นับตั้งแต่เชนร้านค้าปลีกเสื้อผ้าจากญี่ปุ่น “ยูนิโคล่” (Uniqlo) เปิดสาขาแรกในไทยที่ “เซ็นทรัลเวิลด์” (Central World) ถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้วได้เข้ามาพลิกโฉมการแข่งขันตลาดเสื้อผ้า ด้วยการนำเสนอเสื้อผ้าคุณภาพดี ดีไซน์เรียบง่าย ใส่ได้ทุกฤดูกาล เพื่อให้ผู้บริโภคนำไป Mix & Match ตามสไตล์ของตัวเอง และขายในราคา Value for money ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของคนไทย
มาย้อนเส้นทาง “ยูนิโคล่ ประเทศไทย” กันว่าตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มีจุดเปลี่ยนสำคัญอะไรบ้าง และยุทธศาสตร์ธุรกิจนับจากนี้ในยุค COVID-19 และ Post COVID-19
8 Milestone จุดเปลี่ยน “ยูนิโคล่ ประเทศไทย” จากจุดเริ่มต้น สู่การเป็นแบรนด์เสื้อผ้าในชีวิตประจำวันคนไทย
1. ยูนิโคล่ เปิดสาขาแรกในไทยที่ “เซ็นทรัลเวิลด์” ในเดือนกันยายน 2554 โดยไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
2. ปี 2556 ยูนิโคล่เปิดสาขาแรกในต่างจังหวัดที่พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อเจาะตลาดภาคตะวันออก ตามด้วยบุกภาคเหนือ เปิดสาขาที่เชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันตกที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์
3. ปี 2559 เปิด “ยูนิโคล่ ออนไลน์ สโตร์” (Uniqlo Online Store) เพื่อให้ลูกค้าช้อปปิ้งออนไลน์ได้ตลอด24 ชั่วโมง
4. ปี 2561 เปิด “ยูนิโคล่ โรดไซด์ พัฒนาการ” (Uniqlo Roadside Store) สาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโมเดล Stand Alone อยู่ในย่านที่พักอาศัย – ชุมชน ถึงปัจจุบันมี 6 สาขาคือ ลาซาล บุญถาวร อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ชัยพฤกษ์ มีนบุรี และนวมินทร์
5. ปี 2562 เปิดตัวนิตยสาร LifeWear Magazine ฉบับที่ 1 เป็นนิตยสารแจกฟรี ตีพิมพ์ช่วงฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารยูนิโคล่ และปรัชญา LifeWear ไปยังผู้บริโภคไทย
6. ปี 2563 เปิดตัวพรีเซนเตอร์คนแรกของยูนิโคล่ ประเทศไทย “ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์”
7. ปัจจุบันยูนิโคล่มีสาขาในไทยทั้งหมด 54 สาขา โดยสาขาล่าสุดคือ ยูนิโคล่ ที่เซ็นทรัลพลาซา นครศรีธรรมราช และมีแผนที่จะขยายสาขาใหม่คือ เซ็นทรัล ศรีราชา และ เซ็นทรัล อยุธยา
8. ผลประกอบการยูนิโคล่ ประเทศไทย (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
– ปี 2563 รายได้ 10,550 ล้านบาท / กำไร 2,007 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 12,173 ล้านบาท / กำไร 2,424 ล้านบาท
– ปี 2561 รายได้ 10,130 ล้านบาท / กำไร 1,971 ล้านบาท
5 กลยุทธ์ รุกตลาดเข้าไปอยู่ในตู้เสื้อผ้าคนไทยทั่วประเทศ
Next Step จากนี้ของ “ยูนิโคล่ ประเทศไทย” โจทย์ใหญ่อยู่ที่ “Penetration” คือ การขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้สินค้าของยูนิโคล่ ไม่ว่าจะเป็น Item ไหนก็ตาม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตู้เสื้อผ้าคนไทยทั่วประเทศ ด้วย 5 กลยุทธ์นี้
1. สร้างการรับรู้ปรัชญา “LifeWear” คุณภาพ – เรียบง่าย – ราคาเข้าถึงง่าย
แก่นของการดำเนินธุรกิจยูนิโคล่ ทั่วโลก คือ หลักปรัชญา “LifeWear” ความเรียบง่าย คุณภาพ ความยืนยาวที่อยู่ในเสื้อผ้าทุกหมวด ไม่ว่าจะเป็นชุดทำงาน ชุดอยู่บ้าน ชุดสวมใส่ข้างใน ภายใต้ 5 องค์ประกอบนี้
