HomeBrand Move !!‘วัลลภา ไตรโสรัส’ แม่ทัพ AWC เดินหน้าปั้นเมกะโปรเจกต์ระดับโลก โควิด Set Zero ค้าปลีก รีโพสิชันนิ่งโมเดลใหม่

‘วัลลภา ไตรโสรัส’ แม่ทัพ AWC เดินหน้าปั้นเมกะโปรเจกต์ระดับโลก โควิด Set Zero ค้าปลีก รีโพสิชันนิ่งโมเดลใหม่

แชร์ :

wallapa CEO AWC

แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 3 กลุ่มหลัก โรงแรม ค้าปลีก และอาคารสำนักงาน ที่มีคุณวัลลภา ไตรโสรัส (บุตรสาวคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) เป็นแม่ทัพ พลิกวิกฤติโควิดเป็นโอกาสปูพรมลงทุนเมกะ โปรเจกต์ต่อเนื่อง ภายใต้แผน 5 ปี (2565-2569) ด้วยเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

AWC ถือเป็นแฟลกชิพสำคัญของ ทีซีซี กรุ๊ป ด้วยขนาด IPO ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็น IPO ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรอบ 5 ปี จากมูลค่าสินทรัพย์ 1 แสนล้านบาท เมื่อ IPO ครั้งแรกในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ครบ 2 ปี ขยับขึ้นมาที่ 1.3 แสนล้านบาท

ตามแผนลงทุนอีก 5 ปีข้างหน้า AWC จะมีเมกะ โปรเจกต์เปิดใหม่เพิ่มเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอต่อเนื่อง ดันมูลค่าสินทรัพย์แตะ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นกลยุทธ์การเติบโตที่วางไว้ว่าจะมาจากทั้งธุรกิจเดิมฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดและโครงการลงทุนใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ช่วง 5 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้ AWC ขยายตัวแบบก้าวกระโดด

3 โปรเจกต์แลนด์มาร์กใหม่ เจาะโกลบอลดีมานด์

ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของ AWC ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย โรงแรม 18 แห่ง รีเทล 8 แห่ง อาคารสำนักงาน 4 แห่ง ค้าส่ง 2 แห่ง รวม 32 แห่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่อีก 18 โครงการ ซึ่งจะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในพอร์ตโพลิโอ ของ AWC จะมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์รวม 50 แห่งในหลากหลายทำเลสำคัญของประเทศ

คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่าการลงทุนเมกะ โปรเจกต์ ที่เรียกว่าเป็น Global Destination ขณะนี้มีอยู่ในมือแล้ว 3 โครงการ คือ 1.เอเชียทีค เฟสสอง 2. อควอทีค ดิสทริค พัทยา และ 3.เวิ้งนาครเขษม

โครงการที่ 1 “เอเชียทีค เฟส 2” ไฮไลต์อยู่ที่ตึกสูงสุดในประเทศไทย AWC ได้เซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2562 กับ Adrian Smith + Gordon Gill Architecture (AS+GG) บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติจากสหรัฐฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบอาคารสูง (Supertall Building) ระดับโลก ผลงานที่ผ่านมา เช่น ตึกสูงที่สุดในโลก Burj Khalifa ในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จากการประชุมกับบริษัทออกแบบ AS+GG ที่สหรัฐฯ ล่าสุด ขณะนี้ทั้งออฟฟิศของ Adrian Smith ทีมงานราว 50 คน กำลังโฟกัสที่การออกแบบตึกสูงเอเชียทีค ซึ่งเป็นโครงการที่จะแสดงออกถึงความเป็นไทย สะท้อนคุณค่าความสวยงาม และมีมาตรฐานระดับโลก เพื่อสร้างให้เป็น Global Destination ให้กับประเทศไทย เพราะที่ดินเอเชียทีค มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยาวนาน เป็นท่าเรือจุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองทางการค้าระหว่างประเทศไทยและนานาประเทศ

