HomeBrand Move !!ไทยยูเนี่ยน ทุ่ม 3,000 ล้าน ซื้อหุ้น RBF 10% รุกธุรกิจส่วนผสมอาหาร-โปรตีนทางเลือก-สินค้ากัญชง

ไทยยูเนี่ยน ทุ่ม 3,000 ล้าน ซื้อหุ้น RBF 10% รุกธุรกิจส่วนผสมอาหาร-โปรตีนทางเลือก-สินค้ากัญชง

แชร์ :

TU CEO Thiraphong Chansiri

คุณธีรพงศ์ จันศิริ

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เข้าซื้อหุ้น 10% มูลค่า 3,000 ล้านบาท ในบริษัท อาร์แอนด์บีฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมผลิตส่วนประกอบอาหาร วัตถุแต่งกลิ่นและรสสำหรับอาหาร

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป แจ้งว่า TU เข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) รวม 200 ล้านหุ้น โดยคุณเพ็ชรา รัตนภูมิภิญโญ ขายให้ 5% จำนวน 100 ล้านหุ้น คงเหลือหุ้น RBF 22.80% จำนวน 456 ล้านหุ้น และคุณสมชาย รัตนภูมิภิญโญ ขายให้ 5% จำนวน 100 ล้านหุ้น คงเหลือหุ้น RBF 22.80% จำนวน 456 ล้านหุ้น

การลงทุนในครั้งนี้ TU มองว่าจะช่วยสร้างโอกาสและการเติบโตให้บริษัทในธุรกิจส่วนผสมในอาหาร โดยเฉพาะตลาดผู้บริโภคในอาเซียนที่ต้องการสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้การเข้าลงทุนดังกล่าวจะช่วยเสริมธุรกิจทั้งในส่วนสินค้าหลักของ TU และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมไปถึงสินค้าโปรตีนทางเลือกและอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย

RBF เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยนวัตกรรมขั้นสูง เช่น วัตถุแต่งรส (Flavor) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม วัตถุแต่งกลิ่น (Fragrance) ที่ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอาง กลุ่มสินค้า Food Coating รวมถึงผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบอาหารอื่นๆ

ฝั่ง RBF เองมองว่าการเข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) กับ TU เป็นโอกาสทางธุรกิจในการร่วมพัฒนาและผลิตวัตถุดิบอาหาร เช่น วัตถุแต่งกลิ่นจากธรรมชาติ ให้กับธุรกิจภายใต้กลุ่มของ TU อีกทั้งเป็นโอกาสในการผลักดันและส่งเสริมแผนขยายธุรกิจของ RBF ในต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต การขายหุ้นในครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารจัดการและนโยบายทางธุรกิจของ RBF

โบรกฯชี้หนุน RBF ทำตลาดกัญชงต่างประเทศ

หลักทรัพย์กสิกรไทย (KS Securities) วิเคราะห์ดีลนี้ว่า TU ซื้อหุ้น RBF ได้ในราคา 15 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าราคาปิด 19.90 บาท เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 โดย TU สนใจขยายธุรกิจในกลุ่มนวัตกรรมส่วนผสมอาหาร ซึ่ง RBF เองมีผลการดำเนินงานที่ดีมาตลอด ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 519 ล้านบาท

โดย TU ต้องการความเชี่ยวชาญของ RBF มาทำธุรกิจใหม่ๆ ในกลุ่มโปรตีนทางเลือก อาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งส่วนผสมอาหารอื่นๆ ที่ TU ใช้ผลิตอาหารอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ TU มีความร่วมมือทางการค้ากับ RBF อยู่แล้วโดยมีการค้าขายกันสัดส่วน 15%

หลังจากนี้จะเห็น synergy project ร่วมกัน โดย RBF จะได้ประโยชน์จาก Network ในต่างประเทศของ TU ที่จะช่วยขยายตลาดไปได้ในระดับโลกทั้งสหรัฐ และยุโรป จากเดิมที่ทำตลาดระดับภูมิภาค โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มกัญชง ซึ่งประเทศไทยเก่งเรื่องสายพันธุ์ และ TU สามารถใช้เน็ตเวิร์ก ใส่แบรนด์ไปทำตลาดได้ระดับโลก

“มองว่าเป็นการนำโปรดักท์กัญชงของ RBF ไปแข่งขันในสหรัฐและยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ หาก RBF สามารถแข่งขันได้ ก็จะเห็นรายได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าแข่งขันไม่ได้ก็ทรงตัว เพราะดีล 3,000 ล้าน ของ TU ไม่ได้กระทบด้านต้นทุน”


แชร์ :

You may also like