– ผลิตภัณฑ์ LifeWear สร้างมาจากความต้องการของผู้บริโภค
– ใส่ใจในรายละเอียด กว่าจะมาเป็นเสื้อผ้า 1 ชิ้น ต้องผ่านการทดสอบ 3 – 4 ขั้นตอน
– เรียบง่าย เข้าได้กับทุกสไตล์ และ Item ของยูนิโคล่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของตู้เสื้อผ้า
– มองไปสู่อนาคต และพัฒนาไม่หยุดยั้ง เพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนสะดวกสบายมากขึ้น
– คุณภาพสูง ในราคาจับต้องได้ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้
หลักปรัชญาดังกล่าว ทำให้ยูนิโคล่แตกต่างจากแบรนด์ Fast Fashion เพราะด้วยคอนเซ็ปต์การพัฒนาสินค้าเน้นดีไซน์เรียบง่าย ไม่ได้ตามกระแสแฟชั่นมากนัก และสามารถเอาไป Mix & Match สามารถใส่ได้ทุกฤดูกาล และมีเสื้อผ้าทุกหมวด อย่างในช่วง COVID-19 ที่คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะ Work From Home, Study From Home ทำให้กลุ่มเสื้อผ้าใส่ไปทำงาน ยอดขายลดลง ขณะที่กลุ่มเสื้อผ้าใส่อยู่บ้าน หรือเสื้อผ้าสวมใส่สบายๆ ขายดี
ในขณะที่แบรนด์ Fast Fashion นิยามคือ จับเทรนด์แฟชั่นปัจจุบัน เน้นความเร็วและความถี่ในการออกคอลเลคชั่นใหม่ โดยบางแบรนด์ออกสินค้าใหม่ทุก 2 อาทิตย์ และราคาเข้าถึงง่าย เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากอัพเดทเทรนด์ และเปลี่ยนสินค้าใหม่ถี่ขึ้น
2. เร่งเปิดสาขาใหม่ (Physical Store)
ปัจจุบันยูนิโคล่ มีสาขาทั้งหมดในไทย 54 สาขาใน 19 จังหวัด เพราะฉะนั้นยังมีช่องว่างอีกมากในการ Penetrate ด้วยการเร่งขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
โดยแผนอันใกล้นี้ คือ เปิดสาขาที่เซ็นทรัล ศรีราชา, เซ็นทรัล อยุธยา พร้อมกับปรับปรุงสาขาเดิม เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ทั้งสาขาแฟชั่นไอส์แลนด์, สาขาเซ็นทรัลพลาซา พระราม 3, เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น
“เราจะเปิดสาขามากขึ้น บางจังหวัดของไทย ยูนิโคล่ยังไม่ได้เปิดสาขา จึงต้องการเร่งเปิดสาขา เพื่อให้ผู้บริโภคในจังหวัดที่ยังไม่มียูนิโคล่ ได้มีโอกาสสวมใส่เสื้อผ้ายูนิโคล่ได้
นอกจากนี้เราอยากเปิดสาขา “ยูนิโคล่ โรดไซด์” มากขึ้น โดยในย่านชุมชนแอเรียไหนที่มีศักยภาพ และยังไม่มียูนิโคล่ไปเปิด เราจะเปิดสาขารูปแบบนี้ เสมือนเป็น Community Mall และอยากสร้างความร่วมมือกับชุมชนมากขึ้น” มร.โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงแผนขยายสาขา
3. พัฒนาโมเดล O2O เชื่อมต่อออฟไลน์ – ออนไลน์
แนวโน้ม Retail ทั่วโลกไปในโมเดล “O2O” (Online to Offline) เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลา ในขณะเดียวกันตอบโจทย์ความสะดวกผู้บริโภค
เพราะฉะนั้น O2O คือ หนึ่งในทิศทางยูนิโคล่กำลังมุ่งไป ทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน โดยเชื่อมต่อกับการให้บริการที่ร้านสาขา เช่น บริการ Click & Collect ซื้อออนไลน์ และรับสินค้าที่สาขาที่ได้เลือกไว้ Pay in Store ซื้อออนไลน์ และชำระค่าสินค้าที่ร้านสาขา โดยสินค้าจะถูกส่งจากคลังสาขา ไปยังร้านสาขาที่ลูกค้าเลือก และบริการ Drive-thru ที่สาขายูนิโคล่ โรดไซด์
