เชื่อว่าสำหรับคนรุ่นใหม่หลายคน การเป็นยูทูบเบอร์กลายเป็นหนึ่งในอาชีพในฝัน โดยที่ผ่านมา เราอาจเห็นตัวอย่างจากยูทูบเบอร์หลายคนที่ได้รับค่าสปอนเซอร์สินค้าจากแบรนด์กันอย่างอู้ฟู่ แต่ในความเป็นจริง ก็มีอีกหลายช่องทางที่ YouTube เตรียมไว้ให้ครีเอเตอร์สร้างรายได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน จากการเปิดเผยของ YouTube ประเทศไทย บอกว่า ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้บน YouTube ได้ 10 ช่องทางดังนี้
1. การเปิดรับสมัครเป็นสมาชิกของช่อง
กรณีนี้คือการที่ครีเอเตอร์สามารถใช้เปิดรับสมาชิกของช่องเพื่อมอบสิทธิพิเศษและเนื้อหาแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้กับผู้ชมที่สมัครเป็นสมาชิกของช่อง โดยจะมีการชำระเงินรายเดือนในราคาที่ครีเอเตอร์เป็นผู้กำหนดเอง
2. ฟีเจอร์ Super Chat
เป็นฟีเจอร์ที่เปิดให้แฟน ๆ ที่รับชมการสตรีมแบบสด และวิดีโอพรีเมียร์สามารถจ่ายเงินเพื่อให้ข้อความของตนเองได้รับการวางในตำแหน่งที่โดดเด่นกว่าข้อความของคนอื่น ๆ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากครีเอเตอร์คนโปรดมากยิ่งขึ้น
3. ฟีเจอร์ Super Thanks
ฟีเจอร์นี้เป็นการเปิดให้ผู้ชมสามารถแสดงความชื่นชม หรือขอบคุณครีเอเตอร์สำหรับวิดีโอที่อัปโหลด โดยผู้ที่ซื้อ Super Thanks จะได้รับความคิดเห็นสีสันสดใสอันโดดเด่นเป็นโบนัสในส่วนความคิดเห็นของวิดีโอ ซึ่งครีเอเตอร์สามารถเข้ามาตอบกลับได้
4. ฟีเจอร์ Super Stickers
Super Stickers เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แฟน ๆ สามารถแสดงการสนับสนุนครีเอเตอร์ในระหว่างการสตรีมแบบสดและวิดีโอพรีเมียร์ โดยแฟนๆ สามารถซื้อสติกเกอร์ที่โดดเด่นเพื่อส่งให้กับครีเอเตอร์ที่ตนชื่นชอบผ่านทางแชทได้นั่นเอง
5. ฟีเจอร์สินค้า (Merch features)
ฟีเจอร์สินค้า (Merch features) คือชั้นวางสินค้าช่วยให้ช่องต่างๆ แสดงสินค้าที่มีแบรนด์อย่างเป็นทางการของตนเองบน YouTube ได้ โดยมีผู้ค้าปลีก 30 รายทั่วโลกให้ครีเอเตอร์เลือก
6. ฟีเจอร์การจำหน่ายตั๋ว
ฟีเจอร์การจำหน่ายตั๋วนี้จะช่วยให้แฟนเพลงทราบข้อมูลเกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่กำลังจะจัดขึ้น และซื้อตั๋วได้ง่ายๆ เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ของพาร์ทเนอร์ผู้จำหน่ายตั๋วโดยตรง
7. YouTube BrandConnect
YouTube BrandConnect (มีชื่อเรียกเดิมว่า FameBit) ช่วยให้ครีเอเตอร์และแบรนด์สร้างเนื้อหาที่มีแบรนด์ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ YouTube BrandConnect นำเสนอข้อมูลเชิงลึก การวัดผล และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนกลยุทธ์การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์ ครีเอเตอร์ และผู้ชมเข้าด้วยกัน
8. โฆษณา
โฆษณาถือเป็นแหล่งรายได้หลักของครีเอเตอร์ และยังคงเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้บน YouTube ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ที่ครีเอเตอร์ได้รับมาจากโฆษณาบน YouTube
9. YouTube Premium
YouTube Premium เป็นการสมัครใช้บริการแบบชำระเงินที่ให้สมาชิกรับชมวิดีโอบน YouTube ได้แบบไม่มีโฆษณาคั่น เล่นขณะล็อกหน้าจอหรือขณะใช้แอปอื่น ดาวน์โหลดวิดีโอ และเข้าถึง YouTube Music Premium ได้ โดยรายได้จากการติดตามส่วนใหญ่จะเป็นของพันธมิตร YouTube
10. เงินสนับสนุนของ YouTube Shorts
นอกจากรายได้ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเงินสนับสนุนของ YouTube Shorts จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐที่ จัดสรรสำหรับการสนับสนุนครีเอเตอร์ในช่วงปี 2021-2022 ด้วย โดยเงินสนับสนุนนั้นจะมีมูลค่าตั้งแต่ 100 – 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะพิจารณาจากยอดผู้ชมและการมีส่วนร่วมในวิดีโอ Shorts และทาง YouTube จะติดต่อครีเอเตอร์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เพื่อแจ้งให้ทราบว่าครีเอเตอร์รายนั้น ๆ มีสิทธิ์รับเงินสนับสนุนดังกล่าว
ปัจจุบัน YouTube Shorts Fund นี้ ได้มีการจ่ายให้กับครีเอเตอร์ในหลายประเทศมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ YouTube เผยด้วยว่า ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้จ่ายเงินไปกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ครีเอเตอร์ ศิลปิน และบริษัทสื่อต่าง ๆ เลยทีเดียว