ตลาดสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) การปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล กลายเป็นสนามแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้ง Bank, Non-bank, ค่าย Telco ไปจนถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล ต่าง Diversify มาจับธุรกิจนี้ เพื่อให้บริการ Nano Finance ปล่อยกู้ให้กับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน คนทำงานฟรีแลนซ์ ร้านค้ารายย่อย เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ติดข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อธนาคาร
หัวใจสำคัญของการแข่งขันในตลาดสินเชื่อดิจิทัล ประกอบด้วย
- ความแข็งแกร่งด้านการเงินของผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล
- Data ที่ผู้ให้บริการมีอยู่ในมือ เพื่อใช้ในการนำเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้า และวิเคราะห์ สำหรับอนุมัติเงินกู้
- พลังเครือข่ายทั้งธุรกิจในเครือ และพาร์ทเนอร์
- ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ
- วงเงิน อัตราดอกเบี้ย ความสะดวก – ความง่าย และความเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ
ล่าสุด “กลุ่มแรบบิท” (Rabbit Group) บริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป จับมือกับ “บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)” และ “บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน)” ร่วมกันตั้ง “บริษัท แรบบิท แคช จำกัด” (Rabbit Cash) ทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท รุกตลาดสินเชื่อดิจิทัล ขณะที่ในอนาคตมีแผนเพิ่มทุนอีก 800 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วย
– กลุ่มแรบบิท (Rabbit Group) ภายใต้บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ในเครือของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 77%
– อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) ถือหุ้น 18%
– ฮิวแมนิก้า (Humanica) ถือหุ้น 5%
คนไทยใช้ Mobile Banking สูงสุดในโลก – หนี้ครัวเรือนพุ่ง 14 ล้านล้านบาท – หนี้นอกระบบยังเป็นปัญหาในสังคมไทย
ข้อมูลจาก We Are Social และ Hootsuite ฉายภาพสถิติคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มดิจิทัล
– 69% ของประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
– คนไทยช้อปปิ้งออนไลน์สูงอันดับ 3 ของโลก (83.6%) เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
– คนไทยช้อปปิ้งออนไลน์ในส่วน Grocery มากเป็นอันดับ 1 ของโลก
– คนไทยใช้ Mobile Banking มากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวนบัญชีที่ผูกกับ Mobile Banking มี 76 ล้านบัญชี และมียอดธุรกรรม 14,000 ล้านรายการ เท่ากับว่าคนไทยใช้ Mobile Banking ในการทำธุรกรรมอย่างน้อยเดือนละ 19 ครั้ง
ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทย มีมูลหนี้กว่า 14 ล้านล้านบาท เทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 89% โดยมาทั้งจากหนี้บัตรเครดิต หนี้ค่าอุปโภคบริโภค หนี้จากการทำธุรกรรม และมีหนี้นอกระบบ ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังเผชิญกับปัญหาหนี้นอกระบบ
“แม้รัฐบาลจะออกนโยบายช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงเงินกู้ได้ง่าย แต่ทำไมหนี้นอกระบบยังมีอยู่ นั่นแปลว่ายังมีกระบวนการบางอย่างไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมาย
ในขณะที่วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไป คนจบใหม่อยากมีอาชีพอิสระ อยากขายของออนไลน์ เป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งวิถีชีวิตคนกลุ่มนี้ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มี Bank Statement ทำให้การกู้เงินจากสถาบันการเงินทำได้ค่อนข้างยาก ทำให้เข้าถึง Source of fund ยาก เราเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงพัฒนาโปรดักต์ออกมารองรับคนกลุ่มนี้” คุณรัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เล่าถึงโอกาสตลาดสินเชื่อดิจิทัล
ใช้ Alternative Data ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค – วิเคราะห์การอนุมัติสินเชื่อ
Rabbit Cash (แรบบิท แคช) ถูกออกแบบให้ขั้นตอนการสมัครจนกระทั่งได้รับอนุมัติสินเชื่อนั้นผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่ต้องการความง่าย สะดวก และรวดเร็ว
โดยใช้ Alternative Data หรือข้อมูลทางเลือกที่แสดงถึง Digital Footprint และ Behavioral Footprint ต่างๆ ของผู้บริโภค มาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณารูปแบบสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน
“Rabbit Cash เป็นบริษัทในเครือบีทีเอส มีธุรกิจในกลุ่มมากมาย ทำให้เราสมารถเข้าถึงข้อมูลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการเดินทางบีทีเอส วันหนึ่งเราเห็นพฤติกรรมการเดินทางว่าเดินทางไปไหนบ้าง เราสามารถเอาข้อมูลเหล่านี้มา Predict ถ้าได้รับการยินยอมจากลูกค้า การใช้จ่ายผ่านบัตร Rabbit การแลกคะแนน Rabbit Reward การขนส่ง การซื้อประกัน การกรอกแอปพลิเคชัน รวมถึงข้อมูลที่สำคัญจากพันธมิตรธุรกิจต่างๆ
เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบกัน จะทำให้เราสามารถมองเห็นลูกค้าในมุมที่แตกต่าง และประเมินลูกค้าได้ในหลายมิติ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ากลุ่มที่อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั่วไป สามารถได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก Rabbit Cash ได้ง่ายขึ้น”
ส่งทัพโปรดักต์สินเชื่อ เจาะผู้ประกอบการรายย่อย – มนุษย์เงินเดือน – นักช้อป
Rabbit Cash ร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการออกแบบระบบการให้สินเชื่อดิจิทัลให้ง่ายและสะดวกสำหรับผู้บริโภค มีระบบการยืนยันตัวตนและพิสูจน์ตัวตนผ่านดิจิทัล สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้กู้ได้ทุกธนาคารแบบ Real-time
โดยวางแผนที่จะเปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถสมัครใช้บริการสินเชื่อของ Rabbit Cash ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 หลังจากที่บริษัท Rabbit Cash ได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ในเบื้องต้นจะนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงมนุษย์เงินเดือน และนักช้อป
– สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือ สินเชื่อนาโน
– สินเชื่อสวัสดิการ และสินเชื่อ Pay Day Loan สำหรับบริษัทที่ต้องการมีสวัสดิการด้านสินเชื่อให้กับพนักงาน โดยในส่วนสินเชื่อ Pay Day Loan แนวคิดของสินเชื่อนี้คือ เป็นเงินพนักงานที่ควรจะได้รับตอนสิ้นเดือนจากการทำงานในเดือนนั้นๆ ได้มีโอกาสเอาเงินเดือนนั้นมาล่วงใช้ก่อน เพื่อบริหารจัดการปัญหาของตัวเองในยามฉุกเฉิน
– สินเชื่อผ่อนชำระ Buy Now, Pay Later สามารถนำมาใช้กับทั้งบริษัในเครือ Rabbit เช่น กลุ่มธุรกิจขายประกันของ Rabbit Finance บริษัทอีคอมเมิร์ซในเครือ เพื่อให้ลูกค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือ สามารถซื้อสินค้าแล้วจ่ายทีหลัง หรือผ่อนชำระกับ Rabbit Cash
นอกจากนี้ต่อไปจะทยอยทำตลาดสินเชื่อประเภทอื่นๆ ในไตรมาสถัดไป
“วงเงินสินเชื่อเป็นไปตามกฎหมาย คือ ถ้าลูกค้ามีรายได้มากกว่า 30,000 บาท จะได้รับวงเงิน 5 เท่าของรายได้ และถ้ามีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้ 1.5 เท่าของรายได้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% ต่อเดือน ซึ่งเราสามารถอนุมัติสินเชื่อภายใน 10 นาที และโอนเงินเข้าบัญชีของผู้กู้ได้ทุกธนาคาร”
จับมือ Kerry Express ทดลองทำสินเชื่อพิเศษให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ – ไรเดอร์
ในระยะแรก Rabbit Cash ได้พัฒนาโมเดลการให้สินเชื่อดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับ “บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” ในการทดลองนำเสนอสินเชื่อเพื่อลูกค้าคนพิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับกลุ่มลูกค้าของ Kerry เพื่อเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
โดยจะคัดเลือกจากกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ที่เป็นสมาชิก “Kerry Express Loyalty Club” ที่มีประวัติในการจัดส่งสินค้าพัสดุกับทาง Kerry เป็นประจำ โดยทางบริษัทจะทำการประเมินผลจากข้อมูลที่ได้รับการยินยอมจากลูกค้ากลุ่มแรกนี้ เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาปรับปรุงเงื่อนไขการให้สินเชื่อก่อนจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าของ Kerry ทุกคนสามารถใช้บริการได้ในอนาคต
นอกจากนี้ Rabbit Cash และ Kerry Express ยังมีการวางกลยุทธ์ร่วมกันในการนำเสนอสินเชื่อและบริการอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าของ Rabbit โดยพิจารณาจากข้อมูลทางเลือกที่ลูกค้าของ Kerry อนุญาตให้นำข้อมูลมาใช้ได้ เพื่อทำให้ลูกค้าของ Kerry สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ผ่านทาง Mobile Application ของทั้ง Kerry Express และ Rabbit Cash
“Kerry Express มีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน ลูกค้าจำนวนมากเป็นผู้ขายสินค้าทางออนไลน์ รวมทั้งไรเดอร์ของ Kerry เรามองว่าลูกค้ากลุ่มนี้ในบางส่วนอาจมีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือการจัดการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว
ดังนั้นการจับมือกับ Rabbit Cash แรบบิท ถือเป็นการสร้างโอกาสที่ดี และต่อยอดการบริการ ด้วยขั้นตอนการขอสินเชื่อที่ง่าย ไม่ต้องส่งเอกสารยุ่งยาก
การขอสินเชื่อนั้นสามารถทำได้โดยพิจารณาจากข้อมูลการใช้บริการกับ Kerry ภายใต้ความยินยอมของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของการส่งพัสดุ มูลค่าการส่งพัสดุ ค่าบริการ รูปแบบการเรียกเก็บเงินจากผู้รับสินค้า ระยะเวลาการใช้บริการกับ Kerry หรือประเภทของสมาชิก Kerry Express Loyalty Club
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ Rabbit Cash ทำความเข้าใจกับลูกค้าได้มากขึ้น และนำไปใช้ในการพิจารณาวงเงินสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม ซึ่งแผนการตลาดที่วางร่วมกับทาง Rabbit Cash จะนำเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มของเราในอนาคตอันใกล้นี้” คุณวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความร่วมมือ
ผนึกกำลัง “Humanica” ส่งสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน รุกตลาดองค์กร
นอกจากร่วมมือกับ Kerry Express แล้ว ยังได้ผนึกกำลังกับ “Humanica” (ฮิวแมนิก้า) เตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อสวัสดิการพนักงานโดยความสมัครใจ (Welfare Loan) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วๆ ไป ให้กับพนักงานของบริษัทที่ใช้บริการ HR Solutions ของกลุ่ม Humanica เฉพาะในกรณีที่บริษัทเหล่านั้นต้องการพิจารณาให้สินเชื่อสวัสดิการนี้เป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่บริษัทมอบให้กับพนักงานของตนนอกเหนือจากสวัสดิการอื่นๆ ของนายจ้างเท่านั้น
โดยข้อมูลของพนักงานแต่ละคนที่จะนำมาใช้ได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการยินยอมจากพนักงานคนนั้นๆ อย่างเคร่งครัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันได้เริ่มทดลองการให้สินเชื่อกับพนักงานของ Humanica และพนักงานในเครือของบีทีเอสกรุ๊ปก่อนเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“สินเชื่อสวัสดิการ หรือ Welfare Loan ถือเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่นายจ้างสามารถมอบให้ลูกจ้างนอกเหนือจากสวัสดิการด้านสุขภาพ หรือการดูแลความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ของพนักงานได้ ตอบโจทย์คนที่ต้องการสภาพคล่องทางการเงิน แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องขอความยินยอมจากบริษัทที่ต้องการเข้าร่วมโปรแกรมสินเชื่อสวัสดิการกับเรา รวมถึงพนักงานของบริษัทก่อนที่จะมีการใช้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้กับพนักงานได้” คุณสุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสินเชื่อสวัสดิการพนักงาน
ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 3,000 ล้านในปี 2565 และ 5,000 ล้านในปี 2566
ทางด้าน คุณคาซึมาซะ โอชิมา กรรมการบริหารและประธานฝ่ายการเงิน บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์
(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อิออนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Rabbit Group มาตั้งแต่ปี 2558 ล่าสุดเรามองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ผ่านการให้บริการสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัล จึงร่วมลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท แรบบิท แคช เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
โดยเรานำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในฐานะผู้นำในการให้บริการสินเชื่อรายย่อยในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียเพื่อสนับสนุนการเติบโต รวมถึงการให้แหล่งเงินทุนในต้นทุนที่ต่ำด้วยความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่ม AEON Financial Service ประเทศญี่ปุ่น และให้บริการด้านการดำเนินงานบางส่วนให้กับแรบบิท แคช
“Rabbit Cash ตั้งเป้าในการให้บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลแก่บุคคลทั่วไปภายในไตรมาสแรกของปีหน้า โดยคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านบาทในปีแรก และคาดว่าในปี 2566 จะปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือ และสร้างโอกาสให้กับธุรกิจรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ที่ขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน รวมถึงผู้ที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ในการสมัครขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั่วไป” คุณรัชนี สรุปทิ้งท้าย