“เราสร้างโอกาสให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้า ได้ทั้งจากสโตร์ และออนไลน์ โดยใช้กลยุทธ์ O2O ผสานทั้งอีคอมเมิร์ซ และร้านสาขาเข้าด้วยกัน เช่น มีกิจกรรม Live Streaming ปรับโฉมเว็บไซต์ เราไม่อยากให้ลูกค้าต้องมีอุปสรรคในการซื้อสินค้า ปัจจุบันจึงเตรียมความพร้อมเชื่อมช่องทางต่างๆ ให้เป็น Seamless
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมาก คนหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยเราพบว่ามี Demand ซื้อผ่านออนไลน์ สโตร์มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเราต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค และใช้ Digital Tools ต่างๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค”
จะเห็นได้ว่าจากแผนธุรกิจที่เร่งขยาย Physical Store และการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อในที่สุดแล้ว “สาขา” จะเป็น Network สำคัญในการเชื่อมต่อเข้ากับ “ออนไลน์สโตร์” ขณะเดียวกันออนไลน์ ทลายข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ที่ยังไม่มีสาขายูนิโคล่ไปเปิด เพื่อในที่สุดแล้วจะไปสู่เป้าหมายในการเข้าถึงผู้บริโภคทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งเพิ่มโอกาสการขาย และทำให้สินค้ายูนิโคล่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย
4. Localization ชนะใจผู้บริโภคไทย
ในขณะที่ความเป็น Global Brand มีความได้เปรียบทั้งในด้านแบรนด์ เงินทุน เทคโนโลยี บุคลากร และเน็ตเวิร์กที่อยู่ในประเทศต่างๆ ในการแชร์องค์ความรู้ หรือเคสความสำเร็จร่วมกัน แต่จุดแข็งดังกล่าว ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการชนะใจคนท้องถิ่น
เพราะอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับ Global Brand คือ การทำความเข้าใจ และรู้จักผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสินค้า หรือบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม และความต้องการของผู้บริโภค ในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งเรียกว่าการทำ “Localization”
อย่างในโอกาสที่ครบรอบ 10 ปี ยูนิโคล่ ประเทศไทย ร่วมมือกับดิสนีย์ ในคอลเลคชัน UT ที่ชื่อ “Mickey Mouse in Thailand” นำคาแรกเตอร์ยอดฮิตอย่าง Micky Mouse, Minnie Mouse, Donald Duck และ Daisy Duck ใส่ความเป็นไทยลงไปอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ หรือ มวยไทย
และเป็นครั้งแรกที่ยูนิโคล่ได้ร่วมมือกับดิสนีย์ในการผลิตเสื้อ UT และถุงผ้า Eco bag ที่ดีไซน์พิเศษสำหรับประเทศไทยเท่านั้น ความสัมพันธ์ของยูนิโคล่และดิสนีย์ระดับโลก เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 โดยได้ร่วมกันสร้างสรรค์คอลเลคชันเสื้อยืด UT ขึ้นเป็นครั้งแรก ผ่านคาแรกเตอร์ระดับไอคอนของดิสนีย์อย่างมิกกี้ เม้าส์ และมินนี่ เม้าส์
5. Sustainability ด้วยพันธกิจ “ปลดล็อคพลังแห่งเสื้อผ้า”
“ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” บริษัทแม่ของยูนิโคล่ ได้กำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ “Sustainability” หนึ่งในนั้นคือ พันธกิจ “Unlock the power of clothing” หรือ “ปลดล็อคพลังแห่งเสื้อผ้า” ด้วยปรัชญา “LifeWear” เพราะเชื่อว่าเสื้อผ้านั้น สามารถเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นได้ ด้วยการออกแบบ การผลิต และขายสินค้าคุณภาพดี ในราคาเข้าถึงได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคไทย