาผลิตร่วมกับเส้นใยของฐากรซึ่งมีการผสมเส้นใยรีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วเข้าไปด้วย ถือเป็นความร่วมมือที่ท้าทายเพราะเป็นการทำร่วมกันแบบออนไลน์ 100% ผ่านการสเก็ตช์แบบกันทางออนไลน์ แล้วนำไปตัดเย็บขึ้นเป็นต้นแบบ การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสที่ดีในการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ไปผนวกเข้ากับโรงงานผลิตสินค้าในเชิง Mass Production ซึ่งก็สามารถทำเพื่อจำหน่ายได้จริง”

แนวคิดตรงกัน สินค้าใหม่ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

นายชนน วระพงษ์สิทธิกุล และนางสาวณัฐฏิยา รัชตราเชนชัย จาก ฮาร์ฟแบรนด์ (HARVBRAND) ผู้ผลิตสินค้าตกแต่งบ้านที่ขยายตัวจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ปาร์ติเคิลบอร์ด เน้นการออกแบบและผลิตสินค้าที่ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้ใช้ เล่าว่า ปาร์ติเกิ้ลบอร์ดเป็นวัสดุที่เกิดจากไม้เหลือใช้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมาจากต้นยางที่ลำต้นถูกนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์แล้ว เหลือกิ่งก้านต่างๆ ซัพพลายเออร์จึงนำมาย่อยให้เล็กลงผสมกาวคุณภาพดีที่มีการปล่อยสารฟอร์มัลดไฮด์ต่ำหรือไม่มีเลย แล้วบีบอัดด้วยความดันสูง เมื่อเข้าร่วมโครงการจึงมองหาแบรนด์ที่มีวัสดุแนวทางเดียวกันอย่าง Qualy เพื่อออกแบบสินค้าใหม่ที่ใช้จุดเด่นของทั้งสองแบรนด์มาร่วมกัน ให้เกิดเป็นสินค้าในรูปแบบโมดูล่า ขนาดต่อชิ้นนั้นไม่ใหญ่แต่สามารถนำไปต่อกันเพื่อขยายประโยชน์การใช้งานได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางหนังสือ วางของแต่งบ้าน ต้นไม้ หรือคอนโดแมว เป็นต้น โดยเสากิ่งไม้ทำจากพลาสติกรีไซเคิลของ Qualy ส่วนชั้นเป็นเศษไม้จากโรงงานที่ตัดเหลือจากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ อาทิ เตียง ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเครื่องแป้ง ซึ่งจัดเป็นเซ็ทจำหน่ายให้ลูกค้าเลือกขนาด S M L วางแผนที่จะจำหน่ายให้ได้ภายในปีนี้ และจะต่อยอดไปในสินค้าแบบอื่นๆ เพราะทั้งสองแบรนด์มีแนวคิดตรงกันในด้านการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน คือช่วยขยายรูปแบบให้กับการจำหน่ายสินค้าของ Qualy เพราะจากเดิมจำหน่ายสินค้าเป็นชิ้นแต่เมื่อมาทำเป็นรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ทำให้จำหน่ายได้ทีละหลายชิ้น ส่วนทาง HARVBRAND เองก็สามารถใช้เศษไม้ได้อย่างคุ้มค่าและเต็มที่มากขึ้น

“เทรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มาทาง BCG (Bio-Circular-Green) จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีแบรนด์ลักษณะนี้เพิ่มขึ้นมาก มีผู้คนให้ความสนใจและซื้อสินค้า รัฐบาลยุโรปเองก็มีมาตรการในการอนุญาตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศมากขึ้นด้วย ในประเทศไทยแม้จะเป็นวาระแห่งชาติก็จริงแต่ก็ยังมีจำนวนผู้ใช้สินค้าแบบนี้ไม่มาก อาจเพราะติดในเรื่องของราคา แต่คิดว่าในอนาคตหากความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตก็จะสามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ถูกลง สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้อันดับแรกคือการได้รู้จักผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยเพิ่มเครือข่ายในการทำธุรกิจ อันดับสองคือการได้รับมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน เกิดเป็นคอมมูนิตี้ของแบรนด์ที่สนใจเรื่องเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทำให้มีพลังบางอย่างที่จะส่งถึงลูกค้าในอนาคตให้หันมาใช้วัสดุที่เป็น BCG มากขึ้น เพื่อช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง”

การได้ค้นหาวัสดุแปลกใหม่เป็นเรื่องดี

ประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการ STYLE BANGKOK COLLABORATION ในปีที่ผ่านมาทำให้ นางสาวจุไรรัตน์  คุณวิชยานนท์​ เจ้าของแบรนด์ คุณเดคอเรด (KUN decorate) ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากอลูมิเนียมตัดสินใจเข้าร่วมโครงการในปีนี้ได้ไม่ยากโดยเล่าว่า “การเข้าร่วมโครงการในปีที่แล้วทำให้เห็นถึงข้อดีของการได้รู้จักวัสดุแปลกใหม่ มีโอกาสในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่ต่อยอดจากเฟอร์นิเจอร์ จึงตัดสินใจเข้าร่วมในปีนี้ ซึ่งได้ร่วม Collab กับ 6 แบรนด์ ใน 4 คอลเล็คชั่น มีโอกาสในการนำอลูมิเนียมจาก KUN DECORATE ไปร่วมกับวัสดุอื่น ไม่ว่าจะเป็นเศษหนังรีไซเคิลจากแบรนด์ธาอีส (THAIS) สำหรับการผลิตสินค้าเพื่อกิจกรรมแค้มป์ปิ้ง ช่วยเพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ให้กับการใช้งาน หรือการทำให้อลูมิเนียมดูนุ่มนวลลงด้วยการไปผนวกกับเส้นใยจากผักตบชวาและใยผ้าจากแบรนด์ มูเน่ (Munie) และใส่ใจ (SAI JAI) เพื่อทำเป็นโคมไฟกระเป๋าหิ้ว ขณะที่แบรนด์วินเทค (Wintech) ซึ่งเป็นกระจกก็มาชวนทำเฟอร์นิเจอร์ที่แปลกออกไปโดยใช้กระจกเป็นขาแต่อลูมิเนียมกลายไปเป็นส่วนท็อป ส่วนคอลเล็คชั่นสุดท้ายคือการร่วมกับ หนึ่งศูนย์สามเปเปอร์ (103paper) และฮิวมีม (Humeme) เพื่อทำสินค้าขนาดเล็กที่ใส่ของได้โดยมีปิ่นโตเป็นแกนของคอนเซ็ปต์ การร่วมมือเหล่านี้คือความท้าทายใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดความร่วมมือได้ต่อไปในอนาคต”

ความร่วมมือกันหรือการ Collaboration นั้น เกิดขึ้นได้ในทุกอุตสาหกรรม เมื่อแบรนด์มีเป้าหมายเดียวกัน ย่อมพัฒนาความร่วมมือต่อกันได้ในหลายๆ ด้าน และต่อยอดไปยังอนาคต เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในโลกของการค้า และส่งเสริมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป


แชร์ :

You may also like