AWC asiatique design concept Supertall Building

ตึกสูงสุดในประเทศไทยของเอเชียทีค จะเป็น Iconic Landmark ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการลงทุนรูปแบบ Mixed Development ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย โรงแรม เรสซิเดนส์ แบรนด์ระดับท็อป ด้าน Hospitality ซึ่งได้เซ็นสัญญากับ ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ เรสซิเดนส์ (Branded Residence), เจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์, ออโตกราฟคอลเลกชั่น รวมทั้งพื้นที่รีเทลและอาคารสำนักงานคอนเซ็ปต์ใหม่ ที่จะอยู่ในทำเลทองริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ตามไทม์ไลน์จะใช้เวลา 2 ปีในการออกแบบตึกสูงและก่อสร้างแล้วเสร็จใน 9 ปี หรือปี 2573 แต่ระหว่างนี้ AWC จะสร้างเอเชียทีค เฟส 2 ส่วนรีเทลก่อน จะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี หรือ ปี 2567 เชื่อว่าการลงทุนโครงการระดับแลนด์มาร์ก จะสร้างจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยให้เป็น Global Destination เพื่อเจาะ Global Demand

awc aquatique pataya

โครงการที่ 2 อควอทีค ดิสทริค พัทยา โปรเจกต์มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองพัทยา โครงการประกอบด้วยโรงแรมหรู 5 แบรนด์ และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์อีก 2 แบรนด์ และพื้นที่ค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับ Wellness ตอบโจทย์การส่งเสริมให้พัทยาเป็นจุดหมายปลายทางของชายหาดยอดนิยม (Beachfront destination) ระดับโลก ประกอบด้วย 4 ส่วน

1. Global Wellness Retreat Destination โรงแรมแมริออท มาร์คีส์, เจดับบลิว แมริออท, เจดับบลิว แมริออท เรสซิเดนส์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และชีวาศรม
2. Unique Design และ Theme Hotel โรงแรม Vignette Collection (เดอะ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น) เตรียมเปิดตัวที่แรกในโลกกับโครงการอควอทิค พัทยา
3. Natural Green Space โรงแรม Kimpton , Kimpton Braned Residence และคอมมูนิตี้มอลล์ (Open-Air / Pet Frindly)
4. Sport and Adventure Tourism โรงแรมออโตกราฟ คอลเลกชั่น, ออโตกราฟ คอลเลกชั่น เรสซิเดนส์, Aquaria พื้นที่ค้าปลีก และLego Land

เวิ้งนครเขษม WOENG NAKHON KASEM AWC

โครงการที่ 3 เวิ้งนครเขษม ซึ่งพัฒนาให้เป็นโครงการรูปแบบ Mixed Development ทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย และค้าปลีกด้วยการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท โดยดึงเสน่ห์และอนุรักษ์ความเป็นไชน่า ทาวน์ สร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวกับร้านค้าปลีกใต้ดินใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ นำเสนอเส้นทางมรดก มรดกทางประวัติศาสตร์ และถนนแห่งความบันเทิง ตอบโจทย์การสร้างจุดหมายปลายทางเจาะนักท่องเที่ยวทั่วโลก

โปรเจกต์เวิ้งนครเขษม ได้เซ็นสัญญากับกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทเครืออินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป (IHG) เพื่อบริหาร โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล แบงค็อก ไชน่าทาวน์ (เวิ้งนครเขษม) มีกำหนดเปิดตัวในปี 2569 จะเป็นโรงเเรมหรูที่มีห้องพักจำนวน 332 ห้อง จะมีห้องอาหาร 3 แห่ง บาร์ สระว่ายน้ำ ฟิตเนส รวมทั้งพื้นที่จัดการประชุม 8 ห้อง บนพื้นที่รวมกว่า 1,382 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในโครงการมิกซ์ยูส พร้อมเป็นจุดหมายปลายทางที่มีเอกลักษณ์ ถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในเวิ้งนครเขษม ย่านประวัติศาสตร์เมืองเก่าของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน

โดยจะมีอีก 2 โรงเเรมบูทีค ซึ่งปรับโฉมพื้นที่จากอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นแบบดั้งเดิมเป็นโรงแรมขนาด 63 ห้องพัก และอีกแห่งเป็นห้องพักระยะยาวแบบมีเซอร์วิสจำนวน 105 ห้อง ภายใต้แบรนด์ อินเตอร์คอนดิเนนตัล เรสซิเดนส์

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่รีเทลและร้านค้าปลีกรวม 25,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นร้านค้าปลีกใต้ดินใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยการออกแบบที่สอดรับกับภูมิทัศน์ของเมือง ทำให้กลายเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในย่านเยาวราชที่เจาะนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็น “เมืองมรดกแห่งเอเชีย” (Heritage of Asia City)

