ด้วยโครงสร้างสังคม – ครอบครัว และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น โดยเฉพาะสุนัข และแมว ซึ่งทุกวันนี้การปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงไม่ใช่เป็นแค่ “สัตว์เลี้ยง” หากแต่เป็น “สมาชิกในครอบครัว”
ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “Pet Humanization” คือ เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ได้มองว่าตัวเองคือเจ้าของ แต่เป็น “พ่อ/แม่” ของสัตว์เลี้ยงมากกว่า หรือที่เรียกว่า “Pet Parents” ดูแลเอาใจใส่เหมือนลูก พร้อมทุ่มเท ทั้งเงิน และการเลี้ยงดู จนแทบไม่ต่างจากมนุษย์ ตั้งแต่อาหารการกิน ดูแลสุขภาพ หาของเล่น เสื้อผ้า จัดมุมพักผ่อน/ที่นอนในบ้าน หรือบางบ้าน ก็มีห้องให้น้องหมา – น้องแมวโดยเฉพาะ รวมทั้งพาไปไหนมาไหนด้วยทุกที่
Morgan Stanley นิยามพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก หรือเป็นสมาชิกในครอบครัวไว้ว่า “Petriarchy” หรือที่เราเรียกว่า “ทาสหมา” – “ทาสแมว” เจ้าของทั้งรักทั้งหลงในความน่ารัก น่าเอ็นดู และดูแลเอาใจใส่ นำไปสู่การใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น
6 ปัจจัยผลักดันแนวโน้ม “Pet Humanization” ขยายตัว
แนวโน้ม “Pet Humanization” ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสในช่วงเวลาสั้นๆ ที่มาแล้วก็ไป แต่นับวันจะยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้น และกลายเป็น “Mainstream” โดยมี 6 ปัจจัยหลักหนุนคือ
1. คนโสดมากขึ้น
ปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก ประชากรแต่งงานช้าลง และเป็นโสดมากขึ้น อย่างในประเทศไทย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ฉายภาพว่าปัจจุบันคนไทยเป็นโสดกันมากขึ้น จากจำนวนการแต่งงานที่ลดลง และการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าของกรมการปกครองพบว่า จำนวนการจดทะเบียนสมรสของคนไทยลดลงจาก 3.13 แสนคนในปี 2550 มาอยู่ที่ 2.98 แสนคนในปี 2560 (ลดลง 5.1%)
สวนทางกับจำนวนการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้นจาก 1.02 แสนคน มาเป็น 1.22 แสนคน (เพิ่มขึ้น 19.7%) ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งการแต่งงานที่ลดลง และการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าประเทศไทยมีจำนวนคนโสดมากขึ้น
2. คู่รักไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้คู่รักคนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มชะลอการมีบุตรออกไปก่อน หรือตัดสินใจไม่มีบุตรเลย ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น กังวลกับสภาพสังคม และเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเลี้ยงลูกยุคนี้มีต้นทุนสูง ต้องการโฟกัสความก้าวหน้าในงานก่อน อยากหาประสบการณ์ชีวิต ปัจจัยด้านสุขภาพ ฯลฯ ทำให้หลายคู่ตัดสินใจที่จะเลี้ยงน้องหมา น้องแมว และดูแลพวกเขาเหล่านั้นเป็นเหมือนลูกของตัวเอง
3. สัตว์เลี้ยงคลายเหงาผู้สูงอายุ รับแนวโน้มสังคมสูงวัย
ปี 2021 ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมสูงอายุ” (Aging Society) ประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ เข้าสู่ “สังคมสูงวัยสมบูรณ์” (Aged Society) แล้ว นั่นคือ 20% ของประชากรทั้งประเทศ อายุ 60 ปีขึ้นไป
หนึ่งในวิธีช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงา ได้บำบัด และกลับมามีชีวิตชีวาอีก คือ การเลี้ยงสัตว์ แต่ต้องเลือกให้ประเภทสัตว์เลี้ยง และสายพันธุ์ที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายกับผู้สูงอายุ เลี้ยงง่าย ดูแลง่าย
4. Supply เฟื่องฟู
จาก 3 ปัจจัยข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึง Demand ในตลาดสัตว์เลี้ยงมหาศาล เช่นเดียวกับฝั่ง Supply ปัจจุบันมีสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากมาย และหลายประเภท ตั้งแต่อาหารสัตว์ ที่ตลาดพัฒนาลงลึกระดับ Fragmentation ทั้งอาหารสุนัขแต่ละสายพันธุ์ และมี Health Benefit บำรุงด้านต่างๆ อุปกรณ์การดูแล และของเล่นสัตว์เลี้ยง คลินิก – โรงพยาบาลสัตว์ โรงแรมสัตว์เลี้ยง และในยุคดิจิทัล มีสตาร์ทอัพหลายรายมองเห็นโอกาสธุรกิจ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสัตว์เลี้ยงแบบ On-Demand ในหลายบริการ
อย่างรายงานจาก “Wunderman Thompson” ได้ฉายภาพการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มดูแลสัตว์เลี้ยง On-demand ว่า ข้อมูลจาก VitusVet บริษัทผู้ให้บริการด้านสัตวแพทย์ ระบุว่าในปี 2020 คนอเมริกันเลี้ยงสัตว์ 47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2019
ขณะที่ “Morgan Stanley” เผยรายงาน “Welcome to the Petriarchy” ได้คาดการณ์อุตสาหกรรมดูแลสัตว์เลี้ยง (Pet Care Industry) จะมีมูลค่าแตะ 275,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030 และจากการสำรวจยังพบว่า 65% ของผู้บริโภคอายุ 18 – 34 ปี มีความคิดต้องการเลี้ยงสัตว์เพิ่ม หรือซื้อสัตว์เลี้ยงภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ใช้จ่ายกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าผู้บริโภคกลุ่มผู้ใหญ่
การเติบโตทั้งประชากรสัตว์เลี้ยง และอุตสาหกรรมสินค้า-บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง มาพร้อมกับการขยายตัวโมเดลธุรกิจดูแลสัตว์แบบ On-demand เช่น
– “Dutch” แพลตฟอร์มให้บริการ Pet Telemedicine ก่อตั้งโดย Joe Spector ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Telehealth “Hims & Hers” ด้วยเงินลงทุน Seed Funding 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก Forerunner Ventures และ Andrew Dudum ซีอีโอคนปัจจุบันของ Hims & Hers
– “DoorDash” แพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ จับมือกับ “PetSmart” เชนค้าปลีกด้านสัตว์เลี้ยง (Pet Retailer) ที่มีสาขามากกว่า 1,500 สาขาทั่วสหรัฐฯ ร่วมกันพัฒนาบริการจัดส่งสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแบบ On-Demand ทั้งอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ ของเล่น
– “Groomit” แอปพลิเคชันให้บริการตัดแต่งขนสัตว์ On-demand โดยลูกค้าสามารถเลือกวัน – เวลาที่ตนเองสะดวก เลือกแพคเกจ เลือกผลิตภัณฑ์ที่จะใช้กับสัตว์เลี้ยง เช่น ผลิตภัณฑ์ออแกนิค
Wunderman Thompson ชี้ว่า 89% ของคนอเมริกันมีสถานะโสด และ 91% ของคนอเมริกัน เชื่อในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนกับลูก
5. COVID-19 คนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น
COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น และเดินทางออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำงาน เรียน คาเฟ่ขนาดเล็กๆ ออกกำลังกาย ฯลฯ
เมื่อคนมีเวลาอยู่กับบ้าน แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อคลายความเบื่อ และความเครียด จึงหากิจกรรมต่างๆ ทำ ทั้งทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก จัดบ้าน ตกแต่ง ซ่อมแซม ปรับปรุงบ้าน รวมถึงเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน เป็นลูก ช่วยคลายเหงา และความเครียด
6. อีคอมเมิร์ซ ทำให้คนเข้าถึงสินค้าสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้น
อีกปัจจัยที่เร่งให้ตลาดสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงโตอย่างรวดเร็ว คือ การมีช่องทางจำหน่ายหลากหลาย ทั้งร้านค้าออฟไลน์ และช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้คนเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น
ยิ่งช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทั้งฝั่งแบรนด์สินค้า หรือร้านค้า รุกอีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันพฤติกรรมการช้อปของผู้บริโภค Pet Lovers ก็เปลี่ยนมาสั่งซื้อสินค้าให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเองผ่านทางอีคอมเมิร์ซเช่นกัน
อย่าง “JD Central” ทำแคมเปญช่วงล็อกดาวน์ “Save Safe ล็อกดาวน์ปลอดภัย เซฟๆ ให้ 2 ต่อ” ปรากฏว่าพบ Consumer Insight น่าสนใจคือ สินค้าหลักๆ ที่ผู้บริโภคนิยมสั่งมากที่สุดในช่วงล็อกดาวน์ COVID-19
– สินค้าเกี่ยวกับความบันเทิง เช่น ทีวี หูฟัง ลำโพง
– ยอดอาหารแมวเติบโตอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนได้ว่ามีลูกค้าที่เป็น Cat Lover หรือทาสแมว เข้ามาสั่งสินค้าเกี่ยวกับแมวบนแพลตฟอร์ม JD Central
สำรวจตลาดอาหารสัตว์ โตสวน COVID-19 – เซ็กเมนต์พรีเมียมมาแรง ภาพสะท้อน Pet Lover ทุ่มเพื่อสัตว์เลี้ยงแสนรัก
ปัจจุบันตลาดผลิตภัณฑ์ และบริการดูแลสัตว์เลี้ยงแยกย่อยเป็น Fragmentation มากมาย แต่หนึ่งในตลาดใหญ่ที่เติบโตต่อเนื่อง แม้จะเจอสถานการณ์วิกฤต COVID-19 คือ “ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง”
ResearchAndMarkets.com รายงานมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกในปี 2020 อยู่ที่ 75,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน อยู่ที่ 74,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าในปี 2021 มีอัตราการเติบโต 6% และในปี 2023 จะเพิ่มขึ้นเป็น 88,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ “USDA” (United States Department of Agriculture : Foreign Agricultural Service) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก รองจาก เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ขณะที่อันดับ 5 คือเนเธอร์แลนด์
โดยผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ในไทยคือ กลุ่มซีพี เบทาโกร กลุ่มเอเชี่ยน และ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตอาหารระดับโลกอย่าง Mars Inc. และ Nestle Purina ตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต รองรับทั้งตลาดในประเทศ และส่งออก
ขณะที่ตลาดในไทย USDA ได้รายงานประชากรสัตว์เลี้ยงในไทย อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย ประมาณการณ์ว่าในปี 2020 จำนวนสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยอยู่ที่ 14.5 ล้านตัว แบ่งเป็น สุนัข 8.9 ล้านตัว (62%) แมว 3.3 ล้านตัว (23%) และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ 15%
ทั้งนี้ ทิศทางของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในไทย เซ็กเมนต์ที่เติบโตดีคือ เซ็กเมนต์พรีเมียม ดังตัวอย่างข้อมูลของ Euromonitor International ฉายภาพตลาดอาหารสุนัขในประเทศไทย ปี 2020 ยอดขายเชิงมูลค่า (Value) โต 9% จากปีก่อน ขณะที่ยอดขายเชิงปริมาณ (Volume) เพิ่มขึ้น 6% พบว่าตลาดพรีเมียม โตมากกว่าตลาดอีโคโนมี่ และตลาดระดับกลาง
ภาพรวมมูลค่าตลาดอาหารสุนัขปี 2020 อยู่ที่ 29,444 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 กลุ่มสินค้าคือ
ขนมสุนัข: 7,793.9 ล้านบาท (โต 15.4% เทียบกับปี 2019)
อาหารสุนัขแบบแห้ง: 17,616 ล้านบาท แบ่งเป็น
– ตลาดอีโคโนมี่: 4,182.4 ล้านบาท (โต 4.6%)
– ตลาดระดับกลาง: 9,718.0 ล้านบาท (โต 6.9%)
– ตลาดพรีเมียม: 3,716.2 ล้านบาท (โต 7.9%)
อาหารสุนัขแบบเปียก: 4,033.5 ล้านบาท แบ่งเป็น
– ตลาดอีโคโนมี่: 191.4 ล้านบาท (โต 2.5%)
– ตลาดระดับกลาง: 3,321.3 ล้านบาท (โต 7.4%)
– ตลาดพรีเมียม: 520.8 ล้านบาท (โต 9.9%)
ขณะที่ยอดขายเชิงปริมาณปี 2020 อยู่ที่ 244,426.2 ตัน ประกอบด้วย 3 เซ็กเมนต์คือ
ขนมสุนัข: 14,791.3 ตัน (โต 10.8% เทียบกับปี 2019)
อาหารสุนัขแบบแห้ง: 199,561.7 ตัน แบ่งเป็น
– ตลาดอีโคโนมี่: 71,698.4 ตัน (โต 3.1%)
– ตลาดระดับกลาง: 107,002.5 ตัน (โต 6.6%)
– ตลาดพรีเมียม: 20,860.8 ตัน (โต 8.7%)
อาหารสุนัขแบบเปียก: 30,073.3 ตัน แบ่งเป็น
– ตลาดอีโคโนมี่: 2,850.1 ตัน (โต 2.8%)
– ตลาดระดับกลาง: 25,465.4 ตัน (โต 6.9%)
– ตลาดพรีเมียม: 1,757.9 ตัน (โต 10.8%)
ถึงแม้ในจำนวนประชากรสัตว์เลี้ยงในไทย มากถึง 62% เป็นสุนัข แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าคนไทย หันมาเลี้ยงแมวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
USDA ชี้ว่าคนรุ่นใหม่นิยมเลี้ยงแมวมากขึ้น เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงที่เหมาะกับที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัด เช่น ห้องในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ประกอบกับด้วยบุคลิกและนิสัยแมว เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย รักความสะอาด และดูแลตัวเองได้
ดังนั้นผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกสรรอาหารแมวที่ดีที่สุด ขณะที่ฝั่งผู้ผลิต พัฒนาอาหารแมวนวัตกรรมใหม่ เช่น อาหารที่ให้คุณค่าโภชนาการ และรส กลิ่น และเนื้อสัมผัส
จากความนิยมเลี้ยงแมวมากขึ้น และผู้ผลิตอาหารแมว แข่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ ทำให้ในช่วงปี 2019 – 2021 ตลาดอาหารแมวเติบโตเกือบ 30% โดยสัดส่วนหลักยังมาจากอาหารแมวแบบแห้ง 60% และแบบเปียก 40%
จะเห็นได้ว่าการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง เซ็กเมนต์พรีเมียม สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสินค้าคุณภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเหตุผลหลักมาจาก “Pet Humanization”
หรือที่ Morgan Stanley นิยามการปฏิบัติต่อเลี้ยงสัตว์ไว้ว่า “Petriarchy” เจ้าของไม่ได้มองว่าสัตว์เลี้ยงคือสัตว์เลี้ยง แต่มองว่าเป็นลูก เป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นจึงต้องเลือกสรรอาหารการกินที่มีคุณภาพ ตรงกับสายพันธุ์ และมี Health Benefit เฉพาะเจาะจง