เมื่อเร็วๆนี้ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ได้จัดงานสัมมนาแบบผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ “Reconnecting International Business with Thai Eastern Economic Corridor” มุ่งประชาสัมพันธ์โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในฐานะจุดหมายของการทำธุรกิจให้กับกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งในและต่างประเทศ โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมงาน 181 คนทั้งแบบสัมมนาออนไลน์ และเข้าร่วมงานสัมมนา 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2564 ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป อีอีซีจึงเน้นส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม 3+1 ได้แก่ Health & well-being เช่น medical sector, Digital เช่น smart electronics, Decarbonization เช่น automotive และ Logistics
งาน EEC Business Forum – “Reconnecting International Business with Thai Eastern Economic Corridor” จัดขึ้นโดยหอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย (NTCC) ในนามของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), จังหวัดชลบุรี รวมทั้งภาคเอกชนและผู้สนับสนุนทุกฝ่าย
กิจกรรมตลอดระยะเวลา 3 วันประกอบไปด้วยการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การเสวนา กิจกรรมสร้างเครือข่าย และการเยี่ยมชมชุมชนตะเคียนเตี้ย ชุมชนสวนมะพร้าวในเมืองพัทยา โดยมีจุดประสงค์ เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างชาติและกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรี สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการทำธุรกิจของทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งนำเสนอข้อมูลล่าสุด โครงการสาธารณูปโภคในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแก่นักลงทุนต่างชาติ เช่น เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา รวมถึงรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อม 3 สนามบินทั้งดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568
นายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนา “หลายเดือนที่ผ่านมาตัวเลขนักท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีลดจำนวนลงอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด 19 การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี เนื่องจากกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติและนักลงทุนที่มาร่วมงานในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวมักจะอยู่ต่อเพื่อท่องเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับธุรกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ช่วงเวลาในการจัดงานยังสอดคล้องกับโครงการ Pattaya Moves On ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสความสนใจมายังแผนการเปิดเมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรีมากขึ้น”
นอกจากนั้นแล้ว รองนายกเมืองพัทยา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พัทยาคือแหล่ง sport และเตรียมที่จะเป็น economic ของอีสเทิร์น สามารถเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯได้ง่าย มีมอเตอร์เวย์ มีสนามบินและเป็น Smart City เป็นเมืองท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย และโรงแรมต่างๆ ก็ทันสมัย พร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลก
นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ตัวแทนผู้จัดงานระบุว่า “การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของงานสัมมนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้วที่จังหวัดระยอง สมาชิกของเราซึ่งเป็นหอการค้าร่วมต่างประเทศของประเทศต่างๆล้วนมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะต่อยอดความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรี และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับแผนการพัฒนาล่าสุดของโครงการสาธารณูปโภคใน EEC เราเชื่อมั่นในศักยภาพของพื้นที่ EEC และจัดงานครั้งนี้ที่มีรูปแบบผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ก็เพื่อช่วยกระจายข้อมูลดังกล่าวไปยังกลุ่มนักลงทุนต่างชาติทั้งในไทยและต่างประเทศพร้อมๆกัน”
“กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอลเป็นกลุ่มที่มีความคืบหน้ามากที่สุด ที่ให้ความสนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะกลุ่ม smart electronics เช่น กลุ่มผู้ประกอบชิ้นส่วนสำหรับ EV หรือกลุ่ม smart devices เนื่องจากพื้นที่อีอีซีอยู่ใกล้กับสนามบินถึง 2 แห่ง คือสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกนั่นเอง” นายสแตนลีย์ คัง กล่าวถึงผลตอบรับที่ดีของงานสัมมนาในครั้งนี้
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) กล่าวว่า “ทางสสปน.ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสององค์กรและส่งเสริมความร่วมมือในโครงการ “One Chamber One Community” สำหรับการจัดกิจกรรมเชิงธุรกิจในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความพร้อมและศักยภาพ ในการเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE cities) งานสัมมนา EEC Business Forum ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงให้เห็นความพร้อมของพัทยา ในการเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อรองรับการจัดประชุมและกิจกรรมด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ”
ดร. ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าโครงการต่างๆในอีอีซีจะยังคงเดินหน้าต่อไปแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบังและการพัฒนาเมืองการบิน (Airport City) จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับเครือข่ายโลจิสติกส์ที่หลากหลายในพื้นที่อีอีซี สกพอ.ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อสร้างระบบการทำงานโลจิสติกส์ที่ไร้รอยต่อซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโลจิสติกส์ทั้งในอีอีซีและในระดับประเทศ ในส่วนของสาธารณูปโภคดิจิทัล ได้มีการติดตั้งเครือข่าย 5G ในพื้นที่อีอีซีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดนี้จะช่วยนำอีอีซีให้กลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียทั้งด้านธุรกิจและการลงทุน”
ทางด้าน นางสาวสุวิมล ตวงวุฒิกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าว่า “ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสมาชิกหอการค้าชลบุรีที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 175 บริษัท ได้มีโอกาสพบปะนักธุรกิจและนักลงทุนชาวต่างชาติ ปัจจุบันชลบุรีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 6.4 เปอร์เซ็นของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ เมื่อรวมกับฉะเชิงเทราและระยอง ทั้งสามจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงถึง 14.7 เปอร์เซ็นของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ ตัวเลขนี้สามารถสูงขึ้นอีกได้เมื่อมีบริษัทในภาคการผลิต และภาคบริการบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมเข้ามาจัดตั้งในพื้นที่ เช่น บริษัทในกลุ่มกระบวนอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กลุ่มอากาศยานและการขนส่ง กลุ่มพลังงานชีวมวลและชีวเคมี รวมทั้งกลุ่มธุรกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นแก่บุคคลในท้องที่”