“เวิ้งนครเขษม จะเป็นอีกหนึ่งทำเลทองของกรุงเทพฯ ที่ Very Unique, Very High demand เราจะสร้างเวิ้งฯ ให้กลับมาเป็นแลนด์มาร์กของย่านไชน่า ทาวน์ อยู่ร่วมกับชุมชน เพื่อสะท้อนคุณค่าและรากฐานความรุ่งเรืองของประเทศ โครงการเฟสแรกเปิดปี 2569 และเฟสสองปี 2570”

เวิ้งนครเขษม WOENG NAKHON KASEM 2 AWC 2

การลงทุนโปรเจกต์ระดับแลนด์มาร์กต่อเนื่อง AWC มองเรื่อง Strategic Location เป็นสิ่งสำคัญ โดยรวมหลากหลายเซ็กเตอร์ของธุรกิจและเซอร์วิสเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อทำเป็นเดสทิเนชั่นใหม่ที่เชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างจุดแข็ง ตอบโจทย์ Global Demand จากทั่วโลก

วันนี้ธุรกิจเรียลเอสเตทเรียกว่า Blur ไม่ได้แยกเซ็กเตอร์อีกต่อไป AWC จึงใช้โมเดลพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed and Merged) รวมทุกเซ็กเตอร์เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ New Normal และ New Lifestyle ปรับธุรกิจสู่การเป็น OMNI-Integrated Lifestyle Real Estate ที่รวมความหลากหลายของอสังหาฯประเภทต่างๆ ไว้ด้วยกัน

โควิด Set Zero ธุรกิจรีเทล เตรียมรีโพสิชันนิ่งโมเดลใหม่

ในช่วงเกือบ 2 ปีของสถานการณ์โควิด-19 AWC ได้วางกลยุทธ์บริหารด้วยการสร้างสมดุลกระแสเงินสด (Balance Cashflow) จากจุดแข็งการรวมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจหลากหลายทั้ง โรงแรม รีเทล และสำนักงาน ช่วงที่โรงแรมและรีเทลกระทบจากโควิด ก็จะมีกลุ่มสำนักงาน เข้ามาช่วยสร้างกระแสเงินสด จากแผนการลงทุน 5 ปี จะมีกลุ่ม Mixed development จากการลงทุนเมกะ โปรเจกต์เข้ามาช่วยสร้างกระแสเงินสดเพิ่มเติม โดยสัดส่วน 50% เป็นกลุ่มโรงแรม และอีก 50% กลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง อาคารสำนักงาน และ Mixed development

ทิศทางธุรกิจของ AWC จากนี้ ยังเดินหน้าลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed and Merged) ที่ไม่ได้มีการแยกโรงแรม ค้าปลีก หรือตึกสำนักงาน ออฟฟิศอย่างชัดเจน แต่จะอยู่รวมกันเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่

กลุ่มธุรกิจค้าปลีกอีกพอร์ตโพลิโอสำคัญของ AWC วางแผน Repositioning 6 โครงการในปัจจุบัน คือ เกตเวย์ บางซื่อและเอกมัย, พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน และเชียงใหม่, ตะวันนา บางกะปิ, ลาซาล อเวนิว, เอเชียทีค และกลุ่มธุรกิจค้าส่ง

หลังจากธุรกิจค้าปลีกถูกโควิด-19 ดิสรัปต์ อย่างโครงการเอเชียทีค ที่จับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ก็ต้องมาปรับตำแหน่งทางการตลาดกันใหม่ เน้นกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น เรียกว่าโควิดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้รีเทลต้องปรับตัวกันใหม่

“ช่วง 2 ปีนี้ รีเทลถูก Set Zero กันไปหมด ทุกอย่างไม่ใช่แบบเดิม วันนี้ลูกค้าไม่ได้ไปแค่ห้างสรรพสินค้า หรือไปซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เดิมเป็นแม่เหล็กสำคัญดึงคน เพราะทุกอย่างมีออนไลน์ เซอร์วิสให้บริการแทนได้ แต่รีเทลแบบใหม่ต้องตอบเรื่อง Lifestyle Experience ที่ลูกค้ามองหา ทำให้ AWC เตรียมแผน Repositioning กลุ่มรีเทลในทุกโลเคชั่นใหม่”

