KOI Thé หรือ โคอิ เตะ เป็นแบรนด์ชานมไข่มุกจากไต้หวันที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกว่า 5 ปีแล้ว และด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ “ไข่มุกสีทอง” รวมถึงคุณภาพวัตถุดิบที่ทำสดใหม่ทุกชั่วโมง ทำให้มีการขยายสาขามากถึง 48 สาขา และทำให้คนไทยคุ้นเคยกับแบรนด์ชานมไข่มุกนี้เป็นอย่างดี แต่หากจะให้จินตนาการภาพของแบรนด์โคอิ เตะ ในสไตล์แฟชั่นรักษ์โลก หลายคนคงจะนึกภาพไม่ออกกันอย่างแน่นอน
เพราะคอนเซ็ปท์แฟชั่นรักษ์โลก เป็นแนวคิดแบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy”ที่เน้นการนำวัตถุดิบเหลือใช้หรือขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณของเสียในอุตสาหกรรม ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวกับธุรกิจชานมไข่มุก แต่วันนี้ โคอิ เตะ กำลังนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในธุรกิจ ด้วยการ Collaboration กับแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น “CIRCULAR” โดยนำทรัพยากรที่มีในองค์กรอย่างยูนิฟอร์มเก่ามารีไซเคิลจนออกมาเป็นเสื้อผ้าใหม่ในโปรเจกต์ที่ชื่อ Closed-Loop และปัจจุบันได้ผลิตออกมาใช้งานกว่า 300 ตัวแล้ว
เพราะอะไร “โคอิ เตะ” ถึงเลือกสร้างสรรค์เสื้อผ้าแฟชั่นรักษ์โลกจากยูนิฟอร์มเก่า Brand Buffet ชวนมาคุยกับ คุณวัธ ผู้บริหาร Brand ผ้ารีไซเคิล SC GRAND และ Brand เสื้อผ้าแฟชั่น CIRCULAR กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ หรือ SC GRAND และ CIRCULAR ถึงเบื้องหลังการ Collaboration รวมถึงความพิเศษของโปรเจค Closed-Loop และความคาดหวังของโปรเจคนี้แบบเจาะลึก
“โคอิ เตะ” ร้านชานมไข่มุก ที่ใส่ใจโลก
แม้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ธุรกิจเครื่องดื่มยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ชานมไข่มุก” ยังคงเป็นเมนูยอดฮิตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยืนยันด้วยจำนวนร้านค้าตามท้องถนนที่มีร้านประเภทนี้เปิดบริการค่อนข้างมาก เพราะคนไทยชอบกินชานมไข่มุก สะท้อนจากข้อมูลของแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่ระบุว่า ชานมไข่มุกเป็นเมนูที่คนไทยนิยมสั่งมากที่สุด โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 6 แก้วต่อคนต่อเดือน
เมื่อพฤติกรรมการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขยะหรือมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมย่อมสูงขึ้นเช่นกัน เพราะแค่เครื่องดื่ม 1 แก้ว สามารถสร้างขยะพลาสติกได้ถึง 4 ชิ้น ได้แก่ แก้วพลาสติก ฝาพลาสติก หลอดพลาสติก และถุงพลาสติก นั่นหมายความว่าถ้าคนไทยดื่มชานมไข่มุก 6 แก้วต่อเดือน เท่ากับจำนวนขยะพลาสติกจะพุ่งสูงถึง 260 ชิ้นต่อเดือนเลยทีเดียว และต้องใช้เวลาในการย่อยสลายยาวนาน ส่งผลให้แบรนด์เครื่องดื่มต่างเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ โดยเริ่มนำบรรจุภัณฑ์กระดาษมาใช้เพื่อลดการสร้างขยะพลาสติกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิต
เช่นเดียวกับโคอิ เตะ ที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและต้องการลดปัญหา “ขยะ” ที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนากระบวนการจัดการกับของเสีย โดยมีขั้นตอนการกรองชาและจัดการวัตถุดิบเหลือทิ้งต่างๆ ไม่ให้ไหลออกไปปะปนในท่อน้ำทิ้งสาธารณะ จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ รวมถึงทำจุดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปคัดแยกและรีไซเคิลต่อไป
กระทั่งมาปีนี้ โคอิ เตะมีแนวคิดที่จะนำเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่ในองค์กรกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากบริษัทฯ มีการเปลี่ยนแบบยูนิฟอร์มใหม่เป็นระยะๆ จึงทำให้มีชุดยูนิฟอร์มที่ไม่ใช้งานจำนวนมาก ซึ่งคุณภาพของเสื้อผ้าเหล่านี้ยังใช้งานได้ หากชุดยูนิฟอร์มเหล่านี้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและปัญหามลพิษให้โลกได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้โคอิ เตะ เริ่มต้นศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิด Circular Fashion จนได้มาเจอกับ CIRCULAR ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นรักษ์โลก ที่นำเศษผ้าหรือเสื้อผ้าเก่ามาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ โดยไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อม จึงตัดสินใจพัฒนาโปรเจ็คร่วมกัน จนเกิดเป็นโปรเจกต์ “Closed-Loop”
แปลงขยะสิ่งทอในองค์กรสู่แฟชั่นรักษ์โลก
หากเอ่ยชื่อ CIRCULAR คนในแวดวงแฟชั่นจะรู้จักแบรนด์นี้ในฐานะ เป็น Brand เสื้อผ้าในเครือของ SC GRAND ที่ตั้งใจสร้าง Brand เสื้อผ้า Fashion เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และสื่อสารกับทางลูกค้า หรือคู่ค้าว่า ผ้ารีไซเคิลสามารถนำมาออกแบบเป็นเสื้อผ้าให้ใส่ในชีวิตประจำวันได้ โดยนำเสื้อผ้าเก่าและของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาคัดแยกสีเพื่อรีไซเคิล และแปรสภาพเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่ แต่สิ่งที่พิเศษของโปรเจ็ค Closed-Loop คุณวัธ บอกว่า อยู่ที่การเป็นมากกว่า “ผืนผ้ารีไซเคิล” ที่แบรนด์เสื้อผ้านำไปใช้ออกแบบและผลิตเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นต่างๆ
โดยต้องการให้องค์กรที่มีเสื้อผ้าเก่า หรือเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดเย็บสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเสื้อใหม่กลับไปได้ แทนที่จะถูกทิ้งเป็นขยะเสื้อผ้า หรือขยะสิ่งทอ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้โลกมีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะการนำกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ และลดสารเคมีในการฟอกย้อม รวมทั้งตัดบางตอนในกระบวนการผลิต เช่นการปลูกฝ้าย และกระบวนการฟอกย้อม ซึ่งเท่ากับลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในตัว ขณะเดียวกันยังได้เสื้อผ้าตัวใหม่ที่ทั้งทนทาน สวยงาม และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
“เส้นด้ายแต่ละเส้นหรือสีผ้าในเสื้อผ้าใหม่ที่ทำมาจากขยะสิ่งทอจะมีคาแรคเตอร์ของเสื้อผ้าเก่าอยู่ด้วย ทำให้เสื้อแต่ละตัวมีสีไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของผ้ารีไซเคิล แบบไม่ผ่านการใช้สารเคมี หรือกระบวนการฟอกย้อม”
คุณวัธ ย้ำถึงเสน่ห์ของ CIRCULAR Fashion และบอกว่า เสื้อผ้าเก่าที่องค์กรจะนำมาแปลงโฉมเป็นเสื้อผ้าใหม่ในโปรเจคนี้ เพียงแค่เป็น “Textile Waste” เสื้อผ้าเก่า หรือยูนิฟอร์มตัวเก่าในปีที่ผ่านมา เศษด้ายจากกระบวนการทอผ้า และเศษผ้าจากกระบวนการตัดเย็บ ทุกประเภทสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ทั้งหมด และยังสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกง กระเป๋า หมวก รองเท้า และถุงเท้า
โดยการ Collaboration ครั้งนี้ เป็นการนำเสื้อยูนิฟอร์มเก่าของโคอิ เตะ จำนวน 100 ตัว มารีไซเคิลเป็นเสื้อใหม่ประมาณ 300 ตัว แต่มากกว่าเสื้อใหม่ที่ผลิตขึ้นจากขยะสิ่งทอคือ การใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่า และลดของเสียในกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด ซึ่ง KOI Thé และ CIRCULAR หวังว่า โปรเจคนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทำให้คนเข้าใจว่าสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยโลกใบนี้ด้วยเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่ในองค์กรได้
“เมื่อก่อนเราอาจมองเสื้อผ้าเก่าเหล่านี้เป็น Waste แต่วันนี้เรามองเสื้อผ้าเก่าเป็น Resource ที่สามารถนำกลับมาทำใหม่ได้” นี่คือมุมมองโคอิ เตะ ต่อเสื้อผ้าเก่าที่เปลี่ยนไป
เปิดช็อป CIRCULAR ขยายประสบการณ์ผ้ารีไซเคิล
คุณวัธ ยอมรับว่า ปัจจุบันหลายองค์กรให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และตื่นตัวกับแนวคิดเสื้อผ้ารีไซเคิลมากขึ้น แต่การนำเสื้อผ้าเก่ามาทำเป็นเสื้อใหม่และใช้งานในชีวิตประจำวัน ยังคงเป็นเรื่องใหม่ จึงเชื่อว่าการ Collaboration ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น และแรงบันดาลใจให้หลายอุตสาหกรรม ตระหนักและขยับตัวนำเสื้อผ้าเก่าที่เหลือใช้ในองค์กรมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น
และนอกจากการ Collaboration กับองค์กรต่างๆ CIRCULAR ยังพัฒนา CIRCULAR T-Shirt Club เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ในการนำเสื้อยืดตัวเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาบริจาค เพื่อนำกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิต และรีไซเคิลอีกครั้ง พร้อมทั้งมอบส่วนลด 100 บาท ให้กับทุกๆ เสื้อยืดเก่าหนึ่งตัวที่ส่งกลับมาให้เรา ในการใช้เป็นส่วนลดทั้งทางหน้าร้าน และเว็บไซต์ได้ เราเชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมองว่าทุกคนต้องมีเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วอยู่ในบ้าน แถมยังได้รับส่วนลดเพื่อนำไปซื้อเสื้อตัวใหม่ โดยเสื้อยืดตัวเก่าจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อทำเป็นเสื้อใหม่ในคอลเลคชั่นต่อไป รวมถึงพัฒนาเสื้อผ้ารีไซเคิลในแบบ Customize ที่เฉพาะบุคคล โดยในอนาคตผู้บริโภคสามารถออกแบบเสื้อผ้ารีไซเคิลได้ตามความต้องการของตัวเอง
ขณะเดียวกันยังเปิดช็อป Circular แห่งแรกย่านสยามสแควร์เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์ผ้ารีไซเคิลมากขึ้น โดยจุดเด่นของร้านคือ การจัดโซนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเสื้อผ้าและเศษผ้าเก่า โดยแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 ผลิตภัณฑ์รองเท้า ชั้น 2 เสื้อผ้า กางเกง และถุงเท้า ส่วนชั้น 3 เป็นห้องผ้าเพื่อให้ทุกคนเข้ามาดูเนื้อผ้า ทั้งยังสามารถลองเสื้อและสั่งตัดขึ้นมาแบบ Customize ได้ด้วย ส่วนชั้น 4 เป็นการนำเอาเส้นด้ายรีไซเคิลให้ชุมชนทอเพื่อนำไปต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่อไป
ไม่ว่าองค์กรของคุณจะอยู่ในธุรกิจใดก็สามารถลุกขึ้นมามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ได้ เช่นเดียวกับ โคอิ เตะ แม้จะอยู่ในธุรกิจเครื่องดื่ม ก็ไม่ได้แค่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ออกมาเพื่อเอาใจผู้บริโภค แต่ยังใส่ใจโลกอย่างจริงใจในทุกรายละเอียด ซึ่งหากองค์กรต่างๆ ช่วยกันปรับเปลี่ยน เราเชื่อว่าจะช่วยสร้างโลกที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน