“โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ” เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ภายในโรงพยาบาลมีเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวน 450 เตียง และมีห้องฉุกเฉิน รวมทั้ง Oxygen High flow Pipeline จำนวนมากถึง 76 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นสีเหลือง-แดง และตลอดระยะเวลา 90 วัน ในการดำเนินการ โรงพยาบาลสนามได้ใช้เตียงรักษาผู้ป่วย (Patientday) ทั้งสิ้น 10,595 เตียง โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดีและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ จะรื้อถอนโครงสร้างและคืนพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจอย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ ภายใต้โรงพยาบาลสนามแห่งใจยังมีโครงการ “ศูนย์รวมปันสุข” ที่ช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ตามปกติ มาดูแลในเรื่องการจัดทำอาหารให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม และชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมีร้านอาหารรายย่อยมาร่วมลงทะเบียนกับโครงการศูนย์รวมปันสุขไว้ 2,000 ร้านค้า แต่ด้วยเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นร้านอาหารบางส่วนจึงสละสิทธิ์ จึงมีร้านอาหารรายย่อยร่วมโครงการ 1,116 ร้าน ในการจัดทำอาหารเพื่อส่งมอบให้กับชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนทั้งสิ้น 409,020 กล่อง ในระยะเวลา 112 วัน
ตลอดระยะเวลาการเปิดดำเนินการโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ ได้รับการสนับสนุนทีมแพทย์ พยาบาล บุคคลากรการแพทย์จากโรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก, โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ และโรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์นับร้อยชีวิต รวมถึงทีมจิตอาสาพันธมิตรอีกกว่า 50 คน
ระยะหลังเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้น ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ยังได้ออกตรวจเชิงรุกเพื่อให้การดูแลรักษาและแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เขตบางนา สวนหลวง พระโขนง วัฒนา และยังได้ขยายไปยังพื้นที่อำเภอบางพลี บางบ่อ บางเสาธง และอำเภอเมืองสมุทรปราการ ตามลำดับ
นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ กล่าวว่า ภารกิจตลอดในช่วง 3 เดือน นับว่าเป็นความท้าทายในการดูแลรักษา แต่ที่สุดแล้วก็ดำเนินการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งภายหลังการปิดโรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยที่เหลือราว 30 คนจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ต่อไป ทั้งนี้แม้โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจจะยุติลงไป แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินอยู่ จึงแนะนำให้ทุกคนยังคงปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด
นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ตัวแทนกลุ่มองค์กรผู้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ” กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นการพิสูจน์ได้อย่างดีอีกครั้งว่าเมื่อยามวิกฤติ คนไทยก็จะจับมือกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรวมถึงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทำให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติไปได้ ถึงแม้ว่าภารกิจของโรงพยาบาลสนามจะสิ้นสุดลง แต่เราก็ยังคงมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสังคมในด้านอื่นๆ ต่อไป
โรงพยาบาล “สนามแสงแห่งใจ” เกิดขึ้นจากแนวคิดจุดประกายความหวังให้ประเทศไทย เพื่อก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยเป็นความร่วมมือของโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ และพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง 7 องค์กร ประกอบด้วย MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา และยังมีพันธมิตรอื่นที่ได้มอบทั้งทุน สิ่งของ และอาหาร ตลอดระยะเวลาการเปิดทำการของโรงพยาบาล