รีเทลใหม่ในมุม AWC ต้องดูว่าวันนี้อะไรคือ Activity, Experience และ Attraction ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าออกมาใช้บริการ เชื่อว่าสิ่งแรกที่คนต้องการออกมาเดินศูนย์การค้า คือมาพบปะผู้คน มาหาของรับประทาน หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในรีเทล คือใส่เรื่อง F&B Destination ปัจจุบันมีเน็ตเวิร์กร้านค้าเช่าในกลุ่มนี้จำนวนมาก และรวมคอนเซ็ปต์ฟู้ดหลายอย่างเข้ามาเป็นแม่เหล็กให้กลุ่มรีเทล เพื่อสร้าง Lifestyle Experience ซึ่งในแต่ละทำเลจะแตกต่างกัน เพื่อตอบโจทย์ New Lifestyle ที่ผู้คนอยากมาใช้เวลาร่วมกัน

เช่นเดียวกับโครงการเอเชียทีค การ Repositioning โมเดลใหม่ จากเดิมเป็นลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 70-80% จะปรับสัดส่วนเหลือ 50% และเพิ่มสัดส่วนลูกค้าไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยให้เป็น 50% จากเดิม 20-30% ด้วยการเติมแม่เหล็กใหม่ๆ เข้ามาในโครงการสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้

ธุรกิจค้าส่ง ได้เปิดตัวโมเดลใหม่ เปลี่ยนพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เป็น AEC Trade Center เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ต้นปีนี้ได้เปิดคอนเซ็ปต์ Beyond Exhibition เป็นรูปแบบใหม่การค้าส่งที่จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค

โรงแรมจับเทรนด์ Workation – Long Stay

กลุ่มโรงแรมโควิดได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้บริการเช่นกัน จาก New Normal และ New Lifestyle ของลูกค้า ที่เข้ามาพักในโรงแรมรูปแบบ Workation และ Long Stay จากเดิมลูกค้ากลุ่มนี้จะอยู่ยาวราว 1-2 สัปดาห์ ปัจจุบันอยู่เป็นเดือนหรือมากกว่า ถือเป็น New Lifestyle ของกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ และพฤติกรรมการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สำนักงาน แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ จะเห็นเทรนด์นี้มากขึ้นในกลุ่มต่างชาติด้วยเช่นกัน ทำให้โรงแรมในไทยมีดีมานด์ใหม่จากกลุ่มนี้เข้ามาเพิ่มขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย และประเทศไทยเปิดเมืองแล้ว

ปัจจุบันสัดส่วนเข้าพักแบบ Workation และ Long Stay ของ AWC อยู่ที่ 20% จากเดิมอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น ถือเป็นดีมานด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ New Lifestyle รูปแบบการท่องเที่ยวหลังจากนี้จะเป็นไฮบริด ทั้งการท่องเที่ยวและทำงานมากขึ้น และจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องปรับเซอร์วิสและโปรดักท์ในโรงแรมให้เหมาะกับกลุ่มนี้

ดังนั้นโรงแรมบางทำเลของ AWC ได้เตรียม Facilities ต่างๆ ไว้สำหรับการพักแบบ Workation และ Long Stay เช่น ห้องครัว เครื่องซักผ้า อบผ้า โต๊ะทำงาน เก้าอี้ทำงาน ปัจจุบันมีการจองห้องพัก 2 bedroom เพื่อใช้อีกห้องเป็นห้องทำงาน หรือจอง 2 ห้อง โดยใช้อีกห้องติดกันเป็นห้องทำงาน อีกห้องจองไว้ให้ครอบครัวพักผ่อน

เทรนด์ Workation และ Longstay ถือเป็นอีกโอกาสของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจากทำเลโดดเด่นในหลายจุดหมายท่องเที่ยวและราคาแพ็คเกจจูงใจ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เมื่อไทยเปิดประเทศแล้ว ยังเป็น “จุดหมาย” การเดินทางที่ผู้คนทั่วโลกต้องการมาหาประสบการณ์

“เชื่อว่าเมื่อเปิดเมือง นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาก็จะสร้างโมเมนตัมให้ธุรกิจท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้เร็ว จากจุดแข็งประเทศไทยที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